เตรียมปักธง

4 Jul 2023

การจัดตั้งธุรกิจ
เตรียมปักธง

โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายใหญ่หรือรายย่อย การมาเริ่มทำธุรกิจในจีน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาและเตรียมความพร้อมที่แตกต่างกัน สรุปได้ดังนี้

การมาลงทุนในจีน (อุตสาหกรรมและภาคบริการ)

ในอดีต นักธุรกิจต่างประเทศมาลงทุนในจีนเพื่ออาศัย “แรงงานจีนราคาถูก” ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายยังตลาดของประเทศที่สาม แต่ปัจจุบัน จีนได้ก้าวข้ามยุคค่าแรงถูกของถูกไปแล้ว

การมาลงทุนในจีนในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อขายหรือให้บริการในตลาดจีนเท่าๆ กับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงหรือที่จีนมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ผลิตมาก่อน

ปัจจุบัน จีนให้ความสำคัญกับ

  • การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรใหม่ที่มีศักยภาพ (บริการ พลังงาน ขนส่ง รถยนต์ โทรคมนาคม สารสนเทศ การต่อเรือ ฯลฯ)
  • การส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • การปรับโครงสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้ทันสมัย มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค)
  • การพัฒนาชนบทให้เป็นเมือง (urbanization) ให้พื้นที่ต่างๆ ของจีนมีระดับการพัฒนาที่ทัดเทียมกันมากขึ้น

จีนกำลังตื่นตัวเป็นอย่างมากกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเสื่อมโทรมในหลายพื้นที่ ดังนั้น ปัจจุบัน ทางการจีนจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อกำจัดอุตสาหกรรมที่ล้าหลัง สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และก่อมลพิษ รวมถึงการแปรรูปสินแร่บางชนิด ในการนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในจีน  

นอกจากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการมาลงทุนในจีน คือ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตที่อยู่อาศัยหรือเขตการค้าหรือในเขตที่กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นเขตที่อยู่อาศัยหรือเขตการค้าในอนาคตอันใกล้ (อันจะนำมาซึ่งการถูกเวนคืนที่ดินที่ใช้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม) และการมาลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน

ในปัจจุบัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยกับจีน มีส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกันในสัดส่วนที่สูง จึงมีพื้นที่ที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันอีกมาก โดยเฉพาะในด้านพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการแปรรูปอาหาร

เพื่อเร่งรัดให้พื้นที่ในภาคตะวันตกของจีนมีระดับการพัฒนาที่ทัดเทียมกับภาคตะวันออก ที่เปิดสู่ภายนอกมาก่อน ทางการจีนมีนโยบายพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะหากเป็นการลงทุนในประเภทอุตสาหกรรมที่อยู่ในบัญชี “The Catalogue of Priority Industries for Foreign Investment in Central and Western Regions” (中西部地区外商投资优势产业目录)

กล่าวโดยสรุป ภายใต้นโยบายการลงทุนโดยคนต่างชาติ (Foreign Investment Industrial Guidance Catalog 2011 (外商投资产业指导目录) จีนแบ่งประเภทอุตสาหกรรมออกเป็น 4 บัญชี ได้แก่ บัญชีอนุญาต (ธุรกิจที่อนุญาตให้คนต่างชาติประกอบกิจการได้) บัญชี ส่งเสริม(ธุรกิจที่ได้รับมาตรการจูงใจให้ประกอบกิจการ) บัญชีจำกัดการลงทุน (ธุรกิจที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติ แต่ยังสามารถลงทุนได้) และบัญชีห้าม (ธุรกิจที่ไม่เปิดให้คนต่างชาติประกอบกิจการ) โดย 3 บัญชีแรก เป็นประเภทอุตสาหกรรมที่คนต่างชาติสามารถมาลงทุนได้

จีนเป็นประเทศกว้างใหญ่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีลักษณะเด่นที่เหมาะสมกับสาขาการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป อาทิ มหานครใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้ กว่างโจวและปักกิ่ง ซึ่งประชาชนมีกำลังซื้อมาก เหมาะสมกับการลงทุนในภาคบริการ (เช่น ร้านอาหารและโรงแรม) มากกว่ามณฑลที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ ขณะที่มณฑลที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ มักจะมีค่าแรงที่ต่ำกว่าเมืองใหญ่ๆ จึงเหมาะสมกับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตมากกว่า ในการนี้ การเลือกพื้นที่ลงทุนในจีนให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงลำดับต้นๆ (ดูรายละเอียด ข้อมูลจีนรายมณฑล)

เมื่อตัดสินใจจะมาลงทุนในจีนแล้ว ประเด็นต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือ การหารูปแบบการจัดตั้งธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ (ดูรายละเอียด รูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ) ดังนี้

  • สำนักงานตัวแทน (Representative Office) หรือสำนักงานสาขาของบริษัทต่างชาติ มีสถานะเป็นสาขาของบริษัทต่างชาติในต่างประเทศ จะไม่ได้รับสิทธิและความคุ้มครองจากกฎหมายจีน สามารถดำเนินการสำรวจและวิจัยตลาด หาหุ้นส่วนและช่องทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมต่างๆ ของสำนักงานตัวแทนจะอยู่ภายใต้บริษัทแม่ในต่างประเทศ
  • บริษัทต่างชาติ (Wholly Foreign Owned Enterprise) เป็นบริษัทจำกัดที่เป็นทุนต่างชาติ 100% สามารถประกอบธุรกรรมทางกฎหมายได้เอง รวมถึงการจ้างลูกจ้างท้องถิ่นได้เอง อย่างไรก็ตาม ทางการจีนจะเป็นผู้กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำตามลักษณะของธุรกิจที่ประกอบการ
  • บริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เป็นรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจร่วมกันระหว่างธุรกิจทุนต่างชาติกับธุรกิจทุนจีน โดยจดทะเบียนในรูป “บริษัทจำกัดความรับผิด” และมีฐานะเป็นนิติบุคคล แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
    • ธุรกิจร่วมทุนจีน-ต่างชาติ (Equity Joint Venture) เป็นรูปแบบธุรกิจที่ผู้ร่วมทุนชาวต่างชาติจะต้องลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน
      โดยผลกำไร ความเสี่ยงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ คู่สัญญาทั้งสองต่างต้องรับผิดตามสัดส่วนเงินลงทุนที่จดทะเบียนไว้ โดยเงินปันผลที่ได้รับสามารถโอนออกนอกประเทศได้
    • ธุรกิจร่วมประกอบการจีน-ต่างชาติ (Cooperative Joint Venture) เป็นการตกลงประกอบกิจการร่วมกันของนักลงทุนจีนและต่างชาติในรูปของ “สัญญาร่วมประกอบการ”
      โดยเงื่อนไขการลงทุน การร่วมประกอบการ การแบ่งผลประโยชน์ ความเสี่ยง ความรับผิดชอบ รูปแบบการจัดกิจการ และการจัดการทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดกิจการจะถูกกำหนดไว้ในสัญญาร่วมประกอบการโดยความตกลงของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้ถูกแบ่งตามสัดส่วนเงินลงทุนที่จดทะเบียนไว้

การนำสินค้าไทย (หรือจากประเทศที่สาม) มาขายในจีน

การค้าขายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการทำธุรกิจกับจีนและเป็นที่นิยมของธุรกิจต่างชาติ เนื่องจากธุรกิจไม่ต้องลงแรงมากดังเช่นการลงทุนตั้งโรงงานหรือสำนักงานในจีน และได้ผลเร็ว โดยเฉพาะหากสามารถทำตลาดและจับกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม

ณ วันนี้ จีนมีชนชั้นกลางที่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย (และนิยมของ “แปลกใหม่” รวมถึงของจากต่างประเทศ) มากกว่า 300 ล้านคน และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามนโยบาย urbanization ขณะเดียวกัน ก็มีเครือข่ายผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการค้ากว่า 240 ล้านคน โดยเฉพาะผ่านเว็บไซต์ Taobao ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรหาทางใช้ประโยชน์ทางการค้าจากช่องทางนี้

จากการที่ละครและภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้มาฉายในโทรทัศน์ของจีนในรอบหลายปีที่ผ่านมา กอปรกับในแต่ละปี มีชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวและศึกษาในไทยนับล้านคน ปัจจุบัน จึงมีกระแส “ความนิยมไทย” ในจีนเป็นอย่างมาก และกำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ซึ่งกระแสความนิยมไทยในจีนนี้ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งไทยสามารถนำมาต่อยอดให้กับการค้าสินค้าและบริการของไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ของที่ระลึก สปา ของแต่งบ้าน วัตถุมงคล ฯลฯ

จีนกับไทยมีข้อตกลงลดภาษีศุลกากร (Customs) ภายใต้กรอบ “เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน” ซึ่งเริ่มมีผลอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2553 ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ปัจจุบัน กว่าร้อยละ 90 ของสินค้าที่ไทยและจีนค้าขายกันอยู่ ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีศุลกากร หากผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกขอใช้สิทธิ์นั้นตามขั้นตอน (“Form E”) ทั้งนี้ สำหรับท่านที่จะส่งออกสินค้ามายังจีน แม้จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีศุลกากร แต่ตามระบบของจีน สินค้าเกือบทุกชนิด รวมทั้งสินค้าเกษตร จะต้องชำระภาษีอีกร้อยละ 13 (สำหรับสินค้าไม่แปรรูป) และร้อยละ 17 (สำหรับสินค้าที่แปรรูปแล้ว) ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องจ่าย ณ ด่านที่นำเข้า

กล่าวโดยสรุป จีนแบ่งสินค้านำเข้าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • สินค้าที่อนุญาตให้นำเข้าได้โดยเสรี (Free Imports)
    ซึ่งผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าในประเภทนี้มาขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากทางการจีน (แต่ต้องปฎิบัติตามขั้นตอนการนำเข้าต่างๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบของจีน) โดยกว่าร้อยละ 90 ของสินค้าที่ค้าขายกันอยู่ในจีน เป็นสินค้าประเภท free imports นี้
  • สินค้าที่จำกัดการนำเข้า (Restricted Imports)
    หมายถึง สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากทางการจีนก่อนการนำเข้า เมื่อได้รับอนุญาต ซึ่งอาจอยู่ในรูป “ใบอนุญาตนำเข้า” (Import License) “โควต้านำเข้า” และ “มาตรการโควต้าภาษี” (Tariff Rate Quota) แล้ว จึงจะสามารถนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวได้ ซึ่งโดยมากเป็นสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น ข้าว ยางพารา ปุ๋ยเคมี น้ำตาล เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยประสงค์จะจำหน่ายสินค้าให้แก่คู่ค้า/หุ้นส่วนฝ่ายจีน (เพื่อให้ไปทำตลาดต่อ) ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบมากจากการเข้าร่วมกิจกรรม “จับคู่ธุรกิจ” (Business Matching) ก่อนการเซ็นสัญญาซื้อขายต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคู่ค้า/หุ้นส่วนฝ่ายจีนมีใบอนุญาตนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าว
  • สินค้าห้ามนำเข้า (Prohibited Imports)
    หมายถึง สินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม ที่ทางการจีนห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด เช่น ยาบางประเภท (Illicit Drugs) อาวุธ และวัตถุระเบิด เป็นต้น

หากประสงค์จะส่งสินค้ามาขายในจีน ต้องทำความรู้จักกับ “ผู้มีสิทธิ์นำเข้า” ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  • รัฐวิสาหกิจจีน (State-owned Company)
    ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้เป็นผู้มี “สิทธิ” นำเข้าสินค้าจำกัดการนำเข้าบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอุตสาหกรรมที่มีโควต้าการนำเข้า เช่น ข้าว ยางพารา สินแร่บางชนิด โดยรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มักมีใบอนุญาตหรือโควต้านำเข้าสินค้าชนิดนั้นๆ อยู่แล้ว
  • บริษัทเอกชน (Private Company)
    โดยภายใต้กฎหมายการค้าระหว่างประเทศของจีน บุคคล องค์กรหรือนิติบุคคลจีน หากประสงค์จะประกอบการค้าระหว่างประเทศ สามารถขอจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าจากสำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้ ซึ่งโดยทั่วไป แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่
    • การเป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศในฐานะบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (Trading Company) เพื่อมาจำหน่ายในจีน (ซึ่งสามารถนำเข้าได้ทั้งสินค้าประเภท Free Imports และ Restricted Imports) ทั้งนี้ Trading Company สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัททุนจีนร้อยละ 100 หรือบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนกับต่างชาติ หรือเป็นบริษัททุนต่างชาติร้อยละ 100 ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจีนก็ได้
    • การนำเข้าในฐานะบริษัทผู้ผลิต เพื่อนำมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตในการผลิตและแปรรูป (ไม่ว่าจะเพื่อส่งออกหรือไม่ก็ตาม) ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ บริษัทผู้ผลิตที่จะนำเข้าจะเป็นผู้ดำเนินการเองในเรื่องการขออนุญาตนำเข้า รวมถึงการขอใบอนุญาตและโควต้านำเข้า (ในสินค้าที่จำกัดการนำเข้า)

“โครงสร้างการค้าของจีน” เป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการวางแผนที่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจของตนเองในการนำสินค้าเข้าขายในจีน เนื่องจากในสินค้าหลายประเภท (เช่น ผลไม้และสินค้าเกษตรบางชนิด) มีโครงสร้างการค้าที่ค่อนข้างผูกขาดโดยผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ที่ตั้งอยู่ตามเมืองท่านำเข้าสำคัญๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากสามารถจับคู่ธุรกิจกับผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ของจีนได้ โอกาสในการนำสินค้าไทยของตนเองเข้าไปปักธงในจีนได้ ก็มีมากขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ดี การจับคู่ธุรกิจกับผู้กระจายสินค้ารายใหญ่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น การที่ฝ่ายไทยเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพในการผลิตที่ยังไม่เป็นที่รับได้ และการที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแบ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจกันได้อย่างลงตัว

การนำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน สามารถทำได้หลายรูปแบบและวิธีการ ซึ่งมีความยากง่ายและโอกาสในการประสบผลสำเร็จที่แตกต่างกันไป อาทิ

  • การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดโดยทางการจีน
    ซึ่งในแต่ละปี มีอยู่หลายงานกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน โดยแต่ละงานจะมีขนาด (scale) วัตถุประสงค์ในการจัดงาน และกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ หากต้องการนำสินค้าเข้ามาขายแบบมีผลในระยะยาว ควรเลือกมาเข้าร่วมงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “จับคู่ธุรกิจ” มากกว่างานที่มุ่งเน้นการขายปลีก
  • การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่จัดโดยฝ่ายไทย
    ซึ่งจัดขึ้นตามโอกาสและตามคำร้องขอจากฝ่ายต่างๆ อาทิ งานเทศกาลไทย (ซึ่งโดยมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นความนิยมไทยในพื้นที่และการออกร้านขายปลีก) และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่หอการค้าจังหวัดต่างๆ ประสานงานขอให้หน่วยงานภาครัฐของไทยในพื้นที่จัดขึ้น ซึ่งวางแผนงานที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ การได้รับข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วน และมีเวลาเตรียมการที่เพียงพอเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจมีผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย
  • การเข้ามาทำตลาด/หาคู่ค้าด้วยตนเอง
    ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของจีน มีจุดเด่นและความท้าทายในการมาทำตลาดที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ การเลือกมาทำตลาดในมหานครใหญ่ๆ (เช่น กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เทียนจิน) มีข้อดีคือ ประชาชนมีกำลังซื้อสูง ทว่าก็มีคู่แข่งมากและต้นทุนสูงตามไปด้วย ขณะที่การเลือกทำตลาดในหัวเมืองชั้นรองๆ ลงมา มีข้อดีคือ คู่แข่งน้อยกว่า และรัฐบาลท้องถิ่นอาจมีนโยบายที่ดึงดูดมากกว่า แต่มีข้อด้อยคือ กำลังซื้ออาจไม่สูงมาก คู่ค้าท้องถิ่นยังไม่สันทัดการทำการค้ากับต่างประเทศ และสินค้าต่างประเทศอาจยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ทั้งนี้ การเลือกคู่ค้าที่มีความนาเชื่อถือและมีศักยภาพที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรให้ความคำนึงถึง

การนำสินค้าจีนไปขายในไทยหรือประเทศที่สาม

โดยที่จีนใช้ “การผลิตเพื่อส่งออก” เป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศมากว่า 30 ปี ดังนั้น ปัจจุบัน ควบคู่กับการเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ จีนจึงเป็นฐานการผลิตและแหล่งส่งออกส่วนประกอบ และสินค้าสำเร็จรูปด้วย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าแฟชั่น ทั้งนี้ โดยในแต่ละพื้นที่ของจีน จะมีสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกที่แตกต่างกันออกไป

จีนอนุญาตให้ส่งออกสินค้าได้กว่าร้อยละ 90 ของสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าที่ห้ามส่งออกหรือจำกัดการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น สินแร่หายาก สัตว์และซากสัตว์บางชนิด

ปัจจุบัน รูปแบบที่ผู้ประกอบการไทยนิยมใช้เพื่อนำเข้าสินค้าจากจีน แบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง คือ

  • การนำเข้าโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตในจีน ซึ่งทำให้ได้สินค้าตามคุณสมบัติที่ต้องการในราคาที่สมเหตุสมผล โดยหากจะเลือกใช้วิธีนี้ ผู้ประกอบการไทยควรต้องทำความรู้จักและตรวจสอบประวัติผู้ผลิตฝ่ายจีนอย่างถี่ถ้วน รวมถึงคุณภาพของสินค้า เพื่อป้องกันการฉ้อโกง ซึ่งพบมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากเป็นการสั่งซื้อสินค้าเป็นครั้งแรก ขอแนะนำให้ท่านมาตรวจสอบคู่ค้าและคุณภาพของสินค้าด้วยตนเอง
  • การซื้อจากนายหน้าหรือมอบให้ตัวแทนฝ่ายจีนเป็นผู้ช่วยดำเนินการ ซึ่งเป็น รูปแบบที่สะดวก จากการที่ตัวแทนหรือนายหน้าฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการดำเนินการตามขั้นตอนจัดซื้อและส่งออกแทน (นายหน้าบางรายทำหน้าที่หาสินค้ามานำเสนอให้ด้วย)

กล่าวโดยสรุป ข้อควรระวังที่สำคัญในการนำสินค้าจากจีนออกไปยังไทยหรือประเทศที่สามคือ มาตรฐานและคุณภาพสินค้า ความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทน และการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการชำระเงิน (เช่น การเจาะระบบอีเมล์เพื่อหลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ) ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากนโยบายลดภาษีศุลกากรระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ก่อนการส่งออก ต้องไม่ลืมดำเนินการตามขั้นตอนการขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีศุลกากรด้วย

จีน เป็น “โอกาส” มากพอๆ กับที่่เป็น “ความท้าทาย”

ด้วยความที่มีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มการขยายตัวที่สูงและต่อเนื่อง ตลาดจีนจึงเป็น “โอกาส” ที่นักธุรกิจต่างชาติจับจ้องตาเป็นมัน อย่างไรก็ดี จากการศึกษาประสบการณ์ของบริษัทต่างชาติในจีนพบว่า จีนถือเป็น “ตลาดปราบเซียน” เนื่องด้วยมี “ความท้าทาย” นานาประการที่ต้องพึงรู้ พึงระวังในการวางแผนธุรกิจ และหาวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะประเด็นท้าทายดังต่อไปนี้

  • มีข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยรวมๆ กัน อาทิ โครงสร้างการค้าที่ค่อนข้างผูกขาด โดยเฉพาะในบางชนิดสินค้า และการผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจจีน และการหาคู่ค้า/หุ้นส่วนที่มีศักยภาพที่แท้จริงและน่าเชื่อถือ
  • ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคกลาง (ตอนใน) และภาคตะวันตกที่เปิดสู่ภายนอกช้ากว่าภาคตะวันออก หน่วยงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนยังขาดความคุ้นเคยกับการค้า/การลงทุนจากต่างประเทศ
  • ความไม่ชัดเจนของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ/การค้าต่างประเทศ หรือการที่กฎระเบียบให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการ “ตีความ” มาก ซึ่งก็มีการตีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับระดับการเปิดสู่ภายนอก
  • กฎระเบียบเกี่ยวกับการค้า/การลงทุนจากต่างประเทศบางประการมีความซ้ำซ้อนและซับซ้อน และสร้างความยุ่งยากให้กับการนำเข้า-ส่งออก อาทิ กฎเกี่ยวกับฉลากสินค้า ฉลากอาหาร การตรวจสอบคุณภาพสินค้าแลการกักกันโรคพืชโรคสัตว์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร การออกใบอนุญาตทำงานให้คนต่างชาติ ระเบียบเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน
  • มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้าอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่
  • กฎระเบียบเปลี่ยนแปลงบ่อย (และหากเปลี่ยนแปลง มักมีผลย้อนหลัง) โดยเฉพาะในปัจจุบัน ซึ่งทางการจีนให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม (อันเป็นผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง) และการพัฒนาเขตเมืองใหม่ๆ (อันเป็นผลให้มีการเวนคืนที่ดินที่ทางการเคยอนุญาตให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรม)
  • ในหลายพื้นที่ พบการละเมิดสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับนักลงทุนต่างชาติ
  • การเสริมสร้างระบบ “สายสัมพันธ์” (Guanxi) เป็นวัฒนธรรมในการทำธุรกิจของหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกับการติดต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (แม้ว่าได้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้องตามระเบียบแล้ว)
  • มีต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม (ต้นทุนแฝง)ในการทำธุรกิจค่อนข้างมาก อาทิ ค่าเสียโอกาสจากความล่าช้าของการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาษีต่างๆ และค่าแรงและประกันสังคม (ซึ่งเฉลี่ยสูงถึงกว่าร้อยละ 35 ของค่าแรง)
  • “ภาษาจีน” เป็นภาษาหลักที่ต้องใช้ในการติดต่อธุรกิจในจีนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเริ่มติดต่อธุรกิจไปจนถึงการจัดตั้งบริษัท และการทำตลาด/การประเมินและวางแผนธุรกิจ
  • ในแต่ละพื้นที่ของจีน พฤติกรรมการบริโภคมีความแตกต่างกันไป ตามภูมิหลังทางวัฒนธรรม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ชนชาติ ระดับความเจริญ/รายได้ต่อหัว และระดับการเปิดสู่ภายนอก

เมื่อท่านได้มีความรู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ตลาดจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ยินดีที่จะก้าวไปพร้อมกับท่านด้วยการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาที่จะช่วยให้ท่านเริ่มต้นธุรกิจในจีนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ชี้ช่องทาง สร้างโอกาส พิชิตตลาดจีน”

เมื่อท่านได้มีความรู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ตลาดจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ยินดีที่จะก้าวไปพร้อมกับท่านด้วยการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาที่จะช่วยให้ท่านเริ่มต้นธุรกิจในจีนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ชี้ช่องทาง สร้างโอกาส พิชิตตลาดจีน”

  • ศึกษาตัวอย่างจากธุรกิจคล้ายคลึงกันที่เข้ามาก่อน
  • สำรวจพื้นที่ เลือกทำเล/ตลาด (หัวเมืองหลัก VS. หัวเมืองรอง) ตลอดจนตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคู่ค้าฝ่ายจีน และสินค้า (ในกรณีที่สั่งสินค้าจากจีนไปขายในไทยหรือประเทศอื่น)
  • วางแผนการประกอบธุรกิจโดยละเอียด รวมถึงการเลือกรูปแบบประกอบกิจการที่เหมาะสมกับธุรกิจ และแผนการทำธุรกิจ
  • หาที่ปรึกษาเฉพาะทาง อาทิ ด้านกฎหมาย บัญชี และการตลาด
  • ทำสัญญาทางธุรกิจกับคู่ค้าฝ่ายจีนอย่างรัดกุม
  • ดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนกับทางการจีน เช่น จดทะเบียนบริษัท ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ เปิดบัญชีธนาคาร
  • เริ่มดำเนินการตามแผนธุรกิจ
  • อดทนและก้าวเดินอย่างระมัดระวัง

พร้อมแล้ว…เรามาเดินไปด้วยกัน!

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน