เมืองตงก่วน (กวางตุ้ง) ขานรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ ใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเพิ่ม

20 Apr 2016

เมื่อปี 2558 รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบาย Made in China 2025 เพื่อมุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพของระบบอุตสาหกรรมการผลิตของจีนให้ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ และในปีเดียวกันมณฑลกวางตุ้งก็ประกาศแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ 2015 – 2025[1] ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความแข็งแกร่งและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้กับภาคอุตสาหกรรมของมณฑล รวมถึงปรับปรุงห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตให้สมบูรณ์และมีความสมดุลเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงบรรลุนโยบายดังกล่าวจากรัฐบาลกลาง

เมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้ง เป็น 1 ใน 9 เมืองอุตสาหกรรมสำคัญที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ตั้งอยู่ระหว่างนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น ได้ชื่อว่าเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกโดยมีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนกว่า 10,000 บริษัท ได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในจีน โดยหลักจากที่รัฐบาลกวางตุ้งประกาศแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฯ เมืองตงก่วนได้ขานรับเอานโยบายและนำมาปรับใช้อย่างทันท่วงที

ในปี 2558 ตงก่วนมีบริษัทที่ผลิตสินค้าด้วยระบบการผลิตอัจฉริยะกว่า 400 บริษัท และได้มีการยื่นขอดำเนินการเปลี่ยนแรงงานมนุษย์เป็นแรงงานหุ่นยนต์มากกว่า 831 โครงการ และจะเพิ่มเป็น 2,000 โครงการภายใน 5 ปี ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบแรงงานดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการผลิตของเมืองตงก่วนและมณฑลกวางตุ้งอย่างสิ้นเชิง ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนของสินค้า

ตัวอย่างบริษัทเหิงฮุยเฟอร์นิเจอร์จำกัด บริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชุดรับแขกแห่งหนึ่งในเมืองตงก่วน ให้ข้อมูลว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบแรงงานที่ใช้ในการผลิตจากแรงงานมนุษย์มาเป็นแรงงานหุ่นยนต์ ซึ่งสามารถลดแรงงานมนุษย์ลงได้มากถึง ร้อยละ 20 จากเดิมมีแรงงานอยู่ประมาณ 200 คน โดยจากเดิมจะต้องจ่ายค่าแรงให้แก่แรงงานคนละประมาณ 4,000 หยวนต่อเดือน ซึ่งหากเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์จะสามารถประหยัดได้ถึง 1.92 ล้านหยวนต่อปี และเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตไม่เพียงแต่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนสินค้าเท่านั้น แรงงานหุ่นยนต์ยังข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในส่วนงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตสูง อาทิ งานที่มีฝุ่นละอองจากได้หรือวัสดุมากเป็นพิเศษ งานเชื่อม พ่นและกด เป็นต้น

ทั้งนี้การเปลี่ยนรูปแบบแรงงานในอุตสาหกรรมด้วยการเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์แทนที่แรงงานมนุษย์นั้นอาจจะดูเหมือนเป็นการลดบทบาทความสำคัญของแรงงานมนุษย์ลง แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการเพิ่มความสำคัญของแรงงานมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากหุ่นยนต์ไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจากมนุษย์คอยควบคุมและดูแล ซึ่งปัจจุบันในวงการอุตสาหกรรมการผลิตจีนยังขาดแคลนแรงงานเหล่านี้มาก โดยเฉพาะ “วิศวกรหุ่นยนต์”

บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบแรงงานจึงจำเป็นต้องสรรหาและคัดสรรแรงงานที่มีความรู้ความชำนาญ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบันการจัดหาแรงงานที่มีความรู้เฉพาะด้านเหล่านี้มี 3 วิธีหลักได้แก่

1.    นำแรงงานที่มีความรู้ความชำนาญใกล้เคียงกับเทคโนโลยีนั้น ๆ เข้าฝึกอบรม

2.    ร่วมมือกับหน่วยงานจัดหาแรงงานคุณภาพเพื่อผลิตแรงงานที่ต้องการแล้วนำเข้าสู่บริษัท

3.    จัดหาบุคลากรที่เป็นนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำและคณะที่เกี่ยวข้องเข้ามาฝึกอบรมและให้ความรู้เฉพาะด้าน

แต่เนื่องจากบุคลากรเฉพาะด้านยังขาดแคลน ผู้ประกอบการจีนยังคงประสบปัญหาสมองไหลหลังจากแรงงานมีความรู้ความชำนาญ ซึ่งแรงงานเหล่านี้สามารถถูกแย่งตัวด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงกว่า

ปัจจุบันหนทางสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งก้าวไปค่อนข้างเร็ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ความขาดแคลนเทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และการขาดแคลนแรงงานชำนาญการที่จะเข้ามาซ่อมบำรุงและดูแลเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ โดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจเพื่อไทยในจีนจะนำข่าวสารความคืบหน้าของการปฏิรูปอุตสาหกรรมของมณฑลกวางตุ้งมารายงานให้ทราบต่อไป


[1] แผนพัฒนาฯ ได้กำหนดภารกิจเป้าหมายสำคัญที่จะบรรลุภายในปี 2568  6 ประการ ได้แก่ (1) การมีระบบการผลิตอัจฉริยะเป็นของตนเอง (2) การพัฒนาระบบและอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อการผลิต (3) การส่งเสริม Internet+ คือ การใช้อินเตอร์เน็ตกับการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและอุปกรณ์สารสนเทศ (4) การส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน ในอุตสาหกรรมที่มีความปลอดภัยต่ำหรือมีมาตรฐานด้านสุขอนามัยสูง (5) การยกระดับอุตสาหกรรม  การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนอัจฉริยะ และ (6) การก่อตั้งระบบสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ โดยมีการก่อตั้งศูนย์การออกแบบอุตสาหกรรมระดับชาติและระดับมณฑล

อุตสาหกรรมการผลิตอุตสาหกรรม 4.0อุตสาหกรรมจีน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน