เหตุผลง่ายๆ ที่ผู้ค้าผลไม้นิยมใช้ ‘ผิงเสียง’ เป็นด่านนำเข้า

12 Jul 2016

"ไตรมาสแรกปีนี้ ยอดการค้าผลไม้ผ่านด่านในเมืองผิงเสียงมีแนวโน้มการขยายตัวเป็นเท่าตัวทุเรียนนำเข้า 3.29 ล้านตัน แตงโมนำเข้า 0.136 ล้านตัน และมีแอปเปิ้ลส่งออกราว 3 หมื่นตัน" ด่านชายแดนในเมืองผิงเสียงกลายเป็นด่านผลไม้อันดับหนึ่งของประเทศจีนหลายปีติดต่อกัน

ทำไมผู้ค้าผลไม้นิยมใช้ ผิงเสียง เป็นด่านนำเข้า?? เหตุผลสำคัญคงเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตในอาเซียน ดังนั้น การขนส่งจึงมีระยะทางที่สั้นและใช้ระยะเวลาขนส่งเพียงแค่ไม่กี่วันเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือ ผลไม้จึงคงความสดใหม่และจำหน่ายได้ราคาสูง

นายซู เต๋อม่าว (Su Demao,苏德茂) ประธานสมาคมผลไม้นำเข้าส่งออกจีน-อาเซียนของเมืองผิงเสียง ให้ข้อมูลว่า ตนเองมีประสบการณ์การทำธุรกิจนำเข้าส่งออกผลไม้ที่ด่านการค้าชายแดนผู่จ้ายมากว่า 25 ปี การขนส่งผลไม้จากไทยผ่านเส้นทางบกเข้าสู่ด่านในเมืองผิงเสียงใช้เวลาเพียง 5 วัน ผลไม้คงความสดใหม่ ช่วยลดอัตราการสูญเสียของผลไม้ ผลไม้ขายหมดได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้เงินทุนหมุนเวียนมีสภาพคล่องสูง

ผู้ค้าผลไม้ยังคำนึงในเรื่องของ สิ่งอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งจากฝั่งเวียดนามกับเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งปัจจุบันรถบรรทุกของทั้งสองฝั่งที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วสามารถวิ่งสัญจรข้ามแดนโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าหรือหัวรถลาก และมีการสร้างช่องทางพิเศษ (Green lane) สำหรับรถบรรทุกสินค้าผ่านแดนโดยเฉพาะ ทำให้การขนส่งผลไม้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก

นอกจากนี้ ด่าน(ผู้จ้าย)ในเมืองผิงเสียงได้มีการนำ เทคโนโลยีการฉายรังสีอิเล็กตรอนสำหรับผลไม้นำเข้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานตรวจสอบโรค/แมลงศัตรูพืชและการถนอมอาหารเป็นด่านทางบกแห่งแรกในประเทศจีน มีชื่อเรียกว่า ศูนย์รังสีเพื่อการตรวจสอบและกักกันโรคพืชสำหรับผลไม้จีน(ผิงเสียง)-อาเซียนหรือChina-ASEAN Pingxiang Fruit Irradiation Quarantine Processing Center (中国东盟凭祥水果辐照检疫处理中心)

ระบบการฉายรังสีในผลไม้นำเข้าใช้เวลาทำงานสั้นๆ เพียงกล่องละ 6 นาที นั่นหมายความว่า ผลไม้น้ำหนัก 30 ตันใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่าเท่านั้น เมื่อเทียบกับกระบวนการตรวจสอบและกักกันโรคแบบเดิมที่เจ้าหน้าที่CIQ ต้องไปสุ่มเก็บตัวอย่างและต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการ ระบบการฉายรังสีช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานและช่วยร่นระยะเวลาการตรวจปล่อยผลไม้นำเข้าได้อย่างมาก

นายหนง อันหยาง (Nong Anyang,农安阳) รองผู้จัดการใหญ่บริษัท Pingxiang Guomao Development (凭祥市国贸开发公司) ให้ข้อมูลว่า การนำเทคโนโลยีรังสีมาใช้ในงานตรวจสอบและกักกันโรคนอกจากจะช่วยให้การตรวจปล่อยสินค้าทำได้รวดเร็วมากขึ้นแล้ว ยังช่วยผู้ค้าผลไม้ลดค่าใช้จ่าย/ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในลานตรวจสินค้าลงได้อีกร้อยละ 30

เปรียบเทียบกับการนำเข้าผ่าน "มณฑลยูนนาน" กล่าวได้ว่า เมืองผิงเสียงของเขตฯ กว่างซีจ้วงมีความได้เปรียบในเชิงกายภาพเหนือฝั่งมณฑลยูนนาน เพราะตั้งอยู่ใกล้แหล่งผลิตในอาเซียน มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง

ดร.หวง ย่าวตง (Huang Yaodong,黄耀东) นักวิจัยจากสถาบันสังคมศาสตร์เขตฯ กว่างซีจ้วง ให้คำอธิบายว่า เมืองผิงเสียงตั้งอยู่จุดกึ่งกลางระหว่างจีนกับอาเซียน ดังนั้น ผลไม้ที่นำเข้าผ่านเมืองผิงเสียงสามารถกระจายไปสู่ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในพื้นที่เจริญทางฝั่งตะวันออกได้ง่าย (มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง นครเซี่ยงไฮ้)ขณะเดียวกันผลไม้ที่ส่งออกผ่านเมืองผิงเสียงก็สามารถกระจายเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน (เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย) ได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

ขณะที่มณฑลยูนนานมีที่ตั้งอยู่ตอนในของประเทศ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบสูงจึงเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งและการกระจายสินค้า

สำหรับประเทศไทยแม้ว่ามณฑลยูนนานจะตั้งอยู่ใกล้กับไทย แต่นั่นเป็นเพียงระยะห่างจากจุดชายแดนของสองประเทศเท่านั้น หากวิเคราะห์จากแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้แล้ว การขนส่งผลไม้(ออกจากภาคอีสานของไทย)มายังเมืองผิงเสียงของเขตฯ กว่างซีจ้วงมีระยะทางที่ใกล้กว่าการขนส่งไปยังมณฑลยูนนานมากพอสมควร

 

ลิงค์ข่าว

เมืองผิงเสียงพร้อมผุด "ตลาดสินค้าเกษตร"ประชิดชายแดนเวียดนาม สิ้นปีนี้(27 พ.ค. 2559)

ด่านผิงเสียงของกว่างซีใช้ "รังสี" กักกันโรคพืชในผลไม้นำเข้าเป็นที่แรกในจีน(17 พ.ค. 2559)

กว่างซีหนุนโหย่วอี้กวานและ ผู่จ้ายเป็นด่านนำเข้าผลไม้จากอาเซียน(16 พ.ค. 2559)

"สหกรณ์ค้าชายแดน" พลิกมิติใหม่การค้าชายแดนกว่างซี(04 มี.ค. 2559)

ทำไม?? จึงพูดว่า "กว่างซี" เป็นฐานกระจายผลไม้อาเซียนที่ใหญ่ที่สุดของจีน(17 ก.พ. 2559)

ผลไม้ผิงเสียง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน