เมืองฝางเฉิงก่างขานรับนโยบาย “One Belt One Road” มุ่งพัฒนาสู่ “ชุมทางท่าเรืออินเตอร์”

31 Aug 2015

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่: เมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang City, 防城港市) ของกว่างซีเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือและอุตสาหกรรมเสาหลักเพื่อแสดงบทบาทการเป็น "ข้อต่อ" ของยุทธศาสตร์ One Belt One Road

  • ครึ่งปีแรกปี 58 มูลค่า GDP ของเมืองฝางเฉิงก่างโตร้อยละ 11 มูลค่ารวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โตร้อยละ 17.2 ธุรกิจที่มีมูลค่าการผลิตเกินร้อยล้านหยวน มีอยู่ 97 ราย (ในจำนวนนี้มีมูลค่าการผลิตเกินพันล้านหยวน 11 ราย) เพิ่มขึ้น 13 ราย
  • เป็น "ข้อต่อ" ของกรอบยุทธศาสตร์ One Belt One Road (เชื่อมเส้นทางสายไหมทางบกกับเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21)
  • เป็น 1 ใน 3 ท่าเรือหลักในอ่าวเป่ยปู้ (อีกสองแห่ง คือ ท่าเรือชินโจว และท่าเรือเป๋ยไห่) ซึ่งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าสินค้าเทกอง (Bulk) และเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ที่ใช้ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์
  • เป็น "ท่าเรือนำเข้าผลไม้" แห่งแรกและเป็น "ด่านนำเข้าผลไม้" แห่งที่ 3 ของกว่างซี (ต่อจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงตามพิธีสารฯ ถนนอาร์ 9 และด่านท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียงของเมืองกุ้ยหลิน (Guilin Liangjiang Int’l Airport, 桂林两江国际机场)
  • กำลังปรับปรุงร่องน้ำและก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาด 4 แสนตัน (แห่งที่ 4 ของจีน) รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือ เพื่อพัฒนาสู่การเป็น "ท่าเรือศูนย์กลางภูมิภาค" ทั้งนี้ คาดหมายว่าปริมาณการขนถ่ายสินค้าเพิ่มเป็น 500 ล้านตันได้ภายในปี 2568

มุ่งพัฒนาความเชื่อมโยง (Connectivity) ทุ่มทุนหนุนโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและชายแดน

เมืองฝางเฉิงก่างได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาตนเองให้เป็น "แนวพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งทะเล" โดยการให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงกับชาติสมาชิกอาเซียน

ด้วยเหตุนี้ เมืองฝางเฉิงก่างได้ทุ่มงบประมาณมูลค่ามหาศาลเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานบริเวณท่าเรือ การสร้างท่าเทียบเรือและร่องน้ำสำหรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ และการส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่

คาดหมายว่าปริมาณรองรับการขนถ่ายสินค้าจะเพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านตัน เป็น 500 ล้านตัน ทำให้ท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่างก้าวขึ้นเป็น "ท่าเรือศูนย์กลางภูมิภาค"

นอกจากนี้ เมืองฝางเฉิงก่างในฐานะที่กำกับดูแล "อำเภอระดับเมืองตงซิง" (Dongxing City, 东兴市) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนติดเวียดนาม เมืองฝางเฉิงก่างได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนจีน(ตงซิง)-เวียดนาม(Mong Cai) โครงข่ายถนน อาคารโรงงาน ตลอดจนสะพานข้ามแม่น้ำเเชื่อมกับเวียดนาม ทั้งนี้ โครงการบางส่วนก่อสร้างแล้วเสร็จ

ปักเสาหลัก 6 อุตสาหกรรม กรุยทางสู่ "แนวพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งทะเล"

เมืองฝางเฉิงก่างวางแผนส่งเสริมอุตสาหกรรม 6 สาขาที่เป็นจุดแข็งของเมือง โดยคาดหมายว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาเมืองสู่การเป็น "แนวพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งทะเล" ได้แก่

(1) เศรษฐกิจท่าเรือ (Port Economy) เน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการที่เกี่ยวข้อง

(2) เศรษฐกิจด่าน (Port/Border Economy) เน้นที่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ การค้าแปรรูป การเงินระหว่างประเทศ และโลจิสติกส์ท่าเรือ (Port/Border Logistic)

(3) เศรษฐกิจการท่องเที่ยว (Tourism Economy) เน้นที่การพัฒนาการท่องเที่ยวระดับ Hi-End เช่น การพักตากอากาศ การดูแลสุขภาพ กีฬาทางน้ำ และการประชุมธุรกิจ

(4) เศรษฐกิจมหาสมุทร (Maritime Economy) เน้นที่อุตสาหกรรมประมงทะเล การจับปลาในทะเลน้ำลึก ศูนย์ซื้อขายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนานาชาติ และศูนย์โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น

(5) เศรษฐกิจอินเตอร์เนต (Internet Economy) เน้นที่การพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซข้ามแดน โดยเฉพาะกับอาเซียน

(6) เศรษฐกิจระบบนิเวศ (Ecological Economy) เน้นที่การพัฒนาการเกษตรและป่าไม้เชิงนิเวศ อุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์

ลิงค์ข่าวที่น่าสนใจ

ทุเรียน มังคุดไทย ชิมลาง "ท่าเรือฝางเฉิงก่าง" ประหยัดเวลา คุ้มทุน (23 มิ.ย. 2558)

อนุมัติแล้ว!! ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็น "ด่านนำเข้าผลไม้" ใกล้ไทยที่สุด (07 พ.ค. 2558)

ท่าเรือฝางเฉิงก่าง เตรียมสร้างท่าเทียบเรือ "บิ๊ก 4" ของจีน หนุนการค้าของภาคตะวันตก (29 เม.ย. 2558)

ด่านนำเข้าผลไม้ท่าเรือฝางเฉิงก่าง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน