นครฉงชิ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ของจีน

30 May 2022

ปัจจุบัน รถจักรยานยนต์ไม่ได้เป็นแค่พาหนะบนท้องถนนอีกต่อไป แต่ยังเป็นแฟชั่น ของสะสม และเป็นสังคมสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ สมาคมหอการค้ารถจักรยานยนต์จีนเปิดเผยว่า ในปี 2564 จีนมียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 20 ล้านคัน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ในขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงความมั่นคงจีนระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ 2.71 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปี 2564 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 152 เมื่อเทียบกับปี 2563

ข้อมูลจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ T-mall และ Taobao ระบุว่า ในปี 2564 มูลค่ายอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ อาทิ หูฟังติดหมวกกันน็อค แว่นครอบตา เครื่องบันทึกวิดีโอและที่วางโทรศัพท์มือถือสำหรับรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2563 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ผลิตภัณฑ์ขายดีบนแพลตฟอร์ม T-mall ได้แก่ ชุดสำหรับนักแข่งรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่ กระเป๋า สติ๊กเกอร์และ ฟิล์มสำหรับติดรถจักรยานยนต์ ฯลฯ

 

นครฉงชิ่ง ผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ของจีน

นครฉงชิ่งเป็นผู้นำในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในจีนตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ในอดีตรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในนครฉงชิ่ง มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ

ปัจจุบัน นครฉงชิ่งมีวิสาหกิจรถจักรยานยนต์ 36 แห่ง และวิสาหกิจด้านชิ้นส่วนและอะไหล่มากกว่า 450 แห่ง มีกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ 10 ล้านคันและเครื่องยนต์ 20 ล้านเครื่องต่อปี และมีความสามารถในการผลิตแบบครบวงจร มีปริมาณการผลิตเทียบเป็น 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ นอกจากนี้ ในปี 2564 นครฉงชิ่งมียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์สูงเป็นอันดับ 4 ของจีน

คณะกรรมการเศรษฐกิจและสารสนเทศนครฉงชิ่ง เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิสาหกิจรถจักรยานยนต์ในนครฉงชิ่งได้เร่งการเปลี่ยนแปลง ยกระดับ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และห่วงโซ่อุตสาหกรรม โดยบรรลุ ผลสำเร็จ และได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Loncin, Zongshen และ Lifan บริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ยักษ์ใหญ่ในนครฉงชิ่ง รวมถึง Gaojin และ Jialing บริษัทหน้าใหม่ในนครฉงชิ่ง ต่างก็กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

บนแพลตฟอร์มโต่วอิน (Tiktok เวอร์ชันจีน) มีผู้รับชมวิดีโอเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์กว่า 5 หมื่นล้านครั้ง ในขณะที่แพลตฟอร์ม “เสี่ยวหงชู” (小红书) โซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีนมีบทความเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์มากกว่า 490,000 บทความ อาทิ บทความแนะนำการเลือกรถจักรยานยนต์ แฟชั่นการแต่งกายสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ รูปถ่าย และคำแนะนำสำหรับมือใหม่หัดขับ ฯลฯ โดยในจำนวนนั้นเป็นบทความเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในนครฉงชิ่งกว่า 5,000 บทความ

นาย Zhong Miao หัวหน้าสโมสรรถจักรยานยนต์อู่จี๋ในนครฉงชิ่งซึ่งมีสมาชิกสโมสรประมาณ 400 คนเปิดเผยว่า สมาชิกสโมสรฯ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี เมื่อก่อนสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเพศชาย แต่ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกผู้หญิงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ T-mall และ Taobao ซึ่งระบุว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ซื้อรถจักรยานยนต์และอุปกรณ์มีอายุประมาณ 25-34 ปี ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้ใช้วัยรุ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสัดส่วนของผู้ใช้เพศหญิงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

โอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมจักรยานยนต์ในไทย

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจเดลิเวอรี่และธุรกิจส่งของเติบโตมากขึ้นและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลโดยตรงให้ความต้องการรถจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2565 ยังคงเป็นบวก นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ระบุว่า ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นร้อยละ 2.0 – 4.0 และเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.0 – 5.0 ต่อปีในปี 2566 – 2567

ในช่วงที่ผ่านมา การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ภาคอีสานของไทยเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น โดยตลาดรถจักรยานยนต์ไทยพึ่งพาตลาดจากต่างจังหวัดมากกว่าร้อยละ 70 และตลาดภายในประเทศประมาณร้อยละ 80

ความต้องการรถจักรยานยนต์ที่มากขึ้นของทั้งไทยและจีน กอปรกับประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตจักรยานยนต์ สำคัญอันดับต้น ๆ ของโลกและเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ในอาเซียน และมีการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบและอุปกรณ์จากจีน จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการผลิตรถจักรยานยนต์และผู้นำเข้า-ส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยที่จะพัฒนาความร่วมมือกับนครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตรถจักรยานยนต์ในจีน อาทิ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต การแลกเปลี่ยนแรงงานศักยภาพ ความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และสิทธิประโยชน์ด้านราคา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของไทยและจีนเติบโตไปได้พร้อม ๆ กัน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565)

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1733120412943503610&wfr=spider&for=pc

 

ขอบคุณรูปภาพจาก Little Redbook

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน