หุ่นยนต์ อากาศยาน และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ของกว่างซี

15 Apr 2016

หนังสือพิมพ์ Nanning Evening : ทางการกว่างซีเร่งก้าวการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ ‘Made in China 2025’ แผนเศรษฐกิจของจีนที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสมรรถนะทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย

ทางการกว่างซีแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา อุตสาหกรรมเกิดใหม่(เชิงยุทธศาสตร์) (emerging Industry) ที่ตนเองมีความพร้อมและเป็นจุดแข็งของตนเอง อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ วัสดุใหม่ การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรทันสมัย รถยนต์พลังงานทางเลือก อุตสาหกรรมประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เภสัชกรรมชีวภาพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

ทั้งนี้ ทางการกว่างซีมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมให้แก่เมืองต่างๆ ที่มีความพร้อมที่จะรองรับและต่อยอดอุตสาหกรรมในสาขานั้น ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องจักรด้านการคมนาคมระบบราง การต่อเรือและเครื่องจักรด้านวิศวกรรมสมุทรศาสตร์ อุปกรณ์เครื่องจักรทางการเกษตรสมัยใหม่ วัสดุอุปกรณ์ด้านการบินพาณิชย์ เครื่องจักรกลทำงานอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุปกรณ์การผลิตกระแสไฟฟ้า

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์‘ : นครหนานหนิง เมืองหลิ่วโจว



การพัฒนา หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial robot) มาใช้งานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตดั้งเดิมของนครหนานหนิงและเมืองหลิ่วโจว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรกล อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งกำหนดให้เมืองหลิ่วโจวเป็น ฐานอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีน(หลิ่วโจว)-อาเซียน

การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและการผลิตอัจฉริยะเข้ามาใช้งานในสายการผลิตรถยนต์และอะไหล่ เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร รวมถึงงานด้านการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (national defence) โดยเฉพาะแขนกลหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (multi-joint robot) และหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (mobile robot)

การพัฒนาหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการตลาด เช่น หุ่นยนต์บริการ (service robot) หุ่นยนต์เพื่องานเฉพาะด้าน (specialized robot) และหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร (agricultural robot)

อุตสาหกรรมอากาศยาน‘ : นครหนานหนิง เมืองกุ้ยหลิน

การพัฒนาและกระชับความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตอากาศยาน การพัฒนาฐานการผลิตอากาศยาน และการส่งเสริมโครงการลงทุนด้านการผลิตวัสดุและอุปกรณ์สำหรับอากาศยานประเภทต่างๆ เช่น เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle: UAV)

การใช้จุดแข็งด้านทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอลูมิเนียมเพื่อการบิน โดยเฉพาะวัสดุและอะไหล่อากาศยาน เช่น อลูมิเนียมอัลลอยด์ วัสดุผสม (composite material) และไทเทเนียมอัลลอยด์

การพัฒนาโครงส่วนล่างของเครื่องบิน (undercarriage) ระบบควบคุมการบิน ระบบนำทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสื่อสารสัญญาณวิทยุ ระบบควบคุมอากาศในเครื่องบิน

การดึงสถาบันวิจัยและภาคเอกชนเข้าร่วมจัดตั้งห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยี และศูนย์นวัตกรรมการบิน เพื่อบ่มเพาะวิสาหกิจที่มีศักยภาพรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรมการบิน

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่‘ : นครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ เมืองกุ้ยหลิน

การอาศัยโอกาสจากการที่รัฐบาลกลางกำหนดให้กว่างซีเป็น ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor, 中国东盟信息港) มุ่งเน้นการพัฒนา (1) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ (new information technology industry: NIT industry:) ที่นครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ และเมืองกุ้ยหลิน  (2) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์สมัยใหม่ (advanced equipment manufacturing industry) ที่นครหนานหนิง เมืองหลิ่วโจว เมืองยวี่หลิน เมืองอู๋โจว และเมืองฝางเฉิงก่าง

นวัตกรรมการออกแบบ(innovation design) เป็นคีย์เวิร์ดของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ อุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ และอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ซอฟแวร์เครื่องมือการออกแบบที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง และการส่งเสริมการพัฒนาด้านการออกแบบอุตสาหกรรม (industrial design) ให้มีมาตรฐานระดับชั้นนำในประเทศ

หุ่นยนต์อากาศยานอิเล็กทรอนิกส์

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน