นครหนานหนิงเล็งทดลองใช้ดิจิทัลหยวน (e-CNY) ในงาน China-ASEAN Expo ปีนี้

11 Aug 2023

หลังจากที่“นครหนานหนิง” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้รับอนุมัติเป็นจุดทดลอง ‘ดิจิทัลหยวน’ หรือ e-CNY เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา นครหนานหนิงได้เริ่มส่งเสริมให้ประชาชนทดลองใช้‘หยวนดิจิทัล’ ใน 9 กรอบสถานการณ์ (Scenarios) ได้แก่ การค้าปลีกในย่านธุรกิจ โรงอาหารอัจฉริยะ การเดินทางอัจฉริยะ นิคมอัจฉริยะ การแพทย์อัจฉริยะ การชำระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ การใช้บนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต และธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน

ปัจจุบัน บริการชำระเงินด้วยดิจิทัลหยวนได้เริ่มแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในนครหนานหนิง โดยสามารถใช้ดิจิทัลหยวนในการช้อปปิ้งการจับจ่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต การสั่งอาหารออนไลน์การโดยสาร รถไฟฟ้าใต้ดิน การชำระค่าเช่าที่พักอาศัยของการเคหะ การชำระภาษีเงินได้สินเชื่อธนาคาร และการชำระค่ารักษาพยาบาล

จากข้อมูลพบว่า ช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 นครหนานหนิงมีจำนวนผู้เปิดใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัล 721,000 ราย มีธุรกรรมดิจิทัลหยวนสะสม 794,000 รายการ

 

ไขข้อข้องใจ…ดิจิทัลหยวน’ต่างกันกับ WeChat Pay และ Alipay อย่างไร พูดง่าย ๆ ก็คือ WeChat Pay และ Alipay เป็นเพียงกระเป๋าตังค์ดิจิทัล”หรือ e-Wallet เท่านั้น ขณะที่ e-CNY เป็นเงินหยวนในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจีน ซึ่งสามารถนำไปชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเสมือนเงินสดและการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์

 

กระเป๋าตังค์ดิจิทัลหยวนแบ่งตามผู้ใช้งานได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ กระเป๋าเงินบุคคลธรรมดา และกระเป๋าเงินนิติบุคคลทั้งนี้ ผู้ใช้งานทั่วไปต้องขอเปิดการใช้งานดิจิทัลหยวนในแอปพลิเคชันของธนาคาร แลกเงินหยวนเป็นดิจิทัลหยวน และเพิ่มบัญชีดิจิทัลหยวนของธนาคารไว้ในแอปพลิเคชันกลางที่ชื่อว่า e-CNY หรือ 数字人民币 (คล้ายแอปพลิเคชัน e-Wallet) โดยดิจิทัลหยวนที่เก็บไว้ในแอปพลิเคชันไม่มีดอกเบี้ยและไม่มีค่าธรรมเนียมในการรับ-ชำระเงิน ที่สำคัญ คือ ใช้งานได้แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ขณะที่นิติบุคคลสามารถสมัครผ่านแพลตฟอร์ม iGTB Net หรือเดินทางไปที่ธนาคารที่กำหนด

ปัจจุบัน ธนาคารที่มีบริการกระเป๋าเงินดิจิทัลหยวนในนครหนานหนิง อาทิ ธนาคาร ICBC (工商银行) ธนาคาร Agricultural Bank of China (农业银行) ธนาคาร Bank of China (中国银行) ธนาคาร China Construction Bank (建设银行) ธนาคาร Bank of Communication (交通银行) ธนาคาร Postal Savings Bank of China (中国邮政储蓄银行) ธนาคาร China Merchants Bank (招商银行) ธนาคาร Industrial Bank (兴业银行) ธนาคาร Guangxi Beibu Gulf Bank (广西北部湾银行) ธนาคารRural Credit Cooperative of China (农信社) ธนาคาร Guilin Bank (桂林银行) และธนาคาร Bank of Liuzhou (柳州银行)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า… นอกจากธนาคารพาณิชย์แล้ว ความร่วมมือของแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกแรงสนับสนุนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการใช้ดิจิทัลหยวน ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน Meituan (美团) แอปฯ ที่พัฒนาขึ้นจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่จนมีฟังก์ชันครบครันได้จัดแคปเปญแจก ‘อั่งเปาดิจิทัลหยวนแทนเงินสด’ เพื่อใช้สำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มของ Meituan ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบัตรชมภาพยนตร์ การสั่งซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตของแพลตฟอร์ม การจองโรงแรมที่พัก การเช่าจักรยานสาธารณะ การเรียกรถแท็กซี่และการซื้อตั๋วเครื่องบิน/รถไฟ และอื่นๆ

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานกิจการการเงินหนานหนิง หรือ Nanning Financial Work Office (南宁市金融办) เปิดเผยว่า เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศการชำระเงินด้วยดิจิทัลหยวน และขยายผลการดำเนินงานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จากนี้ไป นครหนานหนิงจะมุ่งให้ความสำคัญไปที่การพัฒนารูปแบบการทดลองใช้ดิจิทัลหยวน การใช้ดิจิทัลหยวนเพื่อการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน การแจกคูปองดิจิทัลหยวนของรัฐบาล รวมถึงการสัมผัสประสบการณ์ใช้จ่ายด้วยดิจิทัลหยวนในงาน China-ASEAN Expo ปีนี้ด้วย

 

นครหนานหนิงกำลังวางแผนส่งเสริมการใช้ดิจิทัลหยวนในงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2566 ด้วย นับเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการใช้ดิจิทัลหยวนที่เป็น อัตลักษณ์หนานหนิง

 

บีไอซี เห็นว่า หลายปีมานี้ ‘ดิจิทัลหยวน’ เป็นกระแสใหม่ในสังคมจีน และกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ ‘พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน’ และ ‘ระบบการค้าต่างประเทศ’ ซึ่งผู้ประกอบการไทยและคนไทยที่เดินทางไปประเทศจีนก็สามารถได้รับผลประโยชน์จากนี้ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่จะมา China-ASEAN Expo

ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังธนาคารจีนท้องถิ่น (Bank of China) ยืนยันว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางไปยังจีนระยะสั้น สามารถสมัครใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัลหยวนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารในจีน เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของธนาคาร และผูกบัตร Visa เข้ากับแอปพลิคชันของธนาคาร (ตั้งแต่อยู่ที่ไทย) โดยประโยชน์สำคัญที่จะได้รับเป็นเรื่องของความปลอดภัย (ไม่ต้องพกเงินสดติดตัว) และความสะดวกสบาย (ไม่ต้องหาที่แลกเปลี่ยนเงินหยวน)

ในฐานะที่เป็น Gateway to ASEAN เขตฯ กว่างซีจ้วงกำลังดำเนินนโยบายการพัฒนาให้กว่างซีเป็นเขตนำร่องการทดลองใช้ดิจิทัลหยวนที่มุ่งสู่อาเซียน เชื่อว่า ในอนาคต ดิจิทัลหยวนจะก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น และการทดลองใช้ ‘ดิจิทัลหยวน’ ที่นครหนานหนิงในบริบทจีน-อาเซียน จะได้รับการขยายผลในระดับประเทศในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมและปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบการเงินระหว่างประเทศของจีน

 

 

จัดทำโดย : นางสาวฉิน ยวี่อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์http://gx.people.com.cn (人民网) วันที่ 25 กรกฎาคม 2566
เว็บไซต์ https://dsjfzj.nanning.gov.cn (广西南宁市大数据发展局) วันที่ 27เมษายน 2566

E-CNYดิจิทัลหยวน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน