รูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ

4 Jul 2023

การจัดตั้งธุรกิจ
รูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ

“สนใจลงทุนในจีน” เป็นประเด็นที่ธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจกันไม่น้อย แต่แล้วก็มักจะเกิดคำถามในใจว่า จีนอนุญาตให้วิสาหกิจต่างชาติจัดตั้งธุรกิจรูปแบบใดได้บ้าง? แต่ละรูปแบบธุรกิจมีข้อแตกต่างกันอย่างไร? แล้วรูปแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับธุรกิจของตนเองมากที่สุด?

รู้จักประเภทธุรกิจ.. ก่อนพิชิตเข้าลงทุนในจีน!!

สำหรับ นักลงทุนที่สนใจเข้าทำธุรกิจในจีน ควรศึกษาว่ารัฐบาลจีนได้กำหนดให้วิสาหกิจต่างชาติสามารถจัดตั้งธุรกิจในจีน รูปแบบใดบ้าง ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติสามารถเลือกจดทะเบียนธุรกิจในจีนได้ 4 ประเภท คือ

  1. สำนักงานตัวแทน — Representative Office (RO)
  2. กิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด — Wholly Foreign-Owned Enterprise (WFOE)
  3. กิจการร่วมทุน — Joint Venture (JV)
  4. วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ — Foreign-Invested Commercial Enterprise (FICE)

“สำนักงานตัวแทน” เป็นกิจการที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทต่างชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นตัวแทนของบริษัทแม่จากต่างประเทศในการ ประสานงานทางธุรกิจที่อยู่ในประเทศจีน การดำเนินงานในบริษัทสามารถประกอบกิจกรรมประเภทต่างๆ ดังนี้

1. การติดต่อประสานงาน

โดย เป็นตัวแทนในการติดต่องานที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าและบริการ รวมถึงการจัดซื้อ ซึ่งไม่สามารถแสวงหากำไรได้โดยตรง (เว้นแต่จะได้รับการยอมรับตามข้อตกลงนานาชาติ) โดยไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) ใบแจ้งราคา (Quotation) ในนามของสำนักงานตัวแทนเองได้ แต่ทำได้เพียงแค่เป็นผู้ติดต่อประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของบริษัท แม่เท่านั้น

2. การทำกิจกรรมด้านการตลาด

เช่น การวิจัยตลาด การจัดแสดงและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า/บริการของบริษัท เป็นต้น

ข้อสังเกต !!

  • ก่อนที่จะจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในจีนได้นั้น บริษัทแม่ในต่างประเทศจำเป็นต้องตั้งกิจการมาแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี
  • การจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบสำนักงานตัวแทนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับ ธุรกิจต่างชาติที่ต้องการความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับลูกค้าในพื้นที่ จีน ซึ่งช่วยให้สามารถผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาดด้วยข้อดีในด้านการประสานงาน การจัดซื้อ/จัดหา และด้านกิจกรรมสนับสนุนการตลาด ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่ในต่างประเทศกับลูกค้าในจีน อีกด้วย
  • แม้ว่าทางการจีนจะไม่ได้มีข้อกำหนดด้านเงินทุนในการจัดตั้งธุรกิจประเภท สำนักงานตัวแทน แต่ธุรกิจลักษณะนี้ก็จำเป็นต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งรัฐบาลจีนโดย State Administration of Taxation กำหนดให้สำนักงานตัวแทนจะต้องจ่ายทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีขาย และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจะคิดภาษีจากค่าใช้จ่ายของกิจการที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ภาษีของสำนักงานตัวแทนยังคงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีของธุรกิจแบบ ต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด (WFOE)

“วิสาหกิจประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด” เป็นธุรกิจที่จัดตั้งโดยใช้เงินทุนจากชาวต่างชาติทั้งหมด (ลงทุน 100%) ซึ่งสามารถลงทุนในสายการผลิต การบริการ และการค้าในประเทศจีน รวมถึงยังสามารถขยายขอบเขตธุรกิจเพิ่มเติมได้ ธุรกิจในรูปแบบนี้ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก ด้วยปัจจัยที่สำคัญดังต่อไปนี้

  1. ชาวต่างชาติสามารถควบคุมกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของกิจการได้เต็มรูปแบบ
  2. สามารถสงวนไว้ซึ่งความเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาได้
  3.  สามารถบริหารจัดการและพัฒนาโครงสร้างภายในองค์กรได้เอง
  4.  คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิม
  5.  ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงในการถอนการลงทุนและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
  6.  มี โอกาสจัดจ้างชาวต่างชาติได้จำนวนมากกว่า เมื่อเทียบกับรูปแบบสำนักงานตัวแทน (RO) ที่จัดจ้างชาวต่างชาติได้มากที่สุดไม่เกิน 4 คน

“วิสาหกิจร่วมทุน” เป็นกิจการที่จัดตั้งโดยนักลงทุนต่างชาติ (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเดี่ยวหรือกลุ่ม) ร่วมกับหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคลจีน โดยบริษัทร่วมทุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. บริษัทร่วมทุนแบบร่วมหุ้น (Equity Joint Venture)

เป็นการร่วมทุนระหว่างทุนจีนกับทุนต่างชาติที่มีการแบ่งส่วนของกำไรขาดทุน เท่าเทียมกันตามสัดส่วนของหุ้นที่มีร่วมกัน โดยทุนต่างชาติจะต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนทุนที่จดทะเบียนทั้งหมด

2. บริษัทร่วมทุนแบบร่วมดำเนินงาน (Cooperative Joint Venture)

เป็นรูปแบบบริษัทธุรกิจต่างชาติที่มีความยืดหยุ่น โดยผู้ลงทุนชาวจีนและต่างชาติล้วนมีอิสระในการทำงานร่วมกัน และไม่จำเป็นต้องแบ่งกำไรขาดทุนตามสัดส่วนของการถือหุ้นที่มีร่วมกัน

“วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ” หมายถึง กิจการที่เจ้าของเป็นต่างชาติทั้งหมด (WFOE) หรือกิจการร่วมทุน (JV) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการด้านการส่งออก-นำเข้า ตลอดจนการกระจายสินค้าภายในประเทศจีน โดยตั้งแต่ที่มีการเปิดเสรีด้านการค้าปลีกและกระจายสินค้าในจีนเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา ทางการจีนได้อนุญาตให้วิสาหกิจการค้าของต่างชาติที่มาลงทุนในจีนสามารถ ประกอบกิจการได้ตามรายการต่อไปนี้

  1. การนำเข้า – ส่งออก การกระจายสินค้า และการค้าปลีก (หมายถึง การขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องให้แก่บุคคลคนเดียวโดยอาจจะผ่านช่องทาง การจำหน่าย เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ อีเมล์ อินเทอร์เน็ต หรือเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น)
  2. การค้าส่ง (หมายถึง การขายสินค้า/บริการให้แก่บริษัท อุตสาหกรรม หรือองค์กร เป็นต้น)
  3. การเป็นตัวแทนทางธุรกิจ (Agent, Broker)
  4. การทำธุรกิจแฟรนชายส์ (Franchising)

ข้อสังเกต !!

  • ข้อดีของการจัดตั้งวิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ คือ สามารถซื้อสินค้าได้จากผู้ขายโดยตรง และขายสินค้าให้ถึงผู้ซื้อได้โดยตรงด้วยสกุลเงินหยวน แต่จะมีข้อจำกัด คือ สินค้าที่ซื้อมานั้นไม่สามารถปรับเปลี่ยนลักษณะของผลิตภัณฑ์ได้ กล่าวคือ เมื่อซื้อสินค้าชนิดใดมาก็ต้องขายสินค้าชนิดนั้นไป
  • ในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติประกอบกิจการค้าปลีกที่กระจายสินค้ามากกว่า 30 สาขา จะถูกจำกัดความเป็นเจ้าของกิจการ (Ownership barriers) ด้วยสัดส่วนหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองได้เพียงร้อยละ 49 ของหุ้นส่วนทั้งหมด
  • วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ สามารถจดทะเบียนเป็นผู้ขอใบอนุญาตการนำเข้า-ส่งออกของจีนได้ โดยหากต้องการยื่นขอนำเข้า-ส่งออกสินค้ารายการพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากข้อกำหนดทั่วไป จะได้รับพิจารณาจากทางการจีนเป็นรายกรณี

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของรูปแบบธุรกิจในจีน

ประเภทกิจการสถานะทางกฏหมายจุดประสงค์ข้อดีข้อเสีย
สำนักงานตัวแทน Representative office (RO)ไม่มีสถานะทางกฏหมาย– วิจัยตลาด
– วางแผนการเข้ามาดำเนินการในอนาคต
– ประสานงานอำนวยความสะดวกให้บริษัทแม่
– ใช้เงินทุนจัดตั้งน้อย
– มีความคล่องตัวในการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการตลาดและการประสานงาน
– ไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้สกุลเงินหยวนได้
– จะต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ผ่านตัวแทนจัดหางานในท้องถิ่น
กิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด Wholly foreign-owned enterprise (WFOE)จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมาย– ผลิตสินค้า (สำหรับขายในจีนหรือส่งออก)
– ให้บริการทางธุรกิจ
– เจ้าของเป็นต่างชาติทั้งหมด
– สามารถดำเนินกิจกรรมตามขอบเขตธุรกิจได้ยืดหยุ่น
– สงวนกรรมสิทธิ์ในด้านเทคโนโลยี และทรัพยสินทางปัญญาได้
– รักษาวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิม
– สามารถโอนผลกำไรจากเงินสกุลหยวนกลับไปยังต่างชาติได้
– ใช้เงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนตลอดโครงการ
– ต้องสร้างยอดขายในตลาดจีนด้วยตัวเอง
กิจการร่วมทุน Joint venture (JV)จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมาย– เพื่อเป็นไปตามข้อกำหนดที่ต้องมีคนท้องถิ่นถือหุ้นด้วย
– เมื่อหุ้นส่วนท้องถิ่นยื่นข้อเสนอ ที่ลงตัวให้ได้ เช่น ผลกำไร ยอดขาย ช่องทางการกระจายสินค้า ฯลฯ
– สามารถต่อยอดโรงงานและแรงงานจากเดิมที่มีอยู่ได้
– สามารถต่อยอดช่องทางขายและกระจายสินค้าจากเดิมได้
– การดำเนินงานล่าช้า
– การปรับขยายสินทรัพย์หรือยอดขายร่วมกันระหว่างหุ้นส่วนที่อาจมีตัวเลขเกินจริงได้
– การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันและการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน
– ความเสี่ยงในการบริหารงานร่วมกัน
วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างประเทศ Foreign-invested commercial enterprise (FICE)จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมายสำหรับกิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือกิจการร่วมทุนที่ประกอบกิจการด้านการค้า การกระจายสินค้า และการค้าส่ง– เอื้อต่อกิจการประเภทการค้าและการกระจายสินค้า– ใช้เงินทุนจดทะเบียนสูง

สำนักงานตัวแทน — Representative Office (RO)
(สถานะทางกฎหมาย : ไม่มีสถานะทางกฏหมาย)

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง :

  1. การวิจัยตลาดในจีน
  2. ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ
  3. วางแผนการเข้ามาดำเนินธุรกิจในจีนอย่างเป็นทางการในอนาคต
ข้อดีข้อเสีย
ใช้เงินทุนจัดตั้งน้อยมีความคล่องตัวในการดำเนินงานเกี่ยวกับการตลาด
และการประสานงานต่างๆ
ไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้ / ใบแจ้งราคาต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ผ่านตัวแทนจัดหางานในท้องถิ่น

วิสาหกิจประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด — Wholly Foreign-Owned Enterprise (WFOE)
(สถานะทางกฎหมาย : จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย)

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง :

  1. ผลิตสินค้า สำหรับขายในจีนหรือส่งออกไปต่างประเทศ
  2. ให้บริการทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ
ข้อดีข้อเสีย
สามารถดำเนินการทางธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่น
เนื่องจากเป็นเจ้าของกิจการเอง 100%สงวนกรรมสิทธิ์ในด้านเทคโนโลยีและทรัพยสินทางปัญญาได้สามารถรักษาวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิมสามารถโอนผลกำไรจากเงินสกุลหยวนกลับไปยังต่างชาติได้
ใช้เงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนตลอดโครงการต้องสร้างยอดขายในตลาดจีนด้วยตัวเอง

วิสาหกิจร่วมทุน — Joint Venture (JV)
(สถานะทางกฎหมาย : จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย)

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง :

  1. ต้องการให้มีหุ้นส่วนท้องถิ่นช่วยดำเนินธุรกิจ
  2. สนใจในข้อเสนอที่หุ้นส่วนท้องถิ่นเสนอให้ เช่น ผลกำไร ยอดขาย ช่องทางการกระจายสินค้า ฯลฯ
ข้อดีข้อเสีย
สามารถต่อยอดโรงงานและแรงงานจากเดิมที่มีอยู่ได้สามารถต่อยอดช่องทางขายและกระจายสินค้าจากเดิมได้การปรับขยายสินทรัพย์หรือยอดขายร่วมกันระหว่างหุ้นส่วนที่อาจมีตัวเลขเกินจริงได้การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน และการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกันมีความเสี่ยงในการบริหารงานร่วมกัน

วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างชาติ — Foreign-Invested Commercial Enterprise (FICE)
(สถานะทางกฎหมาย : จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดชอบตามกฎหมาย)

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง :

ต้องการประกอบกิจการด้านการค้า การกระจายสินค้า และการค้าส่งในจีนแบบครบวงจร

ข้อดีข้อเสีย
เอื้อต่อการขยายกิจการประเภทการค้าและการกระจายสินค้าใช้เงินทุนจดทะเบียนสูง

ควรคำนึงอะไร? ก่อนตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจในจีน

หลัง จากที่ได้ทราบถึงความแตกต่างของรูปแบบธุรกิจที่ชาวต่างชาติจะสามารถเข้ามา จัดตั้งในจีน พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว ลำดับต่อไปคือการพิจารณาถึงปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งจำเป็นจะต้องคำนึงตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินการจัดตั้งธุรกิจ อาทิ

1. ขอบเขตกิจกรรมทางธุรกิจ(Business Scope)

การระบุขอบเขตกิจกรรมทางธุรกิจถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากธุรกิจที่จดทะเบียนในจีนจะสามารถดำเนินกิจการได้ตามที่ระบุไว้ในเอกสารที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ผู้จดทะเบียนธุรกิจจึงควรมั่นใจว่า ได้ระบุขอบเขตกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทไว้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต้องสามารถตรวจสอบได้จริงด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้ ในระหว่างการยื่นจดทะเบียน แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพิจารณาขอบเขตของธุรกิจจากเพียงเอกสารที่ระบุในเบื้อง ต้นและอนุมัติให้ แต่หลังจากที่ดำเนินกิจการแล้วก็จะมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานสรรพากรอย่าง ละเอียดในเอกสารใบยื่นขอจัดตั้งบริษัท ดังนั้น การ ระบุข้อความกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงภาษีหรือปิดบังสรรพากร จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหน้าได้

2. เงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ (Minimum Registered Capital)

กฎหมาย จีนระบุว่า ทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำอาจเริ่มต้นตั้งแต่ 30,000 หยวนสำหรับกิจการที่มีผู้ถือหุ้นร่วมหลายคน แต่หากเป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียว ทุนจดทะเบียนจะเพิ่มเป็น 100,000 หยวน

ในทางปฏิบัติแล้ว ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และประเภทของกิจการ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งอาจมีการดึงดูดให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาตั้งกิจการ ด้วยการกำหนดเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ค่อนข้างน้อย เพื่อให้ได้จำนวนกิจการตามที่ได้วางแผนไว้ อย่างไรก็ดี ทุนจดทะเบียนบริษัทไม่ควรจะต่ำเกินไป เนื่องจากอาจมีสรรพากรท้องถิ่นและสรรพากรกลางเข้ามาตรวจดูความเหมาะสมเมื่อ ดำเนินธุรกิจไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น จึงควรระบุทุนจดทะเบียนขั้นต่ำตามความเหมาะสม โดยควรคำนึงถึงภาระหนี้ (ที่สามารถรับผิดชอบได้) ที่อาจการเกิดขึ้นระหว่างดำเนินกิจการด้วย

ทั้งนี้ จำนวนทุนจดทะเบียนบริษัทมากหรือน้อย นอกจากจะสะท้อนให้ทางการจีนมีความมั่นใจว่าธุรกิจที่จะจัดตั้งนั้นๆ มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่แล้ว ยังจะสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและศักยภาพของบริษัท ซึ่งคู่ค้ามักจะใช้ทุนจดทะเบียนบริษัทเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนตัดใจสิน เข้าร่วมทำธุรกิจด้วย

3. เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital)

เงิน ทุนหมุนเวียนเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ในระหว่างเริ่มจัดตั้งธุรกิจใหม่ๆ เจ้าของกิจการอาจมีความกังวลว่าเงินทุนจดทะเบียนที่ใช้ยื่นขอจัดตั้งบริษัท อาจไม่เพียงพอ จึงมักนำเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ในมือเข้ามารวมเป็นเงินทุนที่จะจดทะเบียนด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจขาดเงินทุนหมุนเวียนในภายหลังได้

ทั้งนี้ การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างมีความยุ่งยากทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายดัง นั้น การนำเงินทุนหมุนเวียนในมือมากระทำการใดๆ จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ

ข้อมูล ข้างต้นคงจะช่วยให้ท่านนักลงทุนไทยได้ทราบถึงประเภทธุรกิจที่ทางการ จีนอนุญาตให้วิสาหกิจต่างชาติสามารถจัดตั้งได้ โดยแต่ละประเภทล้วนมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากท่านสนใจจะก้าวสู่การลงทุนทำธุรกิจในจีนอย่างแท้จริงแล้ว ก็ควรพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ความพร้อมของธุรกิจตนเอง ก่อนตัดสินใจว่าควรจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน