ไว้ลายมณฑลเกษตร กว่างซีปลูก ‘แก้วมังกร’ อันดับหนึ่งของจีน

12 Aug 2016

เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดเพื่อการบริโภคและเป็นวัตถุป้อนอุตสาหกรรม นอกจากการปลูกอ้อยแล้ว ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า กว่างซีมีพื้นที่ปลูกแก้วมังกรมากที่สุดในประเทศจีน

แก้วมังกร เป็นผลไม้ในมงคลที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนอย่างแพร่หลาย กว่างซีเริ่มมีการปลูกแก้วมังกรในยุค 90‘s การปลูกแก้วมังกรของกว่างซีมีการพัฒนาเป็นระบบอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน กว่างซีมีพื้นที่ปลูกแก้วมังกรเกือบ 1.6 แสนหมู่จีน (ราว 6.66 หมื่นไร่) ก้าวขึ้นเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกแก้วมังกรมากที่สุดของประเทศจีน แซงหน้ามณฑลกวางตุ้ง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลยูนนาน และมณฑลฝูเจี้ยน

เฉพาะ นครหนานหนิงมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 7 หมื่นหมู่จีน (ราว 2.9 หมื่นไร่) คาดการณ์ว่าปีนี้จะได้ผลผลิตมากกว่า 1 แสนตัน

นอกจากนครหนานหนิงแล้ว การปลูกแก้วมังกรในเมืองชินโจว เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองเป๋ยไห่ เมืองไป่เซ่อ เมืองฉงจั่ว และเมืองกุ้ยก่างของกว่างซีนับว่าประสบความสำเร็จและมีแนวโน้มการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลพบว่า พื้นที่ที่มีสภาพความเหมาะสมกับการปลูกแก้วมังกรได้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่หมู่จีนมากกว่า 2.5 ตัน (ราวไร่ละ 6 ตัน) มูลค่าการผลิตต่อหน่วยอยู่ที่ 1-2 หมื่นหยวน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกจำนวนมาก

ที่สำคัญ แก้วมังกรเป็นหนึ่งในผลไม้ที่รัฐบาลกว่างซีกำหนดให้เป็นชนิดผลไม้ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2559-2563) โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2563 กว่างซีจะมีพื้นที่ปลูกแก้วมังกร 3 แสนหมู่จีน (ราว 1.25 แสนไร่) ได้ผลผลิตรวมมากกว่า 5 แสนตัน

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมแก้วมังกรของกว่างซี คือ

1. การนำแก้วมังกรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าหลากหลายชนิด อาทิ แยมผลไม้ ส่วนผสมของไส้ขนม ขนมอบกรอบ และน้ำผลไม้ โดยมองว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแก้วมังกรของกว่างซีในอนาคต

2. การรวมกลุ่มและกำหนดมาตรฐานในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง จนถึงการจัดจำหน่าย ปัจจุบัน ผู้ประกอบการแก้วมังกรรายใหญ่ 13 รายในนครหนานหนิงได้มีการรวมกลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแก้วมังกร เพื่อสร้างแบรนด์ "แก้วมังกรหนานหนิง" ที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง

บีไอซี เห็นว่า รูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมแก้วมังกรที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นโมเดลตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับภาคเกษตรไทยในนำมาประยุกต์ใช้และส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนของไทย

เนื่องจากการแปรรูปผลผลิต นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าแล้ว ยังเป็นแก้ไขปัญหาผลไม้ตกเกรดและปัญหาผลผลิตล้นตลาดอีกทางหนึ่ง ขณะที่การรวมกลุ่มเกษตรกรให้มีระบบการจัดการผลิตที่มีคุณภาพ ยังเป็นการช่วยเสริมอำนาจการต่อรองและศักยภาพการแข่งขันในตลาด(ส่งออก)ให้อยู่ในมือของเกษตรกรไทยอีกด้วย

กว่างซีแก้วมังกร

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน