จีนเชิญนานาประเทศร่วมพัฒนา “เส้นทางมุ่งลงใต้” จีน-สิงคโปร์

11 May 2018

      นานาประเทศกำลังจับตามองและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากแผนยุทธศาสตร์ “เส้นทางมุ่งลงใต้” จีน-สิงคโปร์ แผนงานพัฒนาระบบงานขนส่งโลจิสติกส์แบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ที่กำลังทวีบทบาทความสำคัญในภูมิภาค ทำให้การขนส่งสินค้าข้ามทวีปง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

      เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 นครหนานหนิงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2018 Belt and Road Logistics Forum on CCI-Southern Transport Corridor (2018 一带一路中新互联互通南向通道物流高峰论坛) โดยมีผู้ประกอบการ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 300 คน จาก 15 ประเทศ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก และประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อหารือถึงแนวทางในการผลักดันการพัฒนา “เส้นทางมุ่งลงใต้” จีน-สิงคโปร์

      นายจาง เหว่ย (Zhang Wei/张伟) รองประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน หรือ CCPIT (中国国际贸易促进委员会) กล่าวในที่ประชุมฯ ว่า หลายปีที่ผ่านมา จีนและสิงคโปร์มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าที่ดีต่อกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของจีนเช่นกัน

      ดังนั้น การที่สองฝ่ายร่วมกันผลักดัน “เส้นทางมุ่งลงใต้” จะช่วยเกื้อกูลการขยายตลาดร่วมกัน ยกระดับการพัฒนาเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และขยายความร่วมมือด้านโลจิสติกส์สมัยใหม่ในภูมิภาค

      การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของ “เส้นทางมุ่งลงใต้” ใช้โมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งปัญหาด้านศุลกากร การควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค กฎหมาย มาตรการกีดกันทางการค้า ตลอดจนปัญหาทางภาษาที่ต้องเกิดขึ้นระหว่างการทำงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้" นายจางฯ กล่าว

      ฝ่ายจีนพร้อมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจจีนพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศในการ (1) สร้างแพลทฟอร์มโลจิสติกส์ เช่น แพลทฟอร์มการบริการข้อมูลสาธารณะ แพลทฟอร์มการค้าและบูรณาการทรัพยากร และแพลทฟอร์ม e-Commerce ระหว่างประเทศ และ (2) ผลักดันการบูรณาการแพลทฟอร์มดังกล่าวในลักษณะการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ อุปกรณ์เครื่องมือ และข้อมูลสถิติ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานโลจิสติกส์ รวมทั้งลดต้นทุนโลจิสติกส์

      ปัจจุบัน “กว่างซี” ในฐานะ “ข้อต่อ” ที่สำคัญของยุทธศาสตร์ “เส้นทางมุ่งลงใต้” กำลังเร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง

      นายหวง เหว่ยจิง (Huang Weijing/黄伟京) รองประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่ารองผู้ว่าการมณฑล) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน กว่างซีมีบริการรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้-นครฉงชิ่งสัปดาห์ละ 3 เที่ยว / เรือระหว่างท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้-ฮ่องกง สัปดาห์ละ 5 เที่ยว / เรือระหว่างท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้-สิงคโปร์ สัปดาห์ละ 3 เที่ยว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการทดลองให้บริการรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้-นครหลานโจว มณฑลกานซู่ และนครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว โดยมีแผนงานที่กว่างซีพร้อมดำเนินการเพื่อส่งเสริมและรองรับการพัฒนา “เส้นทางมุ่งลงใต้” จนถึงสิ้นปี 2563 ได้แก่

  •   พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนว “เส้นทางมุ่งลงใต้” ให้สมบูรณ์ ทั้งรถไฟ ถนน ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม
  •   พัฒนาระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยมี “การขนส่งทางเรือ+รถไฟ” เป็นโมเดลหลัก ร่วมกับการขนส่งทางถนน+ท่าเรือ การขนส่งทางบกระหว่างประเทศ การขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศ
  •   พัฒนาพื้นที่นิคมโลจิสติกส์ เช่น นิคมเพื่อการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ นิคมโลจิสติกส์แบบครบวงจรในนครหนานหนิง และนิคมโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง
  •   พัฒนา “ท่าเรือบก” (inland port) อย่างน้อย 10 แห่งในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศ และประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI)

      คาดหมายว่า ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้จะเพิ่มสูงถึง 5 ล้าน TEUs และท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้จะก้าวขึ้นเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งตู้สินค้า และเป็นชุมทางของเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค รวมทั้งก่อร่างเป็นโครงข่ายโลจิสติกส์นานาชาติเชื่อมพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนกับประเทศในเอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก ยุโรป อาเซียน และเอเชียใต้  

      ในส่วนของสิงคโปร์ นายจาง ซงเซิง (Zhang Songsheng/张松声) ประธานสหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ เผยว่า ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท Pacific International Lines (PIL) ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือชั้นนำของสิงคโปร์ได้ร่วมทุนกับกว่างซีในการจัดตั้งบริษัท Beibu Gulf-PSA International Container Terminal Co., Ltd (广西北部湾国际集装箱码头有限公司) ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ โกดังสินค้า และการขนส่ง/ขนถ่ายสินค้า

      นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท PIL ยังร่วมมือกับกว่างซีและนครฉงชิ่งในการจัดตั้งบริษัท CCISTC (Chongqing) Logistics Development Co., Ltd (中新互联互通(重庆)物流发展有限公司) และวางแผนใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านหยวนก่อสร้าง “นิคมโลจิสติกส์นานาชาติจีน (นครหนานหนิง) – สิงคโปร์” (中新南宁国际物流园) ที่นครหนานหนิง

      ภายในปีนี้ กลุ่มบริษัท PIL ยังวางแผนจะขยายเส้นทางเดินเรือจากท่าเรือชินโจว (กว่างซี) – สิงคโปร์ ขยายต่อไปยังท่าเรือกวนตัน (มาเลเซีย) และท่าเรือในประเทศไทย รวมถึงเพิ่มเส้นทางเดินเรือเส้นใหม่จากท่าเรือชินโจว-สิงคโปร์ โดยแวะผ่านท่าเรือในเวียดนามด้วย

      นายเหมียว เทียนเหย่ (Miao Tianye/苗天冶) CEO บริษัท YMM (江苏运满软件科技有限公司) ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มจ่ายงานด้านการขนส่งสินค้าผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ Big Data อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากมณฑลเจียงซู เผยว่า ระยะ 5 ปีจากนี้ บริษัทฯ จะจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศ 8-10 แห่ง โดยตลาดเป้าหมายหลักอยู่ที่อาเซียน

      นายเหมียวฯ CEO บริษัท YMM เห็นว่า “เส้นทางมุ่งลงใต้” ได้นำโอกาสทางธุรกิจมาสู่ตลาดธุรกิจโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ปัจจุบัน ทางบริษัทฯ ได้พัฒนาแพลทฟอร์มที่มีชื่อว่า "运满满" (YunManMan/อวิ้น หมาน หม่าน) ในการจ่ายงานด้านการขนส่งสินค้าเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดขนส่งและโลจิสติกส์ในอาเซียน และกำลังจะพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถรองรับภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างแพลทฟอร์มการทำงานระบบอัจฉริยะ

 

จัดทำโดย นางสาวภาสิริ เอี่ยมศิริ นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยกว่างซี

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา เว็บไซต์
www.gxnews.com (广西新闻网) ประจำวันที่ 28 เมษายน 2561

ภาพประกอบ
http://www.gtrcn.com/detail.asp?id=4920

เส้นทางมุ่งลงใต้CCI-Southern Transport Corridor

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน