ไทยจะเข้ามาลงทุนจีนอย่างไรให้ลด Cost และธุรกิจอะไรที่ไทยได้เปรียบ?

10 Aug 2016

ด้วยค่าแรงจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เคยใช้จีนเป็นฐานการผลิต ตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น และบางธุรกิจต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่เพื่อช่วยในการผลิตแทน สำหรับไทย การลงทุนในจีน ควรเป็นการลงทุนที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจีนโดยเฉพาะ เนื่องจากจะมีข้อได้เปรียบของการอ่อนค่าของเงินหยวน ที่ทำให้สินค้าต่างชาติที่เข้ามาในจีนมีราคาแพง ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อนี้ได้ในการดำเนินธุรกิจ แล้วธุรกิจไทยอะไรควรมาลงทุนในจีน?

โอกาสธุรกิจผลิตอาหารไทยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในจีน

เป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อสิ้นปี 2558 จีนนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศจาก 180 ประเทศทั่วโลก มีมูลค่ารวมถึง 299 แสนล้านหยวน แบ่งเป็นการนำเข้า 126 แสนล้านหยวน ส่งออก 173 แสนล้านหยวน การนำเข้าและการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อเทียบกับปี 2557 การนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 19.8% แต่การส่งออกกลับเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า จีนมุ่งผลิตเพื่อบริโภคในประเทศแทนการส่งออก และยังแสดงให้เห็นว่า การผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศ อีกทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินหยวนอ่อนค่าในปี 2558 ที่ผ่านมา ทำให้การนำเข้าอาหารจากต่างประเทศของจีนได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะสินค้าที่นำเข้ามีราคาแพงขึ้นมาก

ในเรื่องความสันทัดธุรกิจประเภทอาหารคงต้องยกให้ไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก และมีชื่อเสียงด้านอาหารมายาวนาน ประกอบกับมีเทคโนโลยี (Know how) เป็นของตัวเอง นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ในประเทศจีนเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตอาหารสำหรับบริโภคในจีนแทนการส่งออกจากไทย เพราะในปัจจุบัน แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวนทำให้สินค้าต่างประเทศมีราคาแพง ทำให้สินค้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในจีนต้องประสบปัญหาการบริหารต้นทุนนำเข้าและภาษี หากสินค้าต่างประเทศใช้แบรนด์ของตนเองเข้ามาผลิตในจีนก็น่าจะสามารถลดภาระปัญหาข้างต้นไปได้มาก ประเทศจีนมีประชากรจำนวนมากที่มีกำลังในการซื้อและใช้สินค้า อย่างไรก็ดี การเข้ามาลงทุนในจีนของผู้ประกอบการไทยในสภาวะปัจจุบันควรนำเทคโนโลยีการผลิตเข้ามาช่วยควบคุมต้นทุน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายภายในโรงงาน ซึ่งบริษัทต่างชาติหลายแห่งในโลก ปัจจุบันก็ใช้เทคนิคเดียวกันในการลดต้นทุน โดยใช้วีธีหลัก  3 วิธีดังนี้

1. การใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยการผลิต (Robot Manufacturing) และใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างจำกัดเพื่อควบคุมเครื่องจักร (One Man, One Production Line)

การใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตโดยใช้ทรัพยากรมนุษย์เพียงคนเดียวในการควบคุมเครื่องจักร ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลอย่างมาก ปัจจุบันในเมืองคุนซาน มณฑลเจียงซูมีบริษัทหลายแห่งเริ่มใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์แล้ว (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

(โรงงานผลิตอาหารใช้หุ่นยนต์ในการผลิต)

2. การนำเข้าวัตถุดิบโดยผ่านเขตการค้าเสรีเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง

ปัจจุบันประเทศจีนมีเขตการค้าเสรีมากมาย เช่น เขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เทียนจิน

เป็นต้น และในอนาคตจะมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอีกหลายแห่ง ผู้ประกอบการต่างประเทศจำนวนมากได้นำเข้าสินค้าและมาพักไว้ในเขตการค้าเสรีทีละมาก ๆ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง การชำระภาษี และค่าบริหารโกดังในเขตการค้าเสรี เมื่อผู้ประกอบการต้องการจำหน่ายสินค้าก็สามารถนำสินค้าเข้ามาจากเขตการค้าเสรีได้ทันทีตามจำนวนต้องการ

3. การซื้อวัตถุดิบจากแหล่งต้นทุนต่ำกว่า (Global Outsourcing)

แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมากมาย แต่วัตถุดิบบางอย่างกลับมีราคาแพง เนื่องจากมีปริมาณจำกัด เช่น น้ำนมดิบ ผลไม้ เป็นต้น ดังนั้น การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาทดแทนจึงมีราคา

ต่ำกว่า ประเทศจีนมีพรมแดนติดต่อกับอินเดีย เมียนมาร์ และไม่ไกลจากไทยนัก ประกอบกับมีเส้นทางคมนาคมทางรถไฟที่สะดวก การนำเข้าสินค้าจากแหล่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากอย่างที่คิด

หากผู้ประกอบการไทยนำแนวคิด 3 ข้อข้างต้นไปประยุกต์ใช้ในการบริหารต้นทุนในจีนก็น่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในประเทศจีนลงได้ ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการไทยต้องใช้ “แรงงานคน” ให้น้อยที่สุด ผลักดันเทคโนโลยีช่วยการผลิตเข้ามาทดแทน พยายามคิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสินค้าของตัวเอง และจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ในอนาคต ทั้งนี้ ท่านสามารถดูวิธีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในจีนได้ ที่นี่

จัดทำโดย นายกองพล กำจรสุขรุจี

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

1) มุมมองของผู้เขียน

2) นสพ. 腾讯财经ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ในหัวข้อเรื่อง 明年中企海外并购将再创新高

3) นสพ. 搜孤财经ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2559 ในหัวข้อเรื่อง 不妨人民币释放贬值贬值压力

4) นสพ. 凤凰财经ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2559 ในหัวข้อเรื่อง “2016年人民贬值的高度会有多大?

5) นสพ.
凤凰财经ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2559 ในหัวข้อเรื่อง “2015年中国进口总值比去年下降

 

อุตสาหกรรมการผลิตอุตสาหกรรม 4.0อุตสาหกรรมจีนค่าแรง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน