กว่างซีกับวิธีช่วยเกษตรกรให้พ้นจาก “ความยากจน”

20 Dec 2018

ไฮไลท์

  • “จีน” เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้เร็วที่สุดในโลก ไม่นานมานี้ ทางการจีนตั้งเป้าว่า ภายในปี 2561 คนยากจนในประเทศจะลดลง 85% จากเมื่อ 6 ปีก่อน หรือจาก 100 ล้านคน ให้เหลือ 15 ล้านคน
  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลเกษตรที่เคยเป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนที่สุดของจีน มาวันนี้ กำลังเดินหน้าเข้าสู่ “สังคมเสี่ยวคัง” (สังคมอยู่ดี กินดี) โดยคาดว่า ปีนี้จะมีชาวกว่างซีอีกกว่า 9.5 แสนคนหลุดพ้นจากคำว่า “ยากจน”
  • การที่กว่างซีเป็นมณฑลเกษตรและภูมิประเทศเป็นภูเขา ทำให้การสร้างถนนหนทางและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้าสู่พื้นที่ชนบทห่างไกลเพื่อพัฒนาการเกษตรและการค้าออนไลน์ มีบทบาทสำคัญในการขจัดปัญหาความยากจน

 

“ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา” คือ กุญแจไขความสำเร็จในการขจัดปัญหาความยากจนในพื้นที่(เกษตร)ชนบทห่างไกลของกว่างซี รัฐบาลกว่างซีมองว่า ก่อนอื่นต้องสร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้าไปใช้ส่งเสริมประสิทธิภาพของการบริหารจัดการภาคการเกษตรในพื้นที่ และการค้าสินค้าเกษตรออนไลน์

วันนี้ BIC ขอแบ่งปันกรณีศึกษาที่น่าสนใจให้กับผู้อ่านได้ลองนึกภาพตาม

เมืองหลิ่วโจว (Liuzhou/柳州市) แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำ และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของกว่างซี แต่ยังมีพื้นที่ชนบทห่างไกลอีกไม่น้อยที่เป็นพื้นที่เกษตรยากจน ภาครัฐได้นำแนวคิดการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาการค้าออนไลน์เพื่อสร้างรายได้ให้กับสินค้าเกษตรขั้นปฐมภูมิหรือขั้นต้น

ขณะเดียวกัน เมืองหลิ่วโจวกำลังเร่งพัฒนาภาคการเกษตรสู่อุตสาหกรรมการเกษตร โดยใช้โมเดลความร่วมมือระหว่าง “บริษัท + ฟาร์มเกษตร + เกษตรกร(ยากจน)” โดยบริษัทกับเกษตรกรทำข้อตกลงร่วมกัน เกษตรกรมีหน้าที่ปลูกพืชผลเกษตรให้ได้คุณภาพที่ดี โดยบริษัทจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาด ให้การฝึกอบรมเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรเหล่านี้

ล่าย หยวนหยวน (赖园园) เธอมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนในหมู่บ้านหลุดพ้นจากความยากจน หลังจากเรียนจบจากไทย เธอตัดสินใจกลับไปทำงานที่อำเภอยรงอัน (融安县) เมืองหลิ่วโจว ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ เธอเริ่มบุกเบิกธุรกิจ “ส้มทอง” (Kunkwat/金桔) ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ท้องถิ่นผ่านระบบ e-Commerce จำหน่ายไปทั่วประเทศจีน เมื่อปีที่แล้ว สหกรณ์ของเธอจำหน่ายส้มทองได้เกือบ 30 ล้านหยวน และช่วยให้เกษตรกรกว่า 350 ครัวเรือนได้หลุดพ้นจากความยากจน

นอกจากนี้ การพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการรวมแปลงเป็นเกษตรแปลงใหญ่ที่มีขนาดการผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน (economy of scale) ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชน และช่วยให้การบริหารจัดการด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การจัดการแหล่งน้ำ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การหาตลาดรองรับ และการกำหนดมาตรฐานการผลิต

เธอได้เผยเคล็ด(ไม่)ลับสู่ความสำเร็จว่า “นอกจากคุณภาพของผลไม้แล้ว บรรจุภัณฑ์และกระบวนการคัดบรรจุก็มีความสำคัญอย่างมาก สินค้าต้องคงความสดใหม่และไม่เสียหายระหว่างการขนส่ง รวมทั้งสินค้าต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้”

เทศกาลช็อปปิ้งออนไลน์ “Double Eleven” ในปีนี้ (วันที่ 11 เดือน 11) เพียงวันเดียว อำเภอยรงอันมียอดจำหน่ายส้มทอง 3.45 แสนกล่อง คิดเป็นมูลค่ารวม 26.78 ล้านหยวน

จะเห็นได้ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญที่ช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า และพัฒนาให้ห่วงโซ่การเกษตรมีความสมบูรณ์ขึ้น ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขนส่งถึงมือผู้บริโภค ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและนำพาเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน

BIC เห็นว่า กรณีศึกษาดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ภาคการเกษตรไทยสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการระบายสินค้าสู่ตลาดจีนที่เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ผ่านแพลตฟอร์ม cross-border e-Commerce (CBEC) ที่มีอยู่ทั่วจีน ลองคิดง่าย ๆ ว่า ถ้าเรามีการบริหารจัดการคลังสินค้าในพื้นที่ทดลอง CBEC ในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทศกาลช็อปปิ้ง “Double Eleven” เพียงวันเดียวจะสามารถทำเงินและช่วยให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากความยากจนได้มากเพียงใด

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561
รูปประกอบ www.pexels.com

ขจัดความยากจนส้มทองแก้จนให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน