ส่งออกไปจีน

4 Jul 2023

การค้า
ส่งออกไปจีน

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

” ส่งออกสินค้าไทยไปจีน ” เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันกำลังให้ความสนใจ สิ่งสำคัญอันดับแรกคงไม่ใช่ว่าจะขายไปให้ใครหรือจะขายได้ปริมาณเท่าไร แต่ควรเป็นการสำรวจก่อนว่า ตัวเราได้ทำการบ้านเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกสินค้าไปจีนได้เพียงพอแล้วหรือยัง?

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนขอเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่กำลังสนใจจะส่งออกสินค้าไปจีน ด้วยการถ่ายทอดข้อมูล “ปูพื้นฐานความพร้อม” ก่อนการส่งออกสินค้าไปยังจีนผ่านบทความ How to export to China ซึ่งครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่การตรวจสอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ของทั้งไทยและจีน รวมถึงการเตรียมพร้อมในตัวสินค้า เอกสารที่ต้องใช้ในการส่งออก และการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เป็นต้น

บทความในตอนแรกจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสำรวจว่า สินค้าของตนมีความพร้อมสำหรับส่งออกไปจีนหรือไม่ โดยจะแนะนำข้อมูลกฎระเบียบของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศว่า สินค้าใดนำเข้าได้บ้าง มีข้อจำกัดอย่างไร ต้องมีมาตรฐานระดับไหน และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแน่ใจว่าสินค้าที่ตนมีอยู่พร้อมที่จะส่งออกไปจีนได้โดยจะไม่ติดอุปสรรค ณ ปลายทาง ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรพิจารณาแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!
จากบทความตอนแรกที่ได้กล่าวถึงกฎระเบียบของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าสู่จีนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าที่จะได้รับ ซึ่งเป็นข้อมูลให้ผู้ส่งออกของไทยใช้พิจารณาว่าสินค้าของตนเองมีความพร้อมที่จะส่งออกไปจีนหรือไม่ หากว่าสินค้ามีความพร้อมตามข้อกำหนดของทางการจีนและประเมินว่ามีโอกาสเติบโตในตลาดจีนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไป คือ การศึกษากฎระเบียบในส่วนของไทย

ทั้งนี้ จำเป็นต้องศึกษาว่าไทยอนุญาตให้ส่งออกสินค้าประเภทใดบ้าง และสินค้าแต่ละประเภทมีข้อกำหนดและขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกอย่างไร ตลอดจนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนจึงขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวข้างต้นผ่านบทความตอนที่ 2 เรื่อง “ศึกษาเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกไทย”

รู้จักสินค้า.. ก่อนเดินหน้าส่งออก

ในเบื้องต้น ก่อนการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนหรือประเทศอื่นๆ จำเป็นจะต้องศึกษาดูว่าทางการไทยอนุญาตให้ส่งออกสินค้าประเภทใดบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวสินค้าที่สนใจจะส่งออก โดยปัจจุบันไทยได้แบ่งสินค้าส่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. สินค้ากำหนดมาตรฐานส่งออก
  2. สินค้ากำหนดมาตรการส่งออก
  3. สินค้ากำหนดโควต้าส่งออก และ
  4. สินค้าทั่วไป

1) สินค้ากำหนดมาตรฐานส่งออก

พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าส่งออกของไทย เพื่อเป็น การรักษามาตรฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และควบคุมคุณภาพของสินค้าที่จะส่งออกจากไทย ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ และสร้างศักยภาพในการแข่งขันแก่สินค้าส่งออกของไทยด้วย

ปัจจุบัน ไทยกำหนดสินค้าที่มีมาตรฐานส่งออก 10 รายการ ได้แก่ ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวฟ่าง แป้งมันสำปะหลัง ปลาป่น ไม้สักแปรรูป ปุยนุ่ย ถั่วเขียว และถั่วเขียวผิวดำ โดยสามารถดูข้อมูลอ้างอิงได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ของไทย www.moc.go.th

หมายเหตุ :

(1) การส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้น ผู้ประกอบการจะต้องยื่นเรื่องเพื่อขอบัตรประจำตัวผู้ส่งออกก่อน (จะกล่าวถึงรายละเอียดในลำดับต่อไป) โดยหลังจากที่ได้รับบัตรประจำตัวผู้ส่งออกแล้ว จำเป็นจะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีมาตรฐานดังกล่าวกับสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนในการยื่นจดทะเบียนได้ที่ http://ocs.dft.go.th เมนู “ผู้ทำการค้า ขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน”

(2) หลังจากที่ยื่นคำร้องแล้ว จะต้องนำสินค้าที่ต้องการส่งออกให้สำนักงานตรวจสอบมาตรฐาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือนิติบุคคล/ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ ทำการตรวจสอบสินค้าดังกล่าว

(3) หลังจากสินค้าผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแล้ว จะได้รับ “ใบรับรองมาตรฐานสินค้า” จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารประกอบการส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้น

2) สินค้ากำหนดมาตรการส่งออก

พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดมาตรการสำหรับ การส่งออกสินค้าจากไทย เพื่อเป็นการจัดระเบียบควบคุมการส่งออกให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลไทยกำหนดเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประโยชน์ของชาติ ตลอดจนเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศด้วย

ปัจจุบัน ไทยแบ่งสินค้าที่มีมาตรการการส่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าห้ามส่งออก สินค้าที่ต้อง ขออนุญาตส่งออก และสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียน/ขึ้นบัญชีประกอบการส่งออก

สินค้าห้ามส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามส่งออก “ทราย” เพื่อสงวนไว้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ และเพื่อเป็นการป้องกันการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

สินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออก

1) สินค้าเกษตรกรรม ได้แก่

  • ข้าว / ข้าวส่งออกภายใต้โควต้าภาษีของสหภาพยุโรป
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
  • ไม้และไม้แปรรูป
  • กาแฟ
  • กากถั่ว
  • ถ่านไม้
  • ช้าง
  • กุ้งกุลาดำมีชีวิต
  • หอยมุกและผลิตภัณฑ์
  • ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต

2) สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่

  • น้ำตาลทราย
  • ถ่านหิน
  • เทวรูป
  • พระพุทธรูป
  • ทองคำ
  • สินค้ารี-เอ็กซ์ปอร์ต
  • แร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ

สินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียน/ ขึ้นบัญชีประกอบการส่งออก

  1. ผัก ผลไม้
  2. ดอกกล้วยไม้
  3. ลำไย
  4. ทุเรียน
  5. กุ้ง ปลาหมึก และผลิตภัณฑ์
  6. ปลาทูน่าบรรจุภาชนะอัดลม
  7. สับปะรดกระป๋อง
  8. เครื่องนุ่งห่ม ด้าย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์ทออื่นที่มิใช่เครื่องนุ่งหุ่ม
  9. รถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ส่งออกไปไต้หวัน
  10. เพชรที่ยังไม่เจียระไน

หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการของสินค้าแต่ละประเภทได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ http://www.dft.go.th (หน้ามาตรการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของไทย) หรือติดต่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 0-2547-4771-86

3) สินค้าที่มีโควต้าส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดโควต้าการส่งออกสินค้าบางประเภท เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ โดยปัจจุบันได้จำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าสำคัญ 4 รายการ ได้แก่ 1) ข้าว 2) มันสำปะหลัง 3) น้ำตาล และ 4) ยางพาราโดยสามารถศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับ การส่งออกสินค้าทั้ง 4 รายการดังกล่าวได้จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0-2547-4771-86 หรือสายด่วนหมายเลข 1385 เว็บไซต์ http://www.dft.go.th

4) สินค้าทั่วไป

สินค้าทั่วไป หมายถึง สินค้าอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากประเภทสินค้า 3 ประเภทข้างต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกได้โดยเสรี

เตรียมตัวทำบัตร.. ยื่นขออนุมัติเป็นผู้ส่งออก

เมื่อตรวจสอบแล้วว่าสินค้าที่ต้องการส่งออกสามารถส่งออกไปจีนได้ตามกฎระเบียบการนำเข้าของจีนและกฎระเบียบการส่งออกของไทยแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอบัตรที่ใช้ประกอบในการส่งสินค้าไปต่างประเทศกับกระทรวงพาณิชย์ และลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ออกของกับกรมศุลกากรไทย

1. บัตรประจำตัวผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า

หากต้องการจะทำธุรกิจส่งออกจำเป็นจะต้องมีบัตรใบนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงสถานะการเป็น ผู้ส่งออก ซึ่งต้องใช้สำหรับติดต่อกับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น การขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า การขออนุมัติเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีมาตรฐานและมาตรการส่งออก เป็นต้น โดยสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการทำบัตรได้ที่สำนักบริการการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-5474754 หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 ต่อ 4101, 4161 หรือศึกษารายละเอียดการจัดเตรียมเอกสารเบื้องต้นด้วยตนเอง และดาวน์โหลดแบบฟอร์มยื่นคำขอออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ http://www.dft.go.th/LinkClick.aspx?fileticket=WFwcHdPpdu0%3d&tabid=101

2. การลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ออกของกับกรมศุลกากรไทย

เดิมทีผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกจะต้องทำบัตรฐานข้อมูลประจำตัวกับกรมศุลกากรไทย เพื่อใช้แสดงสำหรับดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากร แต่ปัจจุบันกรมศุลกากรได้เปิดให้บริการพิธีการศุลกากรการส่งออกระบบไร้เอกสาร (paperless) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และได้ยกเลิกใช้บัตร Smart Card ดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้ที่จะทำธุรกิจส่งออกจำเป็นต้องลงทะเบียนกับกรมศุลกากรก่อนจึงจะสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ โดยสามารถศึกษาวิธีการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร http://www.customs.go.th เมนูหลัก “ผู้ประกอบการ” เมนูย่อย “การลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า – ส่งออก / การขออนุญาตเป็นตัวแทนออกของ” หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศุลกากร หมายเลข 1164

เข้าร่วมสมาชิกหน่วยงาน.. รับข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์

นอกจากผู้ส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศจะศึกษาข้อมูลหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการส่งออกจากหน่วยงานต่างๆ ของไทยแล้ว ยังอาจพิจารณาสมัครเป็นสมาชิกของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ด้วย เช่น การสมัครสมาชิกรายชื่อผู้ส่งออกสินค้าไทย (Exporter List E.L.) กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกสามารถได้รับการสนับสนุนด้านบริการต่างๆ ของกรมฯ อาทิ การรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎระเบียบที่อัพเดทใหม่ ข่าวสารการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกต่างๆ เป็นต้น โดยกรมฯ ได้จะจัดแบ่งประเภทของสมาชิกผู้ส่งออกตามประสบการณ์ด้านการส่งออกเป็น 4 กลุ่มประเภทใหญ่ ได้แก่ 1) สมาชิกที่มีประสบการณ์การส่งออกแล้ว 2) สมาชิกที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการส่งออก 3) สมาชิกประภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP) และ 4) สมาชิกประเภทกลุ่มธุรกิจบริการ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครสมาชิกได้ที่ http://www.ditp.go.th/Exporter/Intro.htm

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภา ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสมาคมการค้าที่สำคัญของไทยตามประเภทสินค้าที่ต้องการส่งออก อาทิ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมอาหารแช่แข็งไทย เป็นต้น

สำหรับบทความตอนที่ 2 นี้ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทราบวิธีการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกสินค้าไทย และทราบกฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้าที่จะส่งออกจากไทยได้ในระดับหนึ่งแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงการเตรียมสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการส่งออกไปยังจีน เร็วๆ นี้

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

บทความในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงกฎระเบียบของไทยเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า ซึ่งครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับประเภทสินค้าที่สามารถส่งออกได้ และสินค้าที่มีการกำหนดมาตรฐานและมาตรการการส่งออก ตลอดจนได้แนะนำถึงการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย โดยหากได้ศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและเตรียมตัวพร้อมที่จะส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไป คือ การจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกจากไทยและนำเข้าสู่จีน

ในการจัดเตรียมเอกสาร ผู้ส่งออกไทยต้องศึกษาว่า เอกสารใดที่หน่วยงานไทยจะตรวจสอบก่อนปล่อยสินค้าออกจากไทย และเอกสารใดที่หน่วยงานจีนจะตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้าสู่จีน ตลอดจนหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบออกเอกสารดังกล่าวให้กับผู้ส่งออกของไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอบทความตอนที่ 3 เรื่อง “จัดเตรียมเอกสารก่อนส่งออกไปจีน” สำหรับให้ผู้ส่งออกไทยได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นและเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการส่งออกสินค้าไปจีน

ก่อนออกจากไทย.. เอกสารใดต้องใช้บ้าง?

โดยทั่วไปแล้ว ก่อนการส่งสินค้าออกจากไทยจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบกับการส่งออกสินค้านั้นๆ เช่น ใบอนุญาตส่งออก ใบรับรองมาตรฐานสินค้า ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในการผ่านพิธีการทางศุลกากรของไทย หากจัดเตรียมไม่ครบศุลกากรไทยจะไม่อนุญาตให้นำสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าแต่ละประเภทจะมีขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารที่แตกต่างกัน และหน่วยงานไทยผู้รับผิดชอบด้านการออกเอกสารดังกล่าวก็แตกต่างกันด้วย อาทิ ปลาน้ำจืด จะต้องขอใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำจาก กรมประมง น้ำตาล จะต้องใบอนุญาตส่งออกจากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผลิตภัณฑ์ยา จะต้องขอใบรับรองวิธีการ ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานยาจากกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ เป็นต้น โดยข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารการส่งออกแบ่งตามรายการสินค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th เมนูหลัก “กฎระเบียบ” เมนูย่อย “กฎระเบียบขั้นตอนการส่งออกรายสินค้า” หรือสามารถคลิกหมวดหมู่รายการสินค้าดังต่อไปนี้ เพื่อลิงค์ไปยังเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการค้าฯ ในหน้ากฎระเบียบการจัดเตรียมเอกสารส่งออกและหน่วยงานที่รับผิดชอบออกเอกสาร

สินค้าอาหาร

  • อาหาร
  • เครื่องดื่ม

สินค้าเกษตร

  • ไม้ดอก ไม้ประดับ
  • ข้าว
  • ยาง

สินค้าไลฟ์สไตล์ / OTOP

  • เฟอร์นิเจอร์
  • ของใช้ในบ้าน
  • ของขวัญและเครื่องตกแต่งบ้าน
  • ของเล่น
  • เครื่องเขียนและสิ่งพิมพ์

สินค้าอุตสาหกรรม

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์
  • วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง
  • ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า
  • พลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์
  • เครื่องจักรกล
  • เชื้อเพลิง

สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม

  • เคมีภัณฑ์
  • เครื่องสำอาง
  • ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม

สินค้าอื่นๆ

  • ผลิตภัณฑ์สำหรับทารก
  • เบ็ดเตล็ด
  • ธุรกิจบริการ

สินค้าแฟชั่น

  • อัญมณีและเครื่องประดับ
  • เครื่องหนัง
  • รองเท้า
  • สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
มีเอกสารใด.. ที่ต้องใช้ผ่านด่านจีน?

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 การส่งออกสินค้าไปยังจีนนอกจากจำเป็นต้องเตรียมสินค้าให้ได้ตามข้อกำหนดทางการจีนแล้ว ยังจะต้องจัดเตรียมเอกสารอื่นๆ ที่ต้องยื่นขอตั้งแต่อยู่ที่ไทยเพื่อใช้ในจีนอีกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากจัดเตรียมเอกสารสำหรับผ่านพิธีการศุลกากรฝั่งไทยตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ยังต้องเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบคุณภาพ ควบคุมและกันกันโรคของจีน ณ ด่านจีน (CIQ) ด้วย อาทิ

หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ประเภท Form E

สินค้าส่งออกจากไทยที่ต้องการใช้สิทธิลดภาษีนำเข้าจีนตามเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีจีน – อาเซียนนั้น จะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ประเภท ‘Form E’ ซึ่งเป็นการรับรองว่า สินค้าที่จะส่งออกดังกล่าวประกอบด้วยวัตถุดิบภายในประเทศ มีการผลิตหรือผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตภายในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการส่งออกสามารถยื่นขอหนังสือรับรองดังกล่าวได้จากหน่วยงานไทยที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่

  1. กรมการค้าต่างประเทศ (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ www.dft.go.th เมนูหลัก “บริการจากกรม” เมนูย่อย “บริการอิเล็กทรอนิกส์” หัวข้อ “ระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า” หัวข้อย่อย “ดาวน์โหลด”)
  2. หอการค้าแห่งประเทศไทย (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ http://www.thaichamber.org เมนูหลัก “TCC SERVICES” เมนูย่อย “รับรองเอกสารเพื่อการส่งออก C/O”)
  3. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ www.fti.or.th เมนูหลัก “ผลิตภัณฑ์และบริการ” เมนูย่อย “ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า”)

ใบรับรองมาตรฐานสินค้าอื่นๆ เฉพาะรายการ

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 ถึงเรื่องข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าจีน ซึ่งต้องมีการยื่นขอใบรับรองต่างๆ ก่อน เช่น ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง ใบอนุญาตนำเข้ายางพาราหรือสินค้าหมวดพิเศษ ใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น โดยสามารถศึกษาระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานและรายละเอียดของใบรับรองต่างๆ ที่ทางการจีนกำหนดได้ที่เว็บไซต์ www.aqsiq.gov.cn หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) โทรศัพท์ (02) 237-7740 เว็บไซต์ www.ccicthai.com

ใบรับรองเครื่องหมาย CCC Mark (China Compulsory Certificate)

“CCC Mark” เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าอุตสาหกรรมที่จะส่งเข้าสู่ประเทศจีน เพื่อจำหน่ายหรือใช้ในกระบวนการผลิตต่อ ซึ่งจะต้องตีประทับบนตัวสินค้านั้นๆ โดยกำหนดให้ใช้กับสินค้า 10 ประเภท ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • ผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสาโทรคมนาคม
  • อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย
  • รถยนต์
  • วัสดุก่อสร้าง
  • ผลิตภัณฑ์ยางพารา
  • เครื่องจักรกลการเกษตร
  • กระจกนิรภัย
  • เคื่องดนตรี / ของเล่น
  • อุปกรณ์การแพทย์

ทั้งนี้ ใบรับรองสินค้าประเภทต่างๆ ข้างต้นจะต้องยื่นขอและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานจีน โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นขอ CCC Mark และหน่วยงานที่รับผิดชอบการออกใบรับรองได้ที่

1) ศูนย์รับรองคุณภาพแห่งประเทศจีน http://www.cqc.com.cn เมนูหลัก “Certification” หัวข้อ “Product Certification”

2) ศูนย์ความรู้เพื่อการค้าและการลงทุนกับจีน http://www.chineselawclinic.moc.go.th เมนู “การขอฉลากสินค้า” หัวข้อ “มาตรฐานบังคับ CCC Mark”

รับรองลายมือชื่อ.. สำหรับหนังสือที่ต้องแปล

เอกสารบางประเภทที่ออกจากฝั่งไทยและต้องการนำเข้าไปใช้ในจีน จำเป็นจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และ/หรือรับรองว่า ลายมือชื่อ/ตราประทับที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อและตราประทับของผู้ที่มีอำนาจลงนามของหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าวจริง ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวง การต่างประเทศ โดยเอกสารที่อาจต้องทำการรับรองก่อนใช้ในจีน อาทิ

หนังสือรับรองจากหน่วยงานไทย

หนังสือรับรองที่กล่าวในข้างต้น อาทิ ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งออกโดยหน่วยงานไทย

เอกสารทางการค้า

เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งทางการจีนอาจเรียกตรวจสอบสำหรับกรณีนำเข้าสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่มีข้อกำหนดมาตรการ ทางการค้า อาทิ สินค้ามีโควต้า เป็นต้น

หมายเหตุ :

(1) ศึกษารายละเอียดการเตรียมเอกสารเพื่อขอยื่นคำร้องขอรับรองเอกสารและค่าธรรมเนียมการรับรองของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้ที่ http://www.consular.go.th เมนู “บริการ” หัวข้อ “รับรองเอกสาร”

(2) หลังจากที่กรมการกงสุลรับรองลายมือชือของเอกสารแล้ว จะต้องผ่านการรับรองลายมือชื่ออีกครั้งจากหน่วยงานจีนที่อยู่ในไทยก่อน กล่าวคือ สถานทูตจีนหรือสถานกงสุลจีนที่ตั้งอยู่ในไทย โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบริการรับรองเอกสาร รับรองลายมือชื่อ ได้ที่ http://th.china-embassy.org/th/lsfw/gzrz/t571146.htm

สำหรับบทความในตอนที่ 3 นี้น่าจะทำให้ผู้ส่งออกไทยทราบข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ประกอบ การส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนในเบื้องต้นแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงข้อมูลเกี่ยวกับ การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร เร็วๆ นี้

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

บทความในตอนที่ผ่านมาได้อธิบายถึงการจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน ซึ่งมีทั้งเอกสารที่ศุลกากรไทยใช้ตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเอกสารที่ศุลกากรจีนใช้ตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้าสินค้าสู่จีน ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เตรียมเอกสารทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว คือ การดำเนินการเพื่อจัดส่งสินค้าจากไทยสู่จีน

สำหรับขั้นตอนการขนส่งสินค้านั้น ผู้ส่งออกจำเป็นจะต้อง ศึกษาข้อกำหนดการส่งมอบสินค้า (Incoterms) รวมถึงการประกันภัยสินค้า ในกรณีที่ Incoterms ครอบคลุมความรับผิดชอบด้านประกันภัยถึงผู้ส่งออกด้วย อีกทั้งการผ่านพิธีศุลกากรของทั้งฝั่งไทยและฝั่งจีน โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวผ่านบทความตอนที่ 4 เรื่อง “การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร” ซึ่งเป็น ตอนจบของบทความชุด How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

“Incoterms” รู้จักไว้.. เลือกใช้ตามความเหมาะสม

ระหว่างการตกลงซื้อขายสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องหารือกับผู้ซื้อแล้วว่าจะใช้เงื่อนไขการมอบสินค้า (Incoterms) แบบไหน โดยแต่ละ Incoterms ได้กำหนดให้ผู้ขายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจว่าจะส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อในลักษณะใด โดยปัจจุบันสภาหอการค้านานาชาติ (ICC: International Chamber of Commerce) ได้กำหนด Incoterms ล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2010 ไว้เป็นแนวทางสำหรับคู่ค้าใช้พิจารณาเลือกใช้รวมทั้งสิ้น 10 ประเภท ได้แก่

EXW (Ex Works)

ผู้ขายรับภาระจัดเตรียมสินค้าสำหรับส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขาย (ส่งมอบ ณ โรงงาน) โดยผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดกระบวนการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง

FCA (Free Carrier)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งซึ่งกำหนดโดยผู้ซื้อ โดยผู้ขายต้องทําพิธีการส่งออก รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและความเสี่ยงภัยตลอดระยะการขนส่งจากสถานที่ของผู้ขายไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งด้วย ขณะที่ผู้ซื้อจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนสินค้าและ ความเสี่ยงภัยไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง

FAS (Free Alongside Ship)

ผู้ขายรับภาระนําสินค้าส่งไปยังกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนำสินค้าของขึ้นเรือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ความเสี่ยงภัยในการนำของขึ้นเรือและระหว่างขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมถึงต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกเองด้วย

FOB (Free On Board)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกด้วย ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว

CFR (Cost and Freight)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว

CIF (Cost, Insurance & Freight)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายจะต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก อีกทั้งจ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง

CPT (Carriage Paid To)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายจะรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้าด้วย ขณะที่ผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าถูกส่งมอบให้ แก่ผู้รับขนส่งสินค้า ณ เมืองท่าต้นทาง

CIP (Carriage and Insurance Paid To)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง

DAT (Delivered At Terminal)

เป็นเทอมใหม่แทน DEQ โดยผู้ขายตามเทอม DAT รับภาระขนถ่ายสินค้าลงจากยานพาหนะที่บรรทุกไปไว้ยังสถานที่ที่ผู้ซื้อจัดไว้ ณ อาคารขนถ่ายสินค้าที่ท่าปลายทางหรือสถานที่ที่ระบุไว้

DAP (Delivered At Place)

เป็นเทอมใหม่แทน DAF , DES , DEQ และ DDU โดยผู้ขายตามเทอม DAP ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ยกเว้นค่าภาษีและพิธีการนำเข้า รวมถึงจะต้องรับความเสี่ยงภัยจนสินค้าถึงจุดหมายปลายทาง

DDP (Delivered Duty Paid)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ปลายทางของผู้ซื้อ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ค่าประกันภัยขนส่งสินค้า รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายในการนําของลงจากเรือและค่าขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ ผู้ซื้อระบุไว้ ตลอดจนต้องดําเนินพิธีการนําเข้าสินค้าและจ่ายค่าภาษีนําเข้าแทนผู้ซื้อด้วย

หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Incoterms ได้ที่เว็บไซต์ www.livingstonintl.com เมนู Resources เลือก Shipping หัวข้อ “Incoterms® 2010”

ขนส่งออกไทย.. ติดต่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์

สำหรับเรื่องการขนส่งสินค้าออกจากไทยนั้น ตามปกติแล้ว ผู้ส่งออกจะติดต่อกับบริษัทโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยดำเนินการขนส่งสินค้าตามเงื่อนไขที่ได้เจรจาไว้กับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าในจีน โดยบริการของบริษัทโลจิสติกส์มีตั้งแต่การติดต่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพื่อดำเนินการเรื่องการจองระวางเรือ (หรือพื้นที่ระวางสินค้าทางบก/อากาศ) การบรรจุสินค้า การขนส่ง การดำเนินพิธีศุลกากรขาออกจากไทย การจัดการเกี่ยวกับเอกสารส่งออกและนำเข้า หรือการประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท Freight Forwarder บางรายอาจรับทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดหาและจัดการขนส่งสินค้าของผู้ส่งออกไปยังเมืองท่าปลายทาง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสินค้า หรือทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยตรง ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operator) หรือเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่เจ้าของเรือ (Non-Vessel Operating Common Carrier : NVOCC) ซึ่ง Freight Forwarder จะมีสถานะเสมือนหนึ่งผู้รับขนส่งสินค้าที่สามารถจะลงนามในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ได้ด้วย

ผู้ส่งออกสามารถค้นหารายชื่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและบริษัทชิปปิ้งได้ที่

  1. สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย http://www.ctat.or.th เมนูรายชื่อสมาชิก
  2. สำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.tradelogistics.go.th เลือกเมนูค้นหา LSP- Logistics Service Provider
  3. ฝ่ายโลจิสติกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbdlogistics.com/search.html หน้าค้นหาผู้ประกอบการ โลจิสติกส์
ติดต่อประกันภัย.. ตามเงื่อนไข Incoterm

สำหรับเงื่อนไขเทอมการค้า (Incoterm) CIF และ CIP นั้น ผู้ขาย (ผู้ส่งออก) มีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึงเรื่องการประกันภัยระหว่าง การขนส่งสินค้าด้วย ดังนั้น ก่อนการขนส่งจึงต้องติดต่อกับบริษัทผู้ให้บริการประกันภัยขนส่งสินค้าเพื่อจัดซื้อประกันภัยดังกล่าว

การประกันภัยสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งกำหนดขอบเขตการคุ้มครองครอบคลุมถึงเรื่องการประกันความเสียหายแก่เรือ การประกันภัยตัวเรือ (Hull) และทรัพย์สิน หรือการประกันภัยสินค้า (Cargo) ที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล รวมถึงยังขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางบกและทางอากาศ ซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย

ทั้งนี้ ผู้ซื้อประกันภัยสามารถเลือกเงื่อนไขและขอบเขตความคุ้มครองตามชุดเงื่อนไขการประกันภัยที่ในตลาดการประกันภัยทางทะเลและขนส่งของประเทศไทย (อ้างอิงใช้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกลุ่มผู้รับประกันภัยที่ใช้ ในอังกฤษ) โดยมีชุดเงื่อนไขความคุ้มครองที่นิยมเลือกใช้รวม 3 ชุด ซึ่งมีขอบเขตความเสี่ยงภัยที่คุ้มครองลดหลั่นลงไปตามลำดับ ได้แก่ The Institute Cargo Clauses ‘A’ Clauses ‘B’ และ Clauses ‘C’ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และการขอรับเงินประกันภัยได้ที่ www.oic.or.th/th/elearning/index2.php และสามารถค้นหารายชื่อบริษัทที่รับประกันวินาศภัยทางทะเลได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย www.thaigia.com/Member.html

“E-Customs” บริการใหม่.. ผ่านพิธีศุลกากรไทยสะดวกสบาย

ปัจจุบัน กรมศุลกากรไทยใช้กระบวนการผ่านพิธีการทางศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาติดต่อ ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลด้านการส่งออกแบบไร้เอกสาร (paperless) พร้อมลงรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (digital signature) ของเจ้าของลายมือชื่อ โดยเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรยืนยันและตอบรับความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ส่งออกยื่นผ่านระบบแล้ว ก็ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารผ่านพิธีการที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร

การผ่านพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การจัดทำใบขนสินค้าขาออก 2) การบรรจุสินค้าและการจัดทำใบกำกับการขนย้ายสินค้า 3) การขนย้ายสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุก ณ ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งออก 4) การตัดบัญชีใบกำกับการขนย้าย และ 5) การรับบรรทุกของส่งออก โดยสามารถศึกษาวิธีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนเพิ่มเติมได้ที่ www.cdscom.co.th/contents/public/paperlesscustoms/Customs/export.pdf

ทั้งนี้ วิธีการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกกระทำได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกด้วยตนเอง 2) ผู้ส่งออกมอบหมายให้ตัวแทนออกของ (Customs Broker) เป็นผู้ส่งข้อมูลแทน 3) ผู้ส่งออกใช้บริการที่เคานท์เตอร์กรมศุลกากรในการส่งข้อมูล และ 4) ผู้ส่งออกยื่นใบขนสินค้าขาออก พร้อมแนบรายละเอียดข้อมูลใบขนสินค้าและชำระค่าธรรมเนียมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ด่าน/ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งของออก โดยทั่วไปผู้ส่งออกนิยมให้ “ตัวแทนผู้ออกของ” หรือ Custom Broker ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากรแทนตนเอง โดยสามารถค้นหารายชื่อตัวแทนผู้ออกของอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย www.eca.or.th

นอกจากนี้ บริษัทชิปปิ้งบางรายอาจมีสถานะเป็น Customs Broker ด้วย ผู้ส่งออกจึงอาจพิจารณาเลือกใช้บริการของบริษัทชิปปิ้งดังกล่าวในการดำเนินการพิธีการศุลกากรแทนผู้ส่งออกได้ โดยบริษัทชิปปิ้งจะช่วยจัดทำ ใบขนสินค้า ยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากรเพื่อให้มีการตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเมื่อสินค้าส่งถึงที่หมาย ณ ประเทศจีนแล้ว ก็ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีนเพื่อส่งมอบสินค้าที่นำเข้ามาให้แก่ผู้นำเข้าได้ด้วย

ผ่านพิธีการขาเข้า.. ช่วยแบ่งเบาด้วย “Customs Broker”

เมื่อสินค้าส่งถึงท่าเรือ/ท่าอากาศยานของจีนแล้ว จำเป็นจะต้องมีตัวแทนผู้ออกของ (Customs Broker) ในจีนที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรจีน สำหรับทำหน้าที่ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีน เพื่อจัดการให้สินค้าได้รับอนุญาตตรวจปล่อยผ่านเข้าอาณาเขตของประเทศจีนจากศุลกากรจีนก่อน แล้วจึงจะสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้รับ (ผู้ซื้อ) ได้ในลำดับต่อไป

การผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าประเทศจีนนั้น อาจพิจารณาใช้บริการของบริษัท Customs Broker ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นจีน หรือบริษัทจีนที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ฝั่งไทย ทั้งนี้ หากคู่ค้าจีนของผู้ส่งออกเป็นผู้นำเข้าสินค้าในจีนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว อาจสอบถามคู่ค้าจีนถึงรายชื่อบริษัท Customs Broker ในจีนที่รับดำเนินพิธีการทางศุลกากรจีนได้เช่นกัน

หลังส่งสินค้าออกจากไทย.. อย่าลืมไปขอคืนภาษีอากร

ตามนโยบายสนับสนุนการส่งออกของประเทศไทย กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าจากไทยไปต่างประเทศสามารถยื่นเรื่องกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอคืนภาษี/อากรบางประเภทได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ซื้อมาจากในไทย/สินค้าที่ผลิตหรือใช้วัตถุดิบในไทย และภาษี/อากรนำเข้าสำหรับสินค้าส่งออกที่ใช้วัสดุจากต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น หากได้ดำเนินการส่งสินค้าออกจากไทยไปจุดหมายปลายทางที่จีนเรียบร้อยแล้ว ผู้ส่งออกอย่าลืมดำเนินการเพื่อขอคืนภาษีอากรดังกล่าวด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

หน่วยงานที่รับผิดชอบกรมสรรพากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษีสินค้าหรือวัตถุดิบที่หาซื้อจากในไทย โดยราคาที่ซื้อมามีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
วีธีการยื่นขอคืนภาษียื่นแบบแสดงรายการเพื่อชําระภาษีและขอคืนภาษีมูลค่า รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และใบกํากับภาษีที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อก็จะสามารถขอคืนภาษีได้โดยสามารถขอคืนได้ในรูปแบบเครดิตภาษี (นำส่วนต่างหักลบจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระในเดือนถัดไป) หรือคืนในรูปแบบเงินสดผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เมนู “ความรู้เรื่องภาษี” เมนูย่อยด้านซ้าย “ผู้ประกอบการส่งออก”

2. การขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ

ตามมาตรา 19 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ได้กำหนดให้ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศสามารถขอคืนค่าภาระภาษีอากรต่างๆ ได้ อาทิ อากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งผู้นำของเข้าได้เสียหรือวางประกันไว้ขณะนำเข้า โดยเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้นำวัตถุดิบนั้นไปผลิตผสม ประกอบหรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออกแล้ว ก็จะได้รับการคืนอากรโดยจะคำนวณค่าภาษีอากรที่คืนให้ตามสูตรการผลิต ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตและส่งออกภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้นำเข้า และต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบกรมศุลกากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษี1. วัตถุดิบที่เห็นได้ชัดว่ามีอยู่ในของที่ผลิตเพื่อส่งออก
2. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยตรงที่มีอยู่ในของที่ผลิตส่งออก แต่ไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน 
3. วัตถุดิบจำเป็นที่ใช้ในการผลิต
วีธีการยื่นขอคืนภาษีผู้นำของเข้าจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ (แบบ กศก.29) ต่อส่วนคืน และชดเชยอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ซึ่งต้องแจ้งความจำนงต่อกรมศุลกากร และยื่นเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถศึกษาขั้นตอนและเงื่อนไขการยื่นขอคืนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร www.customs.go.th เมนูด้านซ้าย “สิทธิประโยชน์ทางศุลกากร” หัวข้อ “การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ”

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความชุดเรื่อง How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!! ทั้ง 4 ตอน จะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดจีน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจมีคำถามเพิ่มเติมประการใด ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนทั้ง 9 แห่งมีความยินดีและพร้อมให้บริการข้อมูลทุกท่านเสมอ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน