เกษตรกรกุ้ยโจวใช้แสงนีออนเร่งผลผลิตแก้วมังกร

19 May 2020

ในช่วงการเพาะปลูกแก้วมังกรระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน เกษตรกรในหมู่บ้านป้าเฉ่า ตำบลเหลียงเถียน อำเภอเจิ้นหนิง เมืองอันซุ่นของมณฑลกุ้ยโจว ได้ใช้ไฟนีออนเพิ่มแสงสว่างในยามค่ำคืนให้กับต้นแก้วมังกร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสง เร่งการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตแก้วมังกร นับเป็นโครงการทดลองใช้แสงนีออนช่วยเร่งเพิ่มผลผลิตแก้วมังกรเป็นปีที่สองของตำบลเหลียงเถียน

โครงการดังกล่าวริเริ่มโดยบริษัทพัฒนาเหลียงเถียนเมื่อปี 2562 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรร่วมกับเกษตรกรผ่านตัวแบบ “รัฐบาลตำบล+เอกชน+หมู่บ้าน” นับเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรและลดความยากจนที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งของมณฑลกุ้ยโจว

นางเฉิน เอี้ยนหรู รองผู้จัดการใหญ่ของบริษัทพัฒนาเหลียงเถียนให้ข้อมูลว่า แก้วมังกรที่เจริญเติบโตได้ดีจำเป็นต้องได้รับแสงไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น การเพิ่มแสงไฟนีออนในพื้นที่เพาะปลูกแก้วมังกรช่วงกลางคืนประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน จะทำให้แก้วมังกรได้รับแสงเพียงพอเพื่อใช้เร่งการออกดอกและผล ช่วยให้แก้วมังกรสามารถออกสู่ท้องตลาดก่อนพื้นที่อื่นและขายได้ราคาดี นอกจากนี้ วิธีการนี้ยังทำให้เกษตรกรสามารถปลูกต้นแก้วมังกรได้จำนวนมากขึ้นกว่าการปลูกแบบดั้งเดิม กล่าวคือ จากแต่เดิมที่พื้นที่หนึ่งหมู่หรือประมาณครึ่งไร่จะสามารถปลูกต้นแก้วมังกรได้ 333 ต้น แต่เมื่อเกษตรกรใช้เทคนิคนี้ก็จะสามารถลดระยะห่างการปลูกของแก้วมังกรแต่ละต้นได้ ทำให้พื้นที่หนึ่งหมู่เท่าเดิมสามารถปลูกต้นแก้วมังกรได้ถึง 1,733 ต้น ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมถึง 5 เท่า

อนึ่ง ในปี 2561 มณฑลกุ้ยโจวมีพื้นที่เพาะปลูกแก้วมังกรรวม 88,000 หมู่หรือประมาณ 36,667 ไร่ โดยเป็นมณฑลที่มีพื้นที่ปลูกแก้วมังกรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของจีนรองจากเขตฯ กว่างซีและมณฑลกวางตุ้ง ผลผลิตแก้วมังกรของกุ้ยโจวมีปริมาณรวม 46,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 410 ล้านหยวน และคาดว่า ภายในปี 2564 กุ้ยโจวจะสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกแก้วมังกรเป็น 120,000 หมู่หรือประมาณ50,000 ไร่  ทั้งนี้ เกษตรกรกุ้ยโจวนิยมปลูกแก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดง โดยแหล่งเพาะปลูกแก้วมังกรที่สำคัญในมณฑล ได้แก่ อำเภอลัวเตียน อำเภอกวนหลิ่ง อำเภอเจิ้นหนิง อำเภอเจินฟง และอำเภอว่างหมอ

แก้วมังกรของมณฑลกุ้ยโจวยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ระดับชาติ 2 แห่ง ได้แก่ แก้วมังกรของอำเภอลัวเตียนซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2556 และแก้วมังกรของอำเภอกวนหลิ่งซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2559 นอกจากนี้ กุ้ยโจวยังพัฒนาการเพาะปลูกแก้วมังกรและแปรรูปแก้วมังกรเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ลิปสติกจากแก้วมังกร โดยมณฑลมีศูนย์วิจัยแก้วมังกรโดยเฉพาะจำนวน 2 แห่ง

ที่มา: http://www.gz.xinhuanet.com/2020-05/16/c_1125993834.htm

กุ้ยโจว เทคโนโลยี เกษตร

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน