เปิดโมเดลแก้จน “การจัดรูปที่ดิน” ในเมืองหลิ่วโจว

28 Feb 2019

ไฮไลท์

  • “การจัดรูปที่ดิน” เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่รัฐบาลเมืองหลิ่วโจวนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชนบทที่อยู่ห่างไกล โดยวิธีการแลกเปลี่ยนที่ดินและปรับปรุงรูปร่างที่ดินเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัย โดยพัฒนาพื้นที่ที่จะปรับปรุงโครงสร้างของการใช้ที่ดินองค์รวม
  • ภาครัฐจัดสรรเงินเพื่อรื้อถอนบ้านเก่าทรุดโทรมที่อยู่กระจัดกระจายและก่อสร้างบ้านใหม่ในพื้นที่จัดสรร โดยนำที่ดินเดิมไปแลกบ้านใหม่ ซึ่งชาวชนบทที่เข้าร่วมโครงการสามารถย้ายเข้าไปอยู่ฟรีและมีที่ดินทำการเกษตรเพื่อสร้างรายได้
  • การจัดรูปที่ดินนับเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยสร้างคุณค่าใหม่ให้ที่ดินและกำหนดหน้าที่ใหม่ของการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ที่ดินแบบเข้มข้นและเป็นการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน

 

หลังจากที่ทาง BIC ได้เคยนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จในการขจัดปัญหาความยากจนในพื้นที่ (เกษตร)ชนบทห่างไกลของกว่างซีภายใต้แนวคิด ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และเทคโนโลยีสู่ชนบท เพื่อให้ชาวชนบทมีปัจจัยพร้อมสำหรับการบริหารจัดการภาคการเกษตรและการสร้างอาชีพ โดยเฉพาะการค้าสินค้าเกษตรออนไลน์ไปแล้วนั้น

ในครั้งนี้ BIC ขอแบ่งปันอีกหนึ่งประสบการณ์แก้จนที่น่าสนใจของรัฐบาลกว่างซีกับนโยบายที่เรียกว่า “การจัดรูปที่ดิน” (land consolidation) ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ที่ไทยน่าเรียนรู้

เมืองหลิ่วโจวแม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำและเป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของมณฑล และเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาคตะวันตกของจีน แต่เมืองแห่งนี้ยังมีหมู่บ้านห่างไกลที่กำลังต่อสู้กับปัญหาความยากจนอยู่

การจัดรูปที่ดิน” เป็นนโยบายที่รัฐบาลเมืองหลิ่วโจวนำมาใช้แก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชนบทห่างไกล โดยมีหมู่บ้านต้าเซียน (Daxian Village/大仙村) ในเขตหลิวเป่ย (Liubei District/柳北区) เป็นพื้นที่นำร่อง

การจัดรูปที่ดิน คืออะไร เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การแลกเปลี่ยนที่ดินและปรับปรุงรูปร่างที่ดินเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัย โดยการพัฒนาพื้นที่ที่จะปรับปรุงโครงสร้างของการใช้ที่ดินองค์รวม เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้กับที่ดินและกำหนดหน้าที่ใหม่ของการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ที่ดินแบบเข้มข้นและเป็นการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน

แนวทางการดำเนินการเป็นอย่างไร รัฐบาลเป็นหัวหอกหลักในการลงทุนพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัย โดยจัดสรรเงินเพื่อรื้อถอนบ้านเก่าทรุดโทรม(ที่อยู่กระจัดกระจาย)และก่อสร้างบ้านใหม่ในพื้นที่จัดสรร โดยการนำที่ดินเดิมไปแลกบ้านใหม่ ซึ่งชาวชนบทที่เข้าร่วมโครงการสามารถย้ายเข้าไปอยู่ฟรี (เสียเฉพาะค่าตบแต่งภายในบ้านตัวเอง)

ครอบครัวชาวชนบทที่เคยพักอาศัยอยู่ในบ้านเก่าที่ก่อด้วยดิน สภาพที่อยู่อาศัยแออัด กลิ่นมูลสัตว์เหม็นคลุ้ง ในวันนี้ ครอบครัวพวกเขาได้รับบ้านหลังใหม่ที่มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง ช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิต การจัดรูปที่ดิน โดยแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์เพื่อที่อยู่อาศัยและการเกษตร ทำให้ชาวชนบทมีรายได้จากการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่จัดสรร และยังมีนโยบายการขอสินเชื่อขนาดย่อม (small loan) เพื่อช่วยเหลือชาวชนบทให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วย

ในช่วงเวลา 5 ปี (2555-2560) ที่ผ่านมา กว่างซีประสบความสำเร็จในการลดจำนวนคนยากจนได้ 7.09 ล้านคน เฉลี่ยปีละ 1.41 ล้านคน และในปี 2562 รัฐบาลกว่างซีได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนคนยากจนในมณฑลลงให้ได้อีก 1.05 ล้านคน

 

Related link:
– กว่างซีกับวิธีช่วยเกษตรกรให้พ้นจาก “ความยากจน”

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562
รูปประกอบ www. pixabay.com/ www.liuzhou.gov.cn

แก้จนให้เบ็ดดีกว่าให้ปลาland consolidationการจัดรูปที่ดินแก้ไขปัญหาความยากจน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน