พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนไปตามกระแส Digital China

28 Feb 2018

ชาวจีนมีแนวโน้มใช้ชีวิตแบบดิจิทัลมากขึ้น

    China Internet Network Information Center (CNNIC) เผยแพร่รายงาน China Statistical Report on Internet Development เมื่อเดือน ม.ค. 61 ของ ระบุว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 60 มีผู้ใช้อินเตอร์เนตในประเทศจีนมากถึง 772 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.8 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 โดยเกือบทั้งหมดเป็นการใช้งานอินเตอร์เนตผ่านโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน เช่น แชท อ่านข่าว หาข้อมูล ดูวีดิโอ ฟังเพลง เล่นเกมส์ ชอปปิ้ง ดูแผนที่นำทาง จองตั๋ว จองโรงแรม สั่งอาหาร ชำระเงิน ทำธุรกรรมทางการเงิน


ข้อมูลจาก: China Internet Network Information Center (CNNIC)

Fin Tech แรงดีไม่มีตก

     ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ปี 2560 ที่ผ่านมาจีนเกิดกระแสธุรกิจแนวใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเช่าจักรยานสาธารณะ (bike-sharing) ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงาน การจ่ายเพื่อเนื้อหา (pay for content) เป็นต้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ คือ การชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล (e-payment) ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินได้ด้วยปลายนิ้ว

    

    กระแส Fin Tech (financial technology) หรือเทคโนโลยีทางการเงิน ยังแรงดีไม่มีตก เมื่อเทียบตัวเลขผู้ใช้งานปี 2560 กับ 2559 พบว่า ผู้ใช้บริการในประเทศจีนทั้ง e-payment และ e-banking เพิ่มขึ้น โดย ณ เดือน ธ.ค. 2560 มีจำนวนผู้ใช้บริการ e-payment ในประเทศจีน 527 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 58 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2559) ผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ (ไม่รวมการใช้บริการผ่านมือถือ) 399 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 34 ล้านคน) และ ผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ผ่านมือถือ 370 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 37 ล้านคน) หากเทียบกับจำนวนประชากรจีนทั้งหมดแล้ว (ณ สิ้นปี 2560 มีจำนวนประมาณ1.39 พันล้านคน) 3 ใน 10 คน ใช้บริการ e-payment และ 2 ใน 5 คน ใช้บริการ e-banking

    

    กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (MIIT) เผยว่า ปัจจุบันมูลค่า e-payment จีนสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมูลค่ารวม 10 เดือนแรกของปี 2560 อยู่ที่ 81 ล้านล้านหยวน (หรือ 12.77 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ) มากกว่าปี 2559 ทั้งปี (58.8 ล้านล้านหยวน) และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    

    ด้วย Fin Tech สามารถตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดึงดูดใจ ทำให้พฤติกรรมด้านการเงินของชาวจีนเปลี่ยนไป เช่น ช่วงวันหยุดตรุษจีน 7 วันที่ผ่านมา สำนักข่าวโกลบอลไทม์ (Global Times) รายงานว่านักท่องเที่ยวจีนที่ไปท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มใช้จ่ายผ่าน e-payment มากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ WeChat Pay จะสามารถจ่ายค่าสินค้าและบริการด้วยอัตราเงินหยวนพร้อมรับซองแดงหรือ อั่งเปาดิจิทัลจาก WeChat Pay และสำหรับ Alipay ใช้กลยุทธ์ให้อัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ (preferential rate) แก่นักท่องเที่ยวจีนที่ไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

    

    กระแส Fin Tech ทำให้ชาวจีนไปทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารน้อยลง จนทำให้ช่วง 4 เดือนก่อนหน้านี้ ธนาคารสาขาในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศต้องปิดตัวลงมากกว่า 300 แห่ง และจำนวนตู้ ATM ในจีนเริ่มลดลง โดยธนาคารหลายแห่งเริ่มปรับกลยุทธ์มุ่งสู่ดิจิทัลให้การบริการธุรกรรมแบบออนไลน์ และออกผลิตภัณฑ์ในธุรกิจใหม่ เช่น หลักทรัพย์ ทรัสต์ และ ธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) เป็นต้น

‘นักเรียนไซเบอร์’ Pay for knowledge กระแสใหม่จ่ายเพื่อความรู้

    อีกกระแสหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ การจ่ายเพื่อความรู้ หรือ Pay for knowledge ที่เป็นผลจากกระแส e-payment และ ความนิยมในการบริโภค content ทำให้ปัจจุบันชาวจีนเริ่มผันตัวมาเป็น ‘นักเรียนไซเบอร์’ มากขึ้น เนื่องด้วยมีราคาที่ยอมรับได้ เลือกเวลาได้ตามต้องการ และสามารถปฏิสัมพันธ์ (interactive) กับผู้สอนได้ อีกทั้งลักษณะนิสัยของชาวจีนที่ขยัน สนใจใฝ่เรียนรู้ กอปรกับความกดดันจากสภาพแวดล้อมที่มีภาวะการแข่งขันสูงต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เมื่อผนวกกับมาตราการด้านลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของภาครัฐที่เข้มงวดยิ่งขึ้น จึงทำให้ตลาด Pay for knowledge เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศจีน โดยประเภทของเนื้อหาที่ชาวจีนให้ความสนใจ เช่น วัฒนธรรม การพัฒนาตนเอง การเงิน จิตวิทยา เป็นต้น

    

    ปี 2560 ตลาด Pay for knowledge ของจีนมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านหยวน ผู้นำตลาดในขณะนี้ คือ เวปไซต์ Ximalaya FM ที่มีส่วนแบ่ง ร้อยละ 73 ของตลาด มีผู้ใช้บริการประมาณ 450 ล้านคน และผู้ให้บริการ 5 ล้านช่อง โดย ‘Master Class’ ช่องให้ความรู้ อบรมทักษะต่าง ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ สถาปนิกระดับโลก และดาราฮอลลีวูดเป็นช่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุด



ช่องให้ความรู้ด้านการเงินของ ศ.เฉิน จรื้อหวู่ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินจาก

มหาวิทยาลัยเยล มีผู้เปิดฟังเสียงการสอนแล้วกว่า 10.42 ล้านครั้ง

    หนึ่งในจำนวนช่อง Master Class ที่เป็นที่นิยมอย่างมาก เช่น ช่องให้ความรู้ด้านการเงินโดยศาสตราจารย์ เฉิน จรื้อหวู่ (Chen Zhiwu) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินจาก มหาวิทยาลัยเยล ผู้ที่สนใจสามารถฟังเสียงการสอนของท่านศาสตราจารย์ผ่านแพลตฟอร์มของ Ximalaya ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยบทเรียนแบ่งออกเป็น 12 โมดูล เช่น การเงินเบื้องต้น การกู้ยืม การเงินธุรกิจ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้นและกฎระเบียบ เป็นต้น โดยสถิติ ณ วันที่ 26 ก.พ. 61 เสียงบันทึกของ ศ.เฉิน จรื้อหวู่ (Chen Zhiwu) มีผู้เปิดฟังแล้วทั้งหมด 10.42 ล้านครั้ง

    

    กระทรวงศึกษาธิการจีนได้กำหนดแผนระดับชาติ เพื่อผลักดันให้ประเทศจีนเกิดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แบบเปิดเสรี หรือ Massive Open Online Courses (MOOC) โดยตั้งเป้าหมายจะสร้างหลักสูตรออนไลน์ชั้นเยี่ยมระดับชาติจำนวน 3,000 หลักสูตรภายในปี 2563



ข้อมูลจาก iiMedia Research



ผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมายใหม่ของกระแสดิจิทัล

     ประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี มากขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2559 จีนมีผู้สูงอายุเกินกว่า 230 ล้านคน (ร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมด) และคาดว่า ณ สิ้นปี 2593 จำนวนประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มเป็น 480 ล้านคน หากคำนวณเป็นมูลค่าทางการตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 106 ล้านล้านหยวน หรือเทียบเท่า ร้อยละ 33 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีน



อาสาสมัครกำลังสอนผู้สูงอายุซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ (ภาพจาก: chinanews.com)



    เทคโนโลยีไม่ได้เป็นปัญหาต่อการซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับผู้สูงอายุอีกต่อไป เนื่องจากการพัฒนาของสมาร์ทโฟน แอปพลิเคชันบนมือถือ และ e-payment ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ยิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ด้วยตนเอง สถิติจากแพลตฟอร์ม E-Commerce ชื่อดัง JD.com และ Tmall เปิดเผยข้อมูลว่า ครึ่งปีแรกของปี 2560 ผู้สูงอายุซื้อสินค้าผ่าน JD.com มากขึ้นร้อยละ 78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 และปัจจุบัน Tmall มีลูกค้ากลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งโดยเฉลี่ยซื้อสินค้า 5,000 หยวน/ปี โดยลักษณะการซื้อสินค้ามีทั้ง ลูกซื้อสินค้าสำหรับพ่อแม่ และพ่อแม่ซื้อสินค้าสำหรับลูกหลาน ซึ่งจะมีทั้งสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและสินค้าแฟชั่น

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปธุรกิจต้องปรับตัว

     ยุทธศาสตร์ Digital China เริ่มก่อตัวเป็นรูปธรรมให้ทั่วโลกเป็นที่ประจักษ์ รูปแบบการดำรงชีวิตของชาวจีนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีนี้ “ชีวิตขาดเงินสดได้ แต่ขาดสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เนตไม่ได้” นี่คือคำนิยามใหม่ของชีวิตชาวจีนในเมือง ซึ่งธุรกิจไทยควรจะต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดและเริ่มปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งแนวโน้มกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคนี้คงจะไม่จำกัดเพียงกลุ่มผู้บริโภคในประเทศจีนเท่านั้น แต่ได้เริ่มกระจายไปยังหลายประเทศทั่วโลกด้วย

    

    ตัวเลขการบุกตลาดต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2560 ของ Alipay และ WeChat Pay อยู่ที่ 36 และ 25 ประเทศ/ภูมิภาค ตามลำดับ โดยทั้ง 2 บริษัดทก็ได้เข้ามาเปิดตลาดในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย Alipay ร่วมมือกับบริษัทไทย 7 ราย คือ ทรูมันนี่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ธนาคารกสิกรไทย บัตรกรุงไทย เพย์สบาย พระยาเปย์ และ GHL Thailand ในขณะที่ WeChat pay เข้ามาร่วมมือกับ บริษัท ดิจิตอลเทค แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน)

    

    ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของจีนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยน่าติดตามอย่างใกล้ชิด และศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาและขยายโอกาสทางธุรกิจเตรียมกลยุทธ์ให้ทันพัฒนาการในโลกยุคดิจิทัล เช่น (1) ปรับรูปแบบธุรกิจให้พร้อมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (2) พัฒนาแพลตฟอร์มครบวงจรเพื่อตอบสนองไลฟสไตล์ต่าง ๆ (3) เปิดรับวิธีการชำระเงินแบบ e-payment (4) เปิดตลาดให้ความรู้แบบออนไลน์ เป็นต้น

พฤติกรรมผู้บริโภคDigital ChinaPay for Content

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน