อาลีบาบาเผยเคล็ดลับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการค้าต่างประเทศ เสนอทิ้งโมเดลการค้าเดิม มุ่งสู่เศรษฐกิจ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ

9 Mar 2017

ในยุคที่ทั่วโลกหรือแม้แต่ประเทศไทยเองต่างให้ความสำคัญกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้าทั้งเพื่อการบริโภคภายในและการค้ากับต่างประเทศ จีนเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงก้าวผ่านจากรูปแบบอุตสาหกรรม 2.0 และ 3.0 ที่มีอุตสาหกรรมการผลิตโดยแรงงานมนุษย์ควบคู่ไปกับแรงงานเครื่องจักรไปสู่รูปแบบอุตสาหกรรม 4.0 เป็นระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่เรียกว่า Cyber-Physical Systems[1]ซึ่งมีการผสมผสานระหว่าง Internet of Things กับ Internet of Services เพื่อเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคที่มีรูปแบบหลากหลายเข้ากับกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการนั้น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพในจำนวนมากและในเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจุบันระบบอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการค้าระหว่างประเทศของจีนส่วนใหญ่ยังคงใช้รูปแบบการผลิตเพื่อการค้าแบบเก่าคือ อุตสาหกรรม 2.0และอุตสาหกรรม 3.0 แบ่งเป็น 6+1 ขั้นตอนประกอบด้วย (1) การออกแบบสินค้า (2) การคัดเลือกและจัดซื้อวัตถุดิบ (3) การขนส่งจากโรงงาน (4) การจัดการใบสั่งซื้อ (5) ขายปลีก (6) ขายส่ง + (1) การผลิต

          โดยรูปแบบการค้าต่างประเทศ 6+1 นี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนขั้นตอนที่เกิดขึ้นในจีน ประกอบด้วยการคัดเลือกและจัดซื้อวัตถุดิบ การขนส่ง + การผลิต ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีกำไรต่อสินค้าน้อย ประมาณร้อยละ 5 ต่อชิ้น โดยกระบวนที่เหลือเกิดขึ้นในต่างประเทศ มีกำไรต่อสินค้าหนึ่งชิ้นมหาศาล ประกอบด้วย  การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดการใบสั่งซื้อ ขายส่งและขายปลีก สร้างกำไรให้กับสินค้าประมาณร้อยละ 20-50 ต่อชิ้น

การเข้ามาตั้งฐานผลิตในจีนของแบรนด์ต่าง ๆ จากต่างประเทศ แน่นอนว่าเป็นผลดีต่อตัวเลขเศรษฐกิจของจีน แต่การที่สินค้าต่าง ๆ สามารถทำกำไรจากสินค้าที่ส่งกลับเข้ามาจำหน่ายในจีนเอง ก็ทำให้ชาวจีนเองกระอักกระอ่วงใจไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋าHermès ขายปลีกในราคา 750 ยูโร แต่ราคาต้นทุนโรงงานในจีนเพียง 9 ยูโร ซึ่งการขายปลีกสามารถทำกำไรได้สูงกว่า ร้อยละ 8,233 ในขณะที่มือถือไอโฟนมีต้นทุนการผลิตเพียง 220 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สามารถขายปลีกได้ในราคา 750 ดอลลาร์สหรัฐ กำไรเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 241

          ในการประชุมการค้าต่างประเทศจีน โดย Alibaba ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองเซินเจิ้นที่ผ่านมา ได้นำเสนอการค้าต่างประเทศในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม โดยนำรูปแบบของอุตสาหกรรม 4.0 มาใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการค้าระหว่างประเทศของจีน เปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าแบบเก่า 6 ขั้นตอนให้เหลือเพียง 4 ขั้นตอน ได้แก่ การจัดการคำสั่งซื้อ การออกแบบและผลิต การเลือกวัตถุดิบ และการขายปลีก   

          รูปแบบการค้าต่างประเทศ 4+0 ของอาลีบาบาได้นำเอาระบบ Big Data เข้ามาใช้งาน โดยสามารถค้นหาความต้องการและคำสั่งซื้อสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก และนำคำสั่งซื้อนั้นๆ เสนอให้แก่บริษัทที่ลงทะเบียนกับอาลีบาบา และเล็งเห็นว่ามีศักยภาพเพียงพอในการผลิตสินค้าดังกล่าว ยกตัวอย่างคำสั่งซื้อเสื้อสูทจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยต้องการสูทจำนวน 100 ตัว และต้องการรับสินค้าภายใน 30 วัน อาลีบาบาส่งคำสั่งซื้อให้แก่บริษัท A พิจารณาและหลังจากตอบรับ บริษัทดังกล่าวก็เริ่มจัดการคำสั่งซื้อ โดยเสนอราคาและเงื่อนไขต่าง ๆ โดยสามารถเสนอราคาได้ถูกกว่าโรงงานในสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 50 และสามารถจัดส่งสินค้าได้ภายใน 10 วัน อีกทั้งสามารถการันตีคุณภาพของเสื้อสูท พร้อมกับข้อเสนอเป็นเงินชดเชย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐหากคุณภาพสินค้าผิดไปจากข้อตกลง เมื่อลูกค้าจ่ายเงินมัดจำงวดแรกแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบ โดยบริษัท A จัดส่งเครื่องวัดขนาดร่างกายด้วยระบบ Laser 3D ให้แก่ลูกค้าเพื่อวัดขนาดจากบุคคลจริง โดยเก็บข้อมูลในรูปแบบ RFID[2] และส่งข้อมูลไปเก็บไว้ในระบบ Cloud โดยวัสดุที่ลูกค้าต้องการก็เลือกผ่านระบบออนไลน์และส่งคำสั่งไปยังระบบ cloud ด้วยเช่นกัน เพื่อการผลิตที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นบริษัท A แยกการผลิตออกเป็น 3 ส่วนแก่ 3 โรงงาน แบ่งเป็นส่วนแขน ส่วนตัวเ และส่วนปกกับกระดุม เมื่อโรงงานทั้งหมดได้รับข้อมูลผ่านระบบ cloud แล้วก็สามารถเริ่มต้นการผลิต ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอส่งเครื่องวัดขนาดเสื้อกลับมายังจีน หลังจากการผลิตบริษัท A ก็สามารถส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าเพื่อขายปลีกได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเก็บเข้าคลังสินค้า การผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่เป็นการย่นระยะเวลาของการผลิตให้สั้นลง แต่ยังสามารถรักษาประสิทธิผลให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีเสถียรภาพด้วยเช่นกัน  

          ข้อสังเกตเพิ่มเติม

1.    การค้าต่างประเทศ 4+0 แท้จริงคือการนำอุตสาหกรรม 4.0 มาประยุกต์ใช้กับการค้าอย่างเต็มรูปแบบ เป็นที่สังเกตได้ชัดเจนว่าภาคเอกชนมีความกระตือรือร้นในการตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการปฎิรูปอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นแรงขับเคลื่อน หากการปฎิรูปอุตสาหกรรมการผลิตของจีนครั้งนี้เป็นไปตามแผนพัฒนาฯ ประเทศจีนจะกลายเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่งและสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศที่เป็นหนึ่งด้านการผลิตต่อไป

2.    ในขณะที่ระบบอุตสาหกรรมการผลิตของจีนกำลังกระโจนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ผู้ประกอบการไทยเองควรมีการปรับตัวโดยพิจารณาการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลทางธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้การก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไร้ซึ่งเดินหน้าอย่างพร้อมเพรียงของภาครัฐและเอกชน ซึ่งในที่ประชุม 2017 China New Foreign Trade Fair Festival  ก็ยังเน้นย้ำว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงแค่เครื่องมือนำทางไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เท่านั้น ส่วนสำคัญที่สุดของการก้าวผ่านคือทัศนคติของผู้ปะกอบการ


Cyber-Physical Systems คือ การผลิตที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ในการผลิต และควบคุมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเบ็ดเสร็จ ปัจจุบันพบได้ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศ ยานยนต์ เคมี พลังงาน สาธารณูปโภคพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และการรักษาพยาบาล

[2] RFID ย่อมาจากคำเต็มว่า Radio-frequency identification เป็นวิธีการในการเก็บข้อมูลหรือระบุข้อมูลแบบอัตโนมัติ โดยทำงานผ่านการรับสัญญาณจากแท็กเข้าสู่ตัวส่งสัญญาณ ผ่านทางคลื่นวิทยุ

จีนอุตสาหกรรม 4.0เศรษฐกิจจีนอาลีบาบาเศรษฐกิจ4.0

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน