อาเซียนเอี่ยวสินเชื่อเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตาม “เส้นทางมุ่งลงใต้”

17 Jul 2018

องค์กรภาครัฐและธนาคารใหญ่จาก 5 มณฑลของจีน (ได้แก่ กว่างซี ฉงชิ่ง กุ้ยโจว กานซู่ และชิงไห่) ร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือสนับสนุนเส้นทางมุ่งลงใต้ ภายใต้โครงการสาธิตความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์จีน(ฉงชิ่ง)-สิงคโปร์ และพร้อมสนันสนุนทางการเงินในรูปแบบ “สินเชื่อสกุลเงินหยวน” ให้กับโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “เส้นทางมุ่งลงใต้” ในภูมิภาคจีนตะวันตก รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียน

เส้นทางมุ่งลงใต้” อยู่ภายใต้กรอบโครงการสาธิตความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์จีน(ฉงชิ่ง)-สิงคโปร์ (China(Chongqing)-Singapore Demonstration Initiative on Strategic Connectivity/中新(重庆)战略性互联互通示范项目) หรือ CCI โดยมี “นครฉงชิ่ง” เป็นศูนย์อำนวยการ และมี “เขตฯ กว่างซีจ้วง” เป็นข้อต่อสำคัญ และเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศทาง “บก+ทะเล” เส้นทางใหม่ที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เข้าไว้ด้วยกันด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในมณฑลภาคตะวันตกของจีนกับประเทศสิงคโปร์ 

นายหาน เป่าชาง (Han Baochang/韩宝昌) ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ CCI ได้เสนอให้สถาบันการเงินสนับสนุนต่อการพัฒนา “เส้นทางมุ่งลงใต้” อย่างเต็มที่ ทั้งด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การเงินเพื่อการค้า (Trade Finance) และการชำระบัญชี

สาระสำคัญของ MOU

  •   ผลักดันการเปิดซื้อ-ขายเงินหยวนกับสกุลเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน และพัฒนาการซื้อขายเงินหยวนกับสกุลเงินของประเทศสมาชิกอาเซียนของตลาดระหว่างธนาคาร (Regional Trading in the Inter-bank Market)
  •   เสนอแนะแนวทางให้สถาบันการเงินใน 5 มณฑล ได้แก่ นครฉงชิ่ง เขตฯ กว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู่ และมณฑลชิงไห่ ให้การสนับสนุนทางการเงินกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบริเวณจุดข้อต่อสำคัญตามแนว “เส้นทางมุ่งลงใต้” ซึ่งรวมถึงการสนับสนุน “สินเชื่อสกุลเงินหยวน” ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
  •   พัฒนาการระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ จากใบตราส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการค้าใน “เส้นทางมุ่งลงใต้” อาทิ ใบตราส่งสินค้าการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal transport) ใบตราส่งสินค้าทางบก และใบนำส่งสินค้าทางบก (ในรูปแบบของการนำเอกสารการขนส่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อ)
  •   ส่งเสริมให้เอกสารการขนส่งสินค้าทางบก (ถนน) เป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้นในการชำระเงินการค้าระหว่างประเทศและการระดมทุน
  •   ผลักดันการทดลองโมเดล “การค้า+สินเชื่อเพื่อเครือข่ายธนกิจ” (Trade & Supply Chain Financing) โดยส่งเสริมให้สถาบันการเงินพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการนำเข้า-ส่งออกกับประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเฉพาะ
  •   วิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางมุ่งลงใต้” ยังจะได้รับการสนับสนุนในอีกหลายด้าน อาทิ การออกพันธบัตรตราสารหนี้ ทั้งสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ในสิงคโปร์ และการขอสินเชื่อในต่างประเทศ
  •   จัดทำบัญชีรายชื่อธุรกิจโลจิสติกส์ที่ให้บริการตาม “เส้นทางมุ่งลงใต้” และให้การสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสินเชื่อ ในรูปแบบ Account Receivable Financing หรือการนำบัญชีลูกหนี้การค้ามาค้ำประกันเพื่อขอรับสินเชื่อกับธนาคาร

      นอกจากนี้ สถาบันการเงินรายใหญ่กับธุรกิจโลจิสติกส์ใน 5 มณฑลที่ให้บริการตาม “เส้นทางมุ่งลงใต้” ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการบริการทางการเงินเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้ภาคธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย

 

 

ลิงก์ข่าว

ภาคธุรกิจจีนชิงโอกาสลงทุนในเส้นทางโลจิสติกส์ “มุ่งลงใต้” (5 มิ.ย. 2561)

จีนเชิญนานาประเทศร่วมพัฒนา “เส้นทางมุ่งลงใต้” จีน-สิงคโปร์ (10 พ.ค. 2561)

กว่างซีเดินเครื่องเต็มสูบ พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์จีน-สิงคโปร์ (16 มี.ค. 2561)

 

จัดทำโดย นายชิว เจียเหว่ย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 30 มิถุนาคม 2561

ภาพประกอบ
/www.sohu.com/a/53918089_271138

เส้นทางมุ่งลงใต้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน