นครฉงชิ่งดันนโยบายการบริโภคสินค้าเกษตรเพื่อการขจัดความยากจนและฟื้นฟูชนบท ในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านหยวน

21 Jan 2022

 

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 สำนักงานพัฒนาชนบทนครฉงชิ่งเปิดเผยว่า ปี 2564 การบริโภคเพื่อสนับสนุนนโยบายขจัดความยากจนและฟื้นฟูชนบทของนครฉงชิ่งมีมูลค่ารวม 6,213  ล้านหยวน โดยเป็นผลมาจากการปรับปรุงกลไก การขยายช่องทางการขาย และการเพิ่มศักยภาพด้านการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในนครฉงชิ่งได้ดำเนินการพัฒนาและกระตุ้นการบริโภคเพื่อการขจัดความยากจนและฟื้นฟูชนบท ดังนี้

ประการแรก สำนักงานเศรษฐกิจและการเงินนครฉงชิ่งได้ออก “ประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าเกษตรในพื้นที่ยากจน” เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อสินค้าเกษตรในพื้นที่ยากจน โดยเมื่อปี 2564 การจัดซื้อดังกล่าวมีมูลค่า 271 ล้านหยวน

ประการที่สอง สนับสนุนการใช้กลไกลต่าง ๆ ที่มีอยู่ ซื้อ/บริโภคสินค้าเกษตร ได้แก่ 1) ใช้กลไกความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐบาลกลาง 9 หน่วยงาน อาทิ ธนาคาร ABC (Agricultural Bank of China Limited) บริษัท TGDC (China Yangtze River Sanxia Group Co.,Ltd.) ฯลฯ สนับสนุนการซื้อสินค้าเกษตรของนครฉงชิ่งมูลค่า 90 ล้านหยวน 2) ส่งเสริมให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านการขจัดความยากจนของนครฉงชิ่งจำนวน 17 หน่วยงานซื้อสินค้าเกษตรของนครฉงชิ่ง การดำเนินการดังกล่าวมีมูลค่า 211 ล้านหยวน 3) ใช้กลไกการขจัดความยากจน “1 กลุ่มเขตเมืองเจริญ 2 กลุ่มเขตชนบท” (一区两群) สนับสนุนให้ 24 เขตในกลุ่มเมืองเจริญ (อาทิ เขตเจียงเป่ย เขตซาผิงป้า ฯลฯ) บริโภคสินค้าเกษตรจาก 17 เขตใน 2 กลุ่มเมืองชนบทฉงชิ่งตะวันออกเฉียงเหนือ (อาทิ เขตว่านโจว เขตยวิ๋นหยาง ฯลฯ) และฉงชิ่งตะวันออกเฉียงใต้  (อาทิ เขตอู่หลง เขตเฉียนเจียง ฯลฯ) การบริโภคดังกล่าวมีมูลค่า 419 ล้านหยวน และ 4) ใช้กลไกความร่วมมือเพื่อสนับสนุนให้มณฑลเจ้อเจียง นครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิน เมืองเซี่ยเหมิน และเมืองอื่น ๆ ซื้อสินค้าเกษตรของนครฉงชิ่ง

ประการที่สาม การทำความร่วมมือกับมณฑลซานตงภายใต้  “ความร่วมมือด้านการบริโภคซานตง-ฉงชิ่ง” ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรของพื้นที่ยากจนในนครฉงชิ่งเข้าสู่ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต องค์กร โรงเรียน และจุดพักรถบนทางด่วนในมณฑลซานตง เมื่อปี 2564 ความร่วมมือดังกล่าวสามารถกระตุ้นการบริโภคได้ 396 ล้านหยวน

ประการที่สี่  ต่อยอดโครงการความช่วยเหลือด้านการบริโภคในกลุ่มพื้นที่ยากจนระดับรุนแรง 18 ตำบล โดยเมื่อปี 2564 กลุ่มตำบลดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากการบริโภคเพื่อการขจัดความยากจนและฟื้นฟูชนบทเป็นจำนวน 294 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากปี 2563

ในปี 2565 นครฉงชิ่งจะยังคงเดินหน้าขจัดความยากจนในพื้นที่ชนบทอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการ “หมื่นวิสาหกิจผลักดันหมื่นหมู่บ้าน” สนับสนุนให้องค์กร สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป หันมาบริโภคสินค้าเกษตรจากพื้นที่ยากจน ส่งเสริมให้ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ตลาดขายส่งสินค้าเกษตร และบริษัทอีคอมเมิร์ซ ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กว้างขึ้น รวมไปถึงการดำเนินการเพื่อป้องกันสินค้าเกษตรขายไม่หมด และการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนอย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันการกลับมายากจนอีกครั้ง คาดว่ามูลค่าการบริโภคเพื่อการขจัดความยากจนและฟื้นฟูชนบทจะสูงกว่าปี 2564

สินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพดี ราคาย่อมเยา แต่ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาตก และเข้าไม่ถึงกลุ่มผู้บริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เพิ่มการประชาสัมพันธ์ เร่งการพัฒนาโครงข่ายการขนส่ง การกำหนดอุปสงค์อุปทานโดยการส่งเสริมการส่งออก ป้องกันสินค้าเกษตรล้นตลาดเพื่อควบคุมราคาสินค้าเกษตร รวมถึงการปลูกฝังแนวคิด “คนไทยช่วยคนไทย บริโภคและสนับสนุนสินค้าของคนไทย” สร้างค่านิยมความภาคภูมิใจในการบริโภคสินค้าเกษตรของไทย และรณรงค์ให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาบริโภคสินค้าเกษตรของไทยมากขึ้น เหมือนที่ชาวจีนนิยมบริโภคสินค้าของจีนเอง และหันมาส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรจากพื้นที่ชนบทกันมากขึ้น

ในส่วนของเกษตรกร อาจพิจารณาแปรรูปหรือสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าเกษตร สร้างเรื่องราวเพิ่มเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรยากจนในพื้นที่ชนบท ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์สำนักข่าว cqnews (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565)

http://cq.news.cn/2022-01/13/c_1128257838.htm

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน