เคล็ด(ไม่)ลับ ปรับใช้ง่าย โมเดลค้าผลไม้ออนไลน์ : กรณีศึกษามะม่วงไป่เซ่อ(กว่างซี)

9 Oct 2017

เคล็ด(ไม่)ลับ ปรับใช้ง่าย โมเดลค้าผลไม้ออนไลน์ : กรณีศึกษามะม่วงไป่เซ่อ(กว่างซี)

 

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

สถานกงสุลใหญ่
นครหนานหนิง

      

61 วัน 11.7 ล้านกล่อง เป็นตัวเลขของมะม่วงที่ส่งตรงจากสวนในกว่างซีถึงมือผู้บริโภคทั่วจีน (เฉลี่ยวันละ 2 แสนกล่อง) คำถามที่เกิดขึ้นตามมา คือ เขาทำได้อย่างไร??

ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้กว่างซีเป็นมณฑลหนึ่งในจีนที่สามารถปลูกผลไม้ได้หลากหลายประเภทตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเดือน มิ..-..ของทุกปี ผลไม้เมืองร้อนท้องถิ่นค่อยๆ ทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย และเสาวรส

ในอดีต ชาวสวนจะทยอยเก็บเกี่ยวผลไม้ที่ได้ขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่หน้าสวนเป็นหลัก บ้างก็คอยกวักขายให้รถที่วิ่งผ่านไปผ่านตามริมทาง หรือตั้งแผงขายตามตลาดนัดผลไม้ทั่วไป ปีไหนที่ผลไม้ล้นตลาด พ่อค้าคนกลางก็จะถือโอกาสกดราคาชาวสวน เป็นปัญหาสร้างความเดือนร้อนให้กับชาวสวน สาเหตุสำคัญเป็นเพราะชาวสวนขาดช่องทางการจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ

กรณีศึกษามะม่วงไป่เซ่อ(กว่างซี) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจภาคการเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์เข้าสู่ระบบธุรกิจ มีการปรับตัวและจัดการกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถทำเงินได้มากกว่าเดิม

เมืองไป่เซ่อเป็น 1 ใน 14 เมืองของเขตฯ กว่างซีจ้วง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับมณฑลยูนนาน เป็นแหล่งปลูกพืชผักผลไม้ฤดูร้อนที่สำคัญของมณฑล โดยเฉพาะมะม่วงมีพื้นที่ปลูกรวม 1.2 ล้านหมู่จีน หรือราวๆ 5 แสนไร่ มีมะม่วงมากกว่า 30 สายพันธุ์ จนได้รับการขนานนามเป็นถิ่นกำเนิดมะม่วงจีน

ต้องเท้าความกันสักเล็กน้อยว่าในอดีต เมืองไป่เซ่ออยู่ในบัญชีรายชื่อเมืองยากจนของประเทศจีน สมัยกลางยุค 80 เมืองไป่เซ่อได้วางยุทธศาสตร์ให้การปลูกมะม่วงเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักสาขาหนึ่งของเมืองที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ซึ่งเมืองไป่เซ่อทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว

ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์และเทคนิคการปลูกมะม่วงหลากหลายพันธุ์แล้ว เมืองไป่เซ่อยังมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมมะม่วงได้อย่างน่าสนใจ (ที่ไทยเราสามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้) กล่าวคือ

"ผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดพร้อมกัน" ข้อริเริ่มเพื่อการจัดระเบียบตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้สด มาตรการดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาการเก็บผลมะม่วงอ่อน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ด้านคุณภาพของมะม่วงไป่เซ่อ โดยมีการกำหนดวันที่สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลิตไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างหลักประกันด้านคุณภาพรสชาติและความสุกของผลมะม่วงที่จะออกสู่ตลาดอีกทั้งยังเป็นการสร้างอำนาจต่อรองและช่วยให้ผลผลิตมะม่วงได้ราคาดีด้วย

ผลิตภัณฑ์เกษตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) เพิ่มมูลค่า เมื่อปลายปี 2557 กระทรวงเกษตรจีนได้ให้การรับรองและขึ้นทะเบียน "มะม่วงไป่เซ่อ"เป็นผลิตภัณฑ์เกษตรตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ชุดที่ 6 ของจีน และปี 2560 มะม่วงไป่เซ่อได้รับคัดเลือกให้เป็น "ผลิตภัณฑ์เกษตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่รับรองร่วมกันระหว่างจีนยุโรป" ชุดแรก ซึ่งสินค้า GI เป็นกรอบที่ช่วยให้กระบวนการผลิตสินค้าได้มาตรฐาน มีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งยังเป็นการการันตีคุณภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้า และช่วยให้ชาวสวนผู้ผลิตมีโอกาสทางการค้าที่ดีกว่าผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน

ไฮไลท์ของบทความฉบับนี้อยู่ที่การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลทฟอร์ม e-Commerce พื่อขยายตลาดผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ การฉีกกรอบการค้าแบบเก่าๆ ที่เข้าถึงผู้บริโภคในวงจำกัดโดยการประยุกต์ใช้แนวคิดInternet Plusที่เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเข้ากับทุกสรรพสิ่ง ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยปรับโครงสร้างการค้าและพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง

ด้วยจำนวนพลเมืองเน็ต (Netizen) อันมากมายมหาศาลกว่า 731 ล้านคน (มากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศ 11 เท่า) และผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ 695 ล้านคน ท่านผู้อ่านลองคิดดูเล่น ว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนสั่งมะม่วงผ่านระบบออนไลน์เพียงแค่คนละลูก เราจะสร้างยอดขายได้มากขนาดไหน??

แล้วอะไร?? คือ สูตรความสำเร็จ ของกรณีศึกษามะม่วงไป่เซ่อในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย

ในประเทศจีนมีแพลทฟอร์ม e-Commerceรายน้อยใหญ่อยู่หลายเจ้า การที่แพลทฟอร์มแต่ละรายต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้แพลทฟอร์มที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุดถือเป็นสิ่งสำคัญ จากข้อมูลพบว่า เฉพาะแพลทฟอร์ม taobao.com (淘宝) และ jd.com (京东) มีจำนวนผู้ขายมะม่วงอยู่ราว 5,200 ราย ยังไม่รวมแพลทฟอร์ม social network ที่ได้รับความนิยมสุดๆ อย่าง wechat business (微商) อีกจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน

อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือบรรจุภัณฑ์(Packaging) การที่มะม่วงเป็นผลไม้เปลือกบาง ทำให้บอบช้ำง่ายในระหว่างการขนส่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ความพิถีพิถันในการคัดเลือกกล่องบรรจุภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงทนทานและเป็นกล่องที่มีการเจาะรูเพื่อระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้มะม่วงอับชื้นจนเน่าเสียได้ง่าย กับ ห่วงโซ่ความเย็น(cold chain) ผลไม้สดบางประเภทจำเป็นต้องทำการลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว (Precooling) ทันทีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อบรรจุลงในกล่องบรรจุภัณฑ์พร้อมด้วยถุงน้ำแข็งหรือน้ำแข็งแห้ง และวิ่งขึ้นรถห้องเย็นไปยังสนามบิน เพื่อให้สินค้าสามารถส่งตรงถึงมือผู้บริโภคภายใน 48 ชั่วโมง

การที่ผลไม้สดเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันกับเวลา ดังนั้น การดีลกับผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วน (courier) เพื่อขอรับบริการระดับพรีเมี่ยมสำหรับมะม่วงที่พร้อมจะเดินทางไปถึงผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย จึงควรเลือก courier รายใหญ่ที่มีเครือข่ายหรือจุดให้บริการที่ครอบคลุม รวมทั้งการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ส่งและ courier ด้วยการใช้สติ๊กเกอร์ที่เตะตาด้วยข้อความผลไม้สด หรือ ส่งด่วนสุดๆและการขอรับบริการแบบ high priority ในทุกขั้นตอนของการจัดส่ง ตั้งแต่การคีย์ข้อมูลพัสดุ การจัดเตรียม/เพิ่มเที่ยวรถขนส่ง และการจัดส่งพัสดุถึงมือผู้รับปลายทางได้อย่างรวดเร็ว

 

บทสรุป

กรณีศึกษาข้างต้นเป็นแนวทางที่ผู้ค้าผลไม้ชาวไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาผลผลิตภายในประเทศ และการส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายผลไม้ไทยในตลาดจีนได้ เพราะในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน แฝงตัวในทุกกิจกรรมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราๆ ท่านๆ การเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มักจะสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้บริโภค ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมย่อมเป็นการสร้างโอกาสทำเงินให้กับผู้ที่พร้อมและมองเห็นโอกาสนั้นๆ เสมอ

 

***********************

ไป่เซ่อมะม่วงกว่างซี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน