ทรัพย์สินทางปัญญา

4 Jul 2023

กฎระเบียบจีนที่ควรรู้
ทรัพย์สินทางปัญญา

ปัจจุบัน กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property law) ในจีนแบ่งประเภทงานที่คุ้มครอง ที่สำคัญได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ สิทธิบัตร (Patent) เครื่องหมายการค้า (Trademark) และลิขสิทธิ์ (Copyright) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

สิทธิบัตร (คุ้มครองงานด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี)

“สิทธิบัตร” เป็นหนังสือสำคัญที่ใช้คุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีการผลิต ซึ่งล้วนเป็นผลผลิตจากสติปัญญาของผู้คิดค้น การคุ้มครองด้วยสิทธิบัตรจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้น และเป็นการช่วยป้องกันมิให้ผู้อื่นเลียนแบบหรือขายโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะทำให้เสียสิทธิและละเมิดสิทธิของผู้คิดค้น ทั้งนี้ สิทธิบัตรสามารถซื้อ ขาย หรือให้เช่าได้ (ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ) โดยสิทธิบัตรในจีนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทเนื้อหาการคุ้มครอง
1สิทธิการบัตรประดิษฐ์ (Inventions) อายุคุ้มครอง 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดทะเบียนคุ้มครองการประดิษฐ์ คิดค้น หรือคิดทำผลิตภัณฑ์ (รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม) หรือกรรมวิธีขึ้น ใหม่ เช่น การประดิษฐ์ iPhone5 หรือการคิดกรรมวิธีรักษาความสดของผลไม้ ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำขึ้นใหม่และมีขั้นตอนการทำที่ก้าวหน้ากว่าเดิม
2สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product designs) อายุคุ้มครอง 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดทะเบียนคุ้มครองการออกแบบขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ หรือทั้ง 2 อย่างรวมกันของผลิตภัณฑ์ ที่สามารถจับต้องทางกายภาพได้ เช่น รูปทรงของ iPhone5 หรือลักษณะแบบของรถ Volvo โดยหากเป็นสิ่งมีรูปร่างไม่คงที่ หรือไม่สามารถมีรูปร่างคงที่ด้วยตัวเอง เช่น ก๊าซ ของเหลว หรือสารชีวภาพ เป็นต้น จะไม่สามารถจดสิทธิบัตรประเภทนี้ได้
3สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility models) หรืออนุสิทธิบัตร (Petty Patent) อายุคุ้มครอง 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอจดทะเบียนการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ขึ้น แต่ยังไม่ถึงมาตรฐานขั้นสูงที่เพียงพอ แต่มีลักษณะของการทำขึ้นใหม่และประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ เช่น การปรับปรุงฝาครอบลูกบิดประตูขึ้นใหม่

ข้อควรสังเกต !!

  • สิทธิตามสิทธิบัตร (Exclusive rights) เป็นสิทธิเฉพาะที่ (Territorial rights) หากนักธุรกิจไทยจดทะเบียนในไทยก็จะได้รับคุ้มครองแค่ในเขตประเทศไทยเท่านั้น ฉะนั้นหากต้องการให้ได้รับการคุ้มครองในจีนก็ควรจดทะเบียนในจีนด้วย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองอย่างทั่วถึง
  • อายุการคุ้มครองของสิทธิบัตรจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ยื่น มิใช่นับตั้งแต่วันที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งโดยปกติสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 ปีจึงจะได้รับอนุมัติการจดทะเบียน ขณะที่สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะใช้เวลาประมาณ 10 – 12 เดือน และสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์จะใช้เวลาประมาณ 12 – 18 เดือน
  • ต้องจ่ายค่ารักษาสิทธิรายปี (maintenance fee) หากขาดการจ่ายก็จะทำให้สิทธิการค้มครองสิ้นสุดลงก่อนวันสิ้นอายุการคุ้มครองตามกำหนดจริง

เครื่องหมายการค้า (คุ้มครองเครื่องหมาย โลโก้ หรือตรารับรองของบริษัทต่างๆ )

“เครื่องหมายการค้า” เป็นเครื่องหมายที่ใช้หรือให้ความหมายเกี่ยวข้องกับสินค้าว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ มีความแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น รวมไปถึงเป็นการป้องกันการสับสนหรือเข้าใจผิด กับแหล่งกำเนิดของสินค้าและบริการ และประกันคุณภาพสินค้า แก่ ผู้บริโภคด้วย โดยเครื่องหมายการค้าอาจจะใช้คำ ข้อความ สัญลักษณ์ กลุ่มตัวเลขหรือตัวอักษร รูปออกแบบภาพวาด ภาพถ่าย ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปทรง หรือใช้ทั้งหมดผสมกัน เพื่อสร้างเป็นเครื่องหมายการค้าขึ้น โดยกฎหมายเครื่องหมายการค้าของจีนได้จัดแบ่งประเภทเครื่องหมายการค้าออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. เครื่องหมายการค้าทั่วไป (General trademarks)

เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้าและบริการ เพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าหรือบริการประเภทต่างๆภายใต้แต่ละเครื่องหมายการค้า

2. เครื่องหมายการค้าที่รู้จักกันโดยทั่วไป (Well-known trademarks)

เป็นเครื่องหมายการค้ามีชื่อเสียงกว้างขวาง และเป็นที่ รู้จักกันทั่วไปในจีน เช่น เครื่องหมายบริษัท Coca-Cola

3. เครื่องหมายร่วม (Collective marks, signs)

เป็นเครื่องหมายที่จดทะเบียนโดยบริษัท รัฐวิสาหกิจหรือสมาชิกของสมาคม องค์กร สมาพันธ์ทั้งของรัฐหรือเอกชน สำหรับให้สมาชิกได้ใช้ในกิจการทางพาณิชย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นสมาชิกขององค์กรดังกล่าว

4. เครื่องหมายรับรอง (Certification marks)

เป็นเครื่องหมายที่ใช้โดยองค์กร ซึ่งสามารถกำกับดูแลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่นใดภายนอกองค์กร นั้นๆ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวเพื่อรับรองแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ คุณภาพการผลิต หรือลักษณะอื่นใดของสินค้าและบริการนั้นๆ เช่น เครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

เป็นเครื่องหมายที่ใช้โดยองค์กร ซึ่งสามารถกำกับดูแลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่นใดภายนอกองค์กร นั้นๆ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวเพื่อรับรองแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ คุณภาพการผลิต หรือลักษณะอื่นใดของสินค้าและบริการนั้นๆ เช่น เครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

ข้อควรสังเกต !!

  • เครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมนั้นสามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้แทบ ทั้งหมด ยกเว้นเครื่องหมายที่เป็นนามธรรม (Non-visual marks) เช่น กลิ่นหรือเสียง ซึ่งไม่สามารถนำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ โดยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนจะมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี และสามารถต่ออายุได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • เครื่องหมายการค้าในประเทศจีนจะได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียน ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เว้นแต่ว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าที่รู้จักโดยกัน ทั่วไป (Well-known trademarks) ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้น เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นๆ จะไม่สามารถออกมายืนยันด้วยตนเองว่า เครื่องหมายของตนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโดยทั่วไป แต่จำเป็นต้องร้องขอให้ “Trademark Office” หรือ “Trademark Review and Adjudication Board” เป็นผู้ตัดสินว่า เครื่องหมายนั้นๆ มีคุณสมบัติครบถ้วนในฐานะ “Well-known trademarks” หรือไม่
  • การจดทะเบียนยึดหลักว่า “มาจดก่อน ย่อมมีสิทธิ์ก่อน” โดยควรจะต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในภาษาจีนด้วย เพื่อเป็นการสร้าง brand recognition รวมถึงป้องกันความสับสนในตัวสินค้าของผู้บริโภค และป้องกันมิให้คู่แข่งทางการค้าชิงจดทะเบียนตัดหน้าโดยใช้ชื่อที่มีเสียง พ้องกับเครื่องหมายการค้าของเราได้
  • การใช้เครื่องหมายการค้าหลังจากที่ได้จดทะเบียนแล้วนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างยิ่ง หากไม่มีการใช้เครื่องหมายดังกล่าวนานติดต่อกันถึง 3 ปี อาจมีความเสี่ยงที่เครื่องหมายนั้นจะถูก “ยกเลิก” ในฐานะ “non-use”
  • ในประเทศจีน การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะแยกจากการจดทะเบียนทางการค้า (Trademark does not include company name) อีกทั้งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแตกต่างกันด้วย ดังนั้น ในบางครั้งจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะพบเห็นการจดทะเบียนบริษัทโดยมีเครื่อง หมายการค้าอยู่ในชื่อบริษัทด้วย

เครื่องหมายการค้า

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ผู้ประกอบการควรใส่ใจกับการรักษาสิทธิครอบครองเครื่องหมายการค้า (ยี่ห้อ) ของท่านโดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของท่านในจีนแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากปัจจุบันมีชาวจีน “หัวใส” เป็นแมวมองผลิตภัณฑ์ต่างชาติที่มีศักยภาพในจีน แล้วชิงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ๆ (โดยเฉพาะยี่ห้อสินค้าของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในพิธีสารมาดริด[1] ) ก่อนที่เจ้าของผลิตภัณฑ์จะนำไปจดทะเบียนในจีน เมื่อถูกชิงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไป ผู้ประกอบการอาจหมดอนาคตสำหรับการทำตลาดในแดนมังกร และกลับกลายเป็นผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของตนเองในจีนเสียเอง นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก!! บริษัทไทยที่จำหน่ายเครื่องปรุงอาหารไทยชื่อดังหลายรายไม่ทันระวังตัวและต้องประสบปัญหานี้ในปัจจุบัน


จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนนั้นไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพราะจีนกำหนดให้บุคคลต่างชาติหรือบริษัทต่างชาติสามารถขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เพียงยื่นเรื่องผ่านบริษัทตัวแทนที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเครื่องหมายการค้าภายใต้สำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและการค้าแห่งชาติ (Trademark Office of The State Administration for Industry & Commerce of the People’s Republic of China) โดยสามารถดูรายชื่อบริษัทตัวแทนที่ขึ้นทะเบียนได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานเครื่องหมายการค้าฯ http://www.saic.gov.cn/sbjEnglish/sbdl_1/zmd/

จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างไร? นานไหม?

หลังจากเลือกบริษัทตัวแทนที่ท่านประสงค์จะว่าจ้างสำหรับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว การจดทะเบียนฯ จะใช้เวลาประมาณ 16-24 เดือนนับจากวันที่ยื่นใบสมัคร (ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านหรืออุทธรณ์) ซึ่งสามารถครอบคลุมสินค้าหรือบริการได้ 10 ชนิดใน 1 กลุ่มประเภทสินค้า (จีนแบ่งกลุ่มประเภทสินค้าและบริการออกเป็น 45 กลุ่ม)

ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจีน มีดังนี้

1. ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของเครื่องหมายการค้าในฐานข้อมูลของสำนักงานเครื่องหมายการค้าฯ จีน ซึ่งผู้ประกอบการอาจตรวจสอบด้วยตนเองได้ในเบื้องต้นที่เว็บไซต์ http://sbcx.saic.gov.cn/trade-e/ อย่างไรก็ดี ฐานข้อมูลนี้จะไม่มีข้อมูลของใบสมัครที่เพิ่งยื่นในช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้า

2. ยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารประกอบการจดทะเบียนฯ ใบสมัคร 1 ชุด สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ 1 เครื่องหมายการค้า ประกอบด้วย

3. ผู้สมัครจะได้รับเอกสารยืนยันการยื่นขอจดทะเบียนฯ (Notice of Acceptance of Application) ประมาณ 1 เดือน นับจากวันยื่นเอกสาร และฝ่ายจีนจะตรวจสอบใบสมัครใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน

  • 2.1 เอกสารรับรองของบุคคลหรือบริษัทที่ยื่นขอ (หนังสือเดินทาง บัตรประชาชน หนังสือ จดทะเบียนบริษัท รวมถึงสำเนาเอกสารซึ่งผ่านการทำนิติกรณ์แล้ว)
  • 2.2 ตัวอย่างเครื่องหมายการค้าที่จะจดทะเบียน
  • 2.3 หนังสือมอบอำนาจให้บริษัทตัวแทนที่ว่าจ้างดำเนินการแทน

4. หากตรวจสอบแล้วไม่มีความซ้ำซ้อน สำนักงานเครื่องหมายการค้าจะออกประกาศให้คัดค้านการยื่นขอ จดเครื่องหมายการค้าของท่านภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ออกประกาศ หากไม่มีการคัดค้าน ผู้ยื่นคำขอจะได้รับใบรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใน 1-2 เดือนหลังจากนั้น โดยมีอายุ 10 ปี และสามารถยื่นเรื่องขอต่ออายุการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าได้

5. หากใบสมัครไม่ได้รับการอนุมัติ และประสงค์จะยื่นเรื่องอุทธรณ์ จะต้องดำเนินการภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ทราบผล

พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) เป็นข้อตกลงภายใต้กรอบความร่วมมือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก กล่าวคือ ผู้ขอจดทะเบียนสามารถยื่นคำขอเพียงฉบับเดียวก็จะมีผลเท่ากับยื่นคำขอในหลายประเทศพร้อมกัน เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถขอรับความคุ้มครองในประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกพิธีสารในภายหลังได้ เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถต่ออายุเครื่องหมายการค้าพร้อมกันได้ ปัจจุบันมีสมาชิก 91 ประเทศทั่วโลก (จีนเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2538) ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการดำเนินเรื่องเข้าเป็นสมาชิกในพิธีสารดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนปี 2558

ลิขสิทธิ์ (คุ้มครองผลงานด้านการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม เช่น งานบันเทิง ละคร ภาพยนตร์ ภาพถ่าย)

“ลิขสิทธิ์” เป็นสิทธิที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานจะสามารถทำการใดๆ กับผลงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ได้รับจากการสร้างสรรค์ผลงาน เช่น หนังสือ วรรณกรรม เพลง ภาพยนตร์ ละคร ภาพวาด งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม หรือซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ข้อควรรู้ !!

  • ผลงานที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของชาวจีน นิติบุคคลจีน หรือหน่วยงานจีนที่ไม่ใช่นิติบุคคล ก็จะถือว่ามีลิขสิทธิ์ในจีนตั้งแต่แรกเริ่ม สำหรับในกรณีที่เป็นผลงานของชาวต่างชาติ หากผลงานได้รับการตีพิมพ์ในจีนแล้วก็ย่อมได้รับสิทธิตามกฎหมายจีน และหากแม้ผลงานไม่ได้ตีพิมพ์ในจีนก็อาจสามารถได้รับการคุ้มครองสิทธิในจีน ด้วย เนื่องจากจีนเป็นประเทศภาคีของอนุสัญญากรุงเบิร์น (The Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic works) ผลงานดังกล่าวจึงถือว่ามีลิขสิทธิ์และได้รับการคุ้มครองในจีนด้วยโดยไม่ต้อง จดทะเบียน ทั้งนี้ หากเจ้าของผลงานเป็นคนสัญชาติในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญา (ไทยก็เป็นภาคีด้วย) หรือหากในกรณีที่ไม่ได้เป็นคนสัญชาติของประเทศภาคี แต่ผลงานของบุคคลนั้นได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศภาคีเป็นครั้งแรกแล้ว ก็ล้วนได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์เช่นเดียวกัน
  • นอกเหนือจากผลงานด้านวัฒนธรรมแล้ว ผลงานทางอุตสาหกรรมบางประเภทก็มีลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน อาทิ Catalogue รายชื่อสินค้า รูปภาพประกอบของบริษัท หรือรูปภาพ/การจัดผังบนเว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น ซึ่งหากนำไปใช้โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้สร้างสรรค์จะถือว่าเป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์
  • “สิทธิข้างเคียง (neighboring right)” เป็นสิทธิที่อยู่ควบคู่กับลิขสิทธิ์ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่มีการเผยแพร่ผลงานการประพันธ์สู่สาธารณชน อาทิ นักแสดง ผู้จัดพิมพ์ สถานีโทรทัศน์/วิทยุ และผู้จัดทำวีดีโอ/เสียงบันทึก เป็นต้น โดยบุคคลดังกล่าวควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในกรณีที่มีการนำผลงานไปใช้ ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ข้อควรสังเกต !!

  • เช่นเดียวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของหลายๆ ประเทศ จีนถือว่าลิขสิทธิ์เป็น “สิทธิตามธรรมชาติ (natural rights)” ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องจดแจ้งทะเบียนลิขสิทธิ์เหมือน กับสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า อย่างไรก็ดี การจดทะเบียนลิขสิทธิ์จะเป็นประโยชน์สำหรับใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการชั้น ศาลในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น
  • ลิขสิทธิ์ในจีนมีอายุการคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และขยายต่อเนื่องอีก 50 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์คนดังกล่าวเสียชีวิต (เหมือนกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน