กว่างซีเร่งกระชับความร่วมมือด้านท่าเรือกับประเทศอาเซียน

5 Sep 2017

ปัจจุบัน เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีกำลังเร่งผลักดันความเชื่อมโยง (connectivity) กับชาติสมาชิกอาเซียน โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวดังกล่าว คือ การพัฒนาความร่วมมือด้านเส้นทางเดินเรือและการก่อสร้างท่าเรือในอาเซียน

ก่อนหน้านี้ กว่างซีโดยบริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group (广西北部湾国际港务集团)ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท PSA International Pte., Ltd(新加坡港务集团) และบริษัท Pacific International Lines : PIL (太平船务有限公司)จากประเทศสิงคโปร์เพื่อการก่อสร้างและบริหารจัดการท่าเทียบเรือหมายเลข3-6 และโครงการที่เกี่ยวข้องในท่าเรือชินโจว

นอกจากนี้ บริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group ได้ก้าวออกไปร่วมลงทุนเพื่อการก่อสร้างและบริหารจัดการท่าเรือ 2 แห่งในอาเซียน ได้แก่ ท่าเรือกวนตันในประเทศมาเลเซีย และท่าเรือ Muaraของบรูไนอีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสื่อมวลชนที่มีต่อสภาพการณ์ทั่วไปและสภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของจีน โดยการนำคณะสื่อมวลชนที่ทรงอิทธิพลในกัมพูชารวม 9 สำนัก เดินทางมาจัดทำสกู๊ปพิเศษในประเทศจีน รวมถึงเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี

นายหลาน หย่งซิ่น (Lan Yongxin,蓝永信)รองอธิบดีสำนักงานเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้และความร่วมมือกับอาเซียน[*] ให้ข้อมูลกับคณะผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบัน กว่างซีเปิดเส้นทางเดินเรือจากอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) สู่ท่าเรือในอาเซียนแล้ว 11 เส้นทาง สนามบินนานาชาติของนครหนานหนิงมีเส้นทางบินDirect flight ครอบคลุมทั่วอาเซียนแล้ว และกำลังผลักดันการพัฒนาท่าข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor,中国-东盟信息港)

เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีเป็น "ข้อต่อ" สำคัญของนโยบาย One Belt One Road โดยล่าสุด การผลักดันเส้นทางโลจิสติกส์ "อวี๋กุ้ยซิน" (渝桂新) เป็นเส้นทางขนส่งร่วม (Multimodal Transport) เส้นทางใหม่ที่เริ่มต้นจากมหานครฉงชิ่งออกสู่ทะเลที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว) เพื่อต่อเรือบรรทุกสินค้าไปยังประเทศสิงคโปร์และชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ

อีกทั้ง เขตเศรษฐกิจฯ ยังมีเส้นทางบกที่สามารถเชื่อมกับประเทศที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ผ่านกัมพูชาลงไปถึงสิงคโปร์ได้อีกด้วย

เมื่อปี 2557 ท่าเรือชินโจวและท่าเรือสีหนุวิลล์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ท่าเรือพี่น้อง (sister port) นับเป็นการกรุยทางเพื่อการพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านการเดินเรือระหว่างกว่างซีกับกัมพูชา โดยเขตเศรษฐกิจฯ คาดหวังที่จะส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือด้านการท่าเรือและเส้นทางเดินเรือระหว่างสองฝ่าย รวมถึงความร่วมมือด้านข้อมูลสารสนเทศ เพื่อสร้างสะพานเชื่อมโยงด้านสารสนเทศระหว่างกัน โดยเริ่มต้นจากวงการสื่อมวลชนของคณะที่เดินทางมากว่างซีในครั้งนี้

นาย Oukkimseng รองเลขานุการกระทรวงสารสนเทศกัมพูชา กล่าวว่า คณะสื่อมวลชนจะนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่กับหน่วยงานต่างๆ ของกัมพูชา และหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะร่วมมือกับสำนักงานเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้และความร่วมมือกับอาเซียน เพื่อการผลักดันความร่วมมือด้านการท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมกับประเทศจีน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ท่าเรือชินโจวของกว่างซีและท่าเรือแหลมฉบังกำลังอยู่ระหว่างการหารือเรื่องการสถาปนาความสัมพันธ์ท่าเรือพี่น้อง รวมถึงแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านการท่าเทียบเรือและเส้นทางเดินเรือระหว่างสองฝ่าย

ปัจจุบันเส้นทางการขนส่งทางทะเลระหว่างท่าเรือชินโจว-ประเทศไทยมีเที่ยวเรือตรง(Direct line)เพียง 1 เที่ยวต่อสัปดาห์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณสินค้าที่ยังมีจำนวนไม่มากเพียงพอ และความไม่สมดุลระหว่างการนำเข้ากับการส่งออก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย

โดยมีสายเรือ SITC (上海新海丰集运) เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในเส้นทาง Qinzhou-Haiphong-Shekou(Shenzhen)-Xiamen-Incheon-Pyeongtaek(South Korea)- Taesan(South Korea)-Qingdao-Shanghai-Xiamen-Hongkong-Danang-Hochiminh-Laemchabang-Jakarta-Laemchabang-Hochiminh-Qinzhou เป็นเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 1,032 TEUs โดยปิดรับสินค้าวันจันทร์ และเรือออกวันอังคารของทุกสัปดาห์

อย่างไรก็ดี คาดหมายว่า ปริมาณการค้าระหว่างกว่างซีกับประเทศไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และจากการที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้นำภาคธุรกิจกว่างซีเยือนประเทศไทยตามงบทีมประเทศไทยเพื่อดูงานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมทุนพัฒนาท่าเรือในแหลมฉบังกับบริษัทหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากมีผลเป็นรูปธรรมจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของภาคธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ ตลอดจนกิจกรรมการขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างสองฝั่งให้มีความถี่มากยิ่งขึ้นต่อไป

 

คำอธิบาย

[*]สำนักงานเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้และความร่วมมือกับอาเซียน (Beibu Gulf Economic Zone & Cooperation with ASEAN office of Guangxi,广西北部湾经济区和东盟开放合作办公室)เป็นหน่วยงานระดับกรมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการด้านการวางแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้และความร่วมมือเปิดสู่ภายนอกของเขตฯ กว่างซีจ้วงกับอาเซียน โดยมีรองประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่ารองผู้ว่าการมณฑล) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานฯ

 

ลิงค์ข่าว

กว่างซีตั้งเป้า ฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาค (18 .. 2560)

กว่างซีร่ายแผนขนส่งร่วม รถไฟ+เรือเชื่อม One Belt One Road (11 .. 2560)

กว่างซีชี้ ‘1 ระเบียง 2 ท่าตัวหนุนยุทธศาสตร์ One Belt One Road (6 มิ.. 2560)

มิติใหม่แห่งระบบขนส่ง ฉงชิ่งกว่างซีสิงคโปร์ (18 .. 2560)

จีนกว่างซีอาเซียนท่าเรือการท่า

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน