ไทยส่งครูและนักเรียนเข้าอบรมสาขา“ม้าเหล็กความเร็วสูง” ที่เมืองหลิ่วโจว

12 Mar 2018

คณะอาจารย์และนักศึกษาไทยรุ่นที่ 5 ได้เดินทางมาศึกษาต่อในวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะการรถไฟเมืองหลิ่วโจว (Liuzhou Railway Vocational Technical College – LRVTC/柳州铁道职业技术学院) ของกว่างซีแล้ว

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 คณะอาจารย์และนักศึกษาไทยจาก 4 สถาบัน ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการอยุธยา วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายกและวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยี รวม 37 คน (นักศึกษา 28 คน และอาจารย์ 9 คน) ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการศึกษาของนักเรียนแลกเปลี่ยนภายใต้โครงการความร่วมมือด้านการศึกษาฝึกอบรมด้านรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย โดยจะใช้เวลาศึกษา 1 ปีครึ่ง

นายโจวหลาน (周澜/Zhou Lan) หัวหน้าฝ่ายวิชาการประจำวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะการรถไฟเมืองหลิ่วโจว ให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2558 วิทยาลัยฯ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการอยุธยา เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาแบบ “1 + 1.5” โดยนักศึกษาต้องเรียนที่ไทย 1 ปี หากผลการเรียนผ่านเกณฑ์และได้รับใบรับรองการสอบวัดระดับภาษาจีนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของการขอตรวจลงตรา(วีซ่า) ของจีนก็สามารถเดินทางมาศึกษาต่อที่เมืองหลิ่วโจว เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นเวลา 1 ปีครึ่งได้

ที่สำคัญ หลังจากสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์แล้ว นักศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการสำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่ไทยและจีน (Dual Degree) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้ได้รับความนิยมจากนักศึกษาไทย

ความเคลื่อนไหวสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทยของวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะการรถไฟเมืองหลิ่วโจว  มีดังนี้

  •   เดือนมีนาคม 2559 วิทยาลัยฯ ได้จัด “โครงการฝึกอบรมครูเทคโนโลยีการคมนาคมระบบราง” เป็นครั้งแรกโดยเปิดฝึกอบรมอาจารย์และนักศึกษามาแล้ว 4 รุ่น
  •   เดือนพฤศจิกายน 2560 วิทยาลัยฯ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานได้ร่วมกันจัดตั้ง “วิทยาลัยการคมนาคมระบบราง” (Thailand-China Railway College of RMUTI)
  •   เดือนมกราคม 2561 วิทยาลัยฯ ได้จัดตั้งวิทยาเขตที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการอยุธยา เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านผลิตบุคลากร (แลกเปลี่ยนนักศึกษา/อาจารย์) และการศึกษาวิจัย

      โดยล่าสุดนักศึกษาไทย รุ่นที่ 5 ได้เดินทางมาศึกษาในวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งจะศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูง อาทิ การควบคุมระบบสัญญาณระบบรางแบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีวิศวกรรมระบบราง โดยจะเน้นทั้งภาค“ทฤษฎี +ปฏิบัติ”โดยนักศึกษาจะได้ลงมือปฏิบัติจริงจากทฤษฎีที่ได้ศึกษาเรียนรู้มา

      นายหวง เฟิง (Huang Feng/黄锋) ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะการรถไฟเมืองหลิ่วโจว กล่าวว่า วิทยาลัยฯ มุ่งผลักดันหลักสูตรอาชีวะศึกษาด้านระบบคมนาคมทางรางสู่สากล โดยเป็นผลมาจากการพัฒนายุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) และการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจรถไฟความเร็วสูง  โดยวิทยาลัยฯ ได้พัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และรัสเซีย

      สำหรับประเทศไทย โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เฟสแรก ที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ทำให้ประเทศไทยต้องการบุคลากรด้านการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมด้านบุคลากร ตลอดหลายปีมานี้ สถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้พัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาในสาขาดังกล่าวกับจีน และเดินทางมาเพื่อการขยายโอกาสความร่วมมือด้านการฝึกอบรมบุคลากรด้านรถไฟความเร็วสูงอย่างสม่ำเสมอ

 

จัดทำโดย: นางสาวพรทิพย์ ปราบไกรสีห์ นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

เรียบเรียงโดย: นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา: เว็บไซต์
www.gx.xinhuanet.com (广西新华社) ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2561

              เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2561

วิทยาลัยเทคนิคอาชีวะการรถไฟเมืองหลิ่วโจววิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรีวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยีวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายกวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการอยุธยาเมืองหลิ่วโจวรถไฟความเร็วสูงวิทยาลัยรถไฟ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน