ส่องเขตการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้…เปิดกว้างเศรษฐกิจจีนสู่สากล (ตอนที่ 2)

12 May 2017

จากบทความเดิมตอนที่แล้ว ที่กล่าวถึงจีนชูเขตการค้าเสรี FTZs เพื่อตอกย้ำการปฏิรูปและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ (คลิกข้อมูลที่นี่) จนเกิดเป็นกระแสโด่งดังให้ทั่วโลกต้องหันมาจับตามองจีนถึงการวางกลยุทธ์ที่เฉียบคมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ บทความนี้จะพาท่านไปรู้จักกับเขตการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้ หรือ China (Shanghai) Pilot Free Trade Zone (SFTZ) ในฐานะเขตนำร่องแห่งแรกบนแผ่นดินจีน และเป็นต้นแบบในการนำไปประยุกต์ใช้กับเขตการค้าเสรีในเมืองอื่น ๆ ของจีน

SFTZ มีพัฒนาการอย่างไร ? และแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นอะไรบ้าง ? 

เขตการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2556 มีขนาดพื้นที่ 28.78 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ 4 แห่ง ซึ่งเป็นเขตสินค้าทัณฑ์บน (bonded area)1 ได้แก่ (1) เขตสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว (Waigaoqiao Free Trade Zone)  (2) เขตโลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว (Waigaoqiao Free Trade Logistics Park)  (3) เขตสินค้าทัณฑ์บนท่าเรือหยางซาน (Yangshan Free Trade Zone Area) และ (4) เขตสินค้าทัณฑ์บนสนามบินผู่ตง (Pudong Airport Free Trade Zone)

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2557 รัฐบาลจีนได้อนุมัติขยายพื้นที่ SFTZ เพิ่มขึ้นเป็น 120.72 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มเติม ได้แก่  (1) เขตธุรกิจการเงินลู่เจียจุ่ย (Lujiazui Financial Area)  (2) เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกจินเฉียว (Jinqiao Export Processing Zone) และ (3) เขตนิคมเทคโนโลยีชั้นสูงจางเจียง (Zhangjiang High Tech Park) เพื่อขยายการทดลองการปฏิรูปเศรษฐกิจให้กว้างขวางมากขึ้น โดยแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นที่สำคัญ ดังนี้

 

การดำเนินงานของ SFTZ เป็นอย่างไร ?

นับตั้งแต่การก่อตั้ง SFTZ มาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลจีนพยายามชูบทบาท SFTZ ในฐานะ “ผู้บุกเบิก”  การปฏิรูปและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจจีน โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นพัฒนาใน 4 ด้านหลักคือ การลงทุน การค้า การเงิน และการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายและมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทดลองใช้กับ SFTZ โดยเฉพาะ ก่อนที่จะนำประสบการณ์และผลสำเร็จไปประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นของจีนได้เดินตามรอยต่อไปในอนาคต ดังนี้


1. ด้านการลงทุน

    

  (1) ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการลงทุน ในปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดตั้ง SFTZ รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้ Negative List หรือรายการสาขาธุรกิจต้องห้ามจำนวน 190 รายการ (สาขาธุรกิจที่ไม่ได้ระบุใน Negative List บริษัทต่างชาติสามารถลงทุนได้อย่างเสรี) ต่อมาเพื่อดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ SFTZ  มากขึ้น ได้ปรับลด Negative List ในปี 2557 และ 2558 ลงเหลือ 139 และ 122 รายการ ตามลำดับ เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ยกเลิกรายการ การลงทุนในการก่อสร้างและการดำเนินการของเครือข่ายทางรถไฟสายหลักที่ต้องให้ฝ่ายจีนควบคุมการถือหุ้นและอุตสาหกรรมการผลิต ยกเลิกรายการ จำกัดการลงทุนในการผลิตไวน์เหลืองและไวน์ขาวคุณภาพสูง (ฝ่ายจีนควบคุมการถือหุ้น)เป็นต้น

  ทั้งนี้ Negative List ฉบับปี 2558 ยังถูกนำไปใช้ในเขตการค้าเสรีอื่นอีก 3 แห่งที่ตั้งขึ้นภายหลัง ได้แก่ เขตการค้าเสรีนครเทียนจิน เขตการค้าเสรีมณฑลกวางตุ้ง และเขตการค้าเสรีมณฑลฝูเจี้ยน นอกจากนี้ ยังมีการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติเทียบเท่าบริษัทสัญชาติจีน หรือที่เรียกว่า PreEstablishment National Treatment รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอนุมัติธุรกิจ จากเดิมในรูปแบบ Approval System ที่ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากทางการจีนก่อนจึงจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ มาเป็นรูปแบบ Registration System ที่จดทะเบียนแล้วดำเนินธุรกิจได้เลย

  (2) ปฏิรูประบบการจัดการการลงทุนนอกประเทศ มีการใช้ระบบการจัดการบันทึกจัดเก็บข้อมูลการลงทุนนอกประเทศ ปรับปรุง Platform เพื่อส่งเสริมการบริการการลงทุนนอกประเทศ และทำให้การลงทุนนอกประเทศง่ายขึ้น

      (3) เปิดกว้างธุรกิจภาคบริการ มีมาตรการเปิดกว้างธุรกิจภาคบริการ ที่ในอดีตมีบางสาขาซึ่งรัฐบาลจีนเคยจำกัดไม่ให้ชาวต่างชาติถือหุ้นหรือทำธุรกิจ ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านการขนส่งทางเรือ ด้านการค้าและพาณิชย์ ด้านวิชาชีพเฉพาะทาง ด้านวัฒนธรรม และด้านบริการสาธารณะ โดยระงับหรือยกเลิกมาตรการบางอย่างเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักลงทุน สัดส่วนในการลงทุน และขอบเขตการดำเนินธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

2. ด้านการค้า 

(1) จัดตั้งระบบ Single Window สำหรับการค้าระหว่างประเทศ  สร้าง Platform การให้บริการแบบบูรณาการโดยรวมหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้าร่วมมากถึง 20 แห่ง เช่น สำนักงานตรวจสอบ ควบคุม และกักกันโรค (CIQ) กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น โดยบริษัทสามารถยื่นข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพียงครั้งเดียว ผ่าน Single Window หลังจากนั้นแผนกควบคุมดูแลต่าง ๆ จะแจ้งผลการดำเนินการกลับมายังบริษัทและแชร์ข้อมูลต่าง ๆ  ผ่าน Single Window ซึ่งช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการดำเนินธุรกรรมของบริษัท

(2) พัฒนาระบบการควบคุมดูแลการค้า ในเขตบริหารจัดการพิเศษของกรมศุลกากร มีการดำเนินการควบคุมจัดการแยกประเภทของสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วในการจัดการสินค้า มีการใช้ระบบการควบคุมดูแลแบบ “Frontier Opening, Second-tier Effective and Efficient Control2  ทำให้สินค้าผ่านเข้าออกด่านได้เร็วขึ้น ลดต้นทุนการขนส่งของบริษัท และกรมศุลกากรก็สามารถเพิ่มการควบคุมการตรวจสอบสินค้าที่เข้าในประเทศได้อย่างเข้มงวดขึ้น ทั้งนี้ ยังมีการผลักดันมาตรการอื่น ๆ อีก 31 รายการ เช่น “Enter First, Declare Later”3  และ Self-transportation4  เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า  

3. ด้านการเงิน

  (1) ผลักดันนวัตกรรมที่เปิดกว้างทางการเงิน โดยจัดตั้งระบบ Free Trade Account5 เพื่อบริหารจัดการเงินหยวนและเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้เปิดบัญชีแล้วมากกว่า 60,000 บัญชี การพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน อาทิ การชำระเงินหยวนข้ามพรมแดน การจัดการเงินทุนอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศของสำนักงานบริษัทข้ามชาติ และการบริหารจัดการกองทุนเงินหยวนและเงินตราต่างประเทศแบบสองทาง ตลอดจนการปฏิรูประบบการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ 

  (2) เปิดกว้างตลาดการเงินและการบริการด้านการเงิน ผลักดันการสร้าง Platform การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เริ่มดำเนินการ Shanghai-Hong Kong Stock Connect  และจัดตั้ง Shanghai Gold Exchange ในรูปแบบ Gold International Board เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าลงทุนในตลาดทองคำจีนได้ 

  (3) เพิ่มการควบคุมดูแลและป้องกันความเสี่ยงด้านการเงิน โดยสร้างระบบการควบคุมดูแลด้านการเงินที่สอดคล้องกับการผลักดันนวัตกรรมทางการเงิน สร้างกลไกการควบคุมเงินทุนข้ามพรมแดนและการประสานงานฉุกเฉินข้ามหน่วยงาน รวมถึงสร้างรูปแบบการควบคุมดูแลทางการเงินเชิงบูรณาการในด้านการแบ่งปันข้อมูล 

4. ด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ


  (1ลดอุปสรรคในการเข้ามาลงทุนของบริษัท โดยปฏิรูประบบการจดทะเบียนธุรกิจและกฎระเบียบเงินทุนจดทะเบียน และเร่งพัฒนาปรับปรุงระบบ Single Window ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น 

  (2) ปฏิรูประบบการบริหารจัดการของภาครัฐ ผลักดันการสร้างระบบการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับมาตรฐานกฎระเบียบการค้า

การลงทุนรดับสากล 
 สร้างระบบการควบคุมและตรวจตราในระหว่างการดำเนินการและหลังการดำเนินธุรกิจ  ผลักดันการสร้าง Platform การควบคุมและตรวจสอบข้อมูลเชิงบูรณาการ  เพิ่มการติดตามการบริหารจัดการ และการควบคุมดูแลกิจกรรมของบริษัทที่จดทะเบียนใน SFTZ ซึ่งไปดำเนินงานนอกเขต SFTZ ตลอดจนยกระดับความโปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ  เพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรทางสังคมและการบริการสาธารณะ 

 
(3) พัฒนากฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ เร่งพัฒนาระบบการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมตรวจสอบตลาดที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี อาหารและยา ทรัพย์สินทางปัญญา อุตสาหกรรมและพาณิชย์ และภาษี ปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักลงทุน และจัดตั้งระบบการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ปีแห่งการก่อตั้ง SFTZ บทสรุปน่าพอใจหรือไม่ ?

หากมองในภาพรวมสำหรับรัฐบาลจีน ถือว่า SFTZ ทำผลงานได้ดีและประสบความสำเร็จตามเป้าที่วางไว้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา SFTZ ได้ออกมาตรการและพัฒนากฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีแนวคิดการปฏิรูปและผลสำเร็จของนวัตกรรมทางระบบกว่า 100 รายการที่ได้รับการผลักดันให้นำไปประยุกต์ใช้ทั่วประเทศ มีบริษัทใหม่ที่จดทะเบียนในเขต SFTZ แล้วประมาณ 40,000 บริษัท ซึ่งสูงกว่าจำนวนรวมของบริษัทที่ได้จดทะเบียนในพื้นที่ดังกล่าวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก่อนจะมีการจัดตั้ง SFTZ โดยเป็นบริษัทที่ลงทุนโดยต่างชาติมากกว่า 7,300 แห่ง นอกจากนี้ SFTZ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตผู่ตงใหม่ครอบคลุมพื้นที่เพียง 1/50 ของนครเซี่ยงไฮ้ แต่สร้าง GDP ให้กับนครเซี่ยงไฮ้ได้ถึง 1/4 ของ GDP เมือง สะท้อนว่า การปฏิรูประบบของ SFTZ สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะผลักดันเศรษฐกิจได้ในระยะยาว อีกทั้งยังบ่งบอกถึงการเป็นที่ยอมรับของต่างชาติซึ่งเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูสู่ความเป็นสากลให้กับนครเซี่ยงไฮ้  



อย่างไรก็ตาม 
สำหรับบริษัทที่เข้าไปจัดตั้งและจดทะเบียนในเขต SFTZ นั้น ในทางปฏิบัติ อาจยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษที่เด่นชัด แต่ในแง่การอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้น สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้ SFTZ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สมบูรณ์แบบขึ้นไปในทุก ๆ ด้าน อาทิ 
(1) การเร่งพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการการลงทุน ระบบการควบคุมดูแลทางการค้า ระบบการจัดเก็บภาษี และระบบการป้องกันความเสี่ยงที่สอดรับกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ  (2) การเร่งสร้างระบบนวัตกรรมทางการเงินที่สนับสนุนให้สกุลเงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลและการเปิดเสรีบัญชีเงินทุน  (3) การใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยอาศัยเขตการค้าเสรีและการสร้างศูนย์กลางทางนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นแรงผลักดันการพัฒนา  (4) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส และ (5) การเพิ่มการพัฒนา SFTZ ที่ควบคู่ไปกับการดำเนินยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับการพัฒนานครเซี่ยงไฮ้ให้เป็น ศูนย์กลางที่สำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการขนส่งทางเรือ ภายในปี 2563 (หรือ ค.ศ. 2020) รวมถึงยุทธศาสตร์ One Belt, One Road และการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีเกียง  



3 ปีแห่งการก่อตั้ง
SFTZ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า SFTZ ยังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ซึ่งจีนไม่มีทางมองข้ามหมากตัวนี้แน่นอน เพื่ออนาคตที่จีนตั้งเป้าจะก้าวสู่ความเป็นสากลและเพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำบนเวทีเศรษฐกิจโลก  



หมายเหตุ

1 เขตสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Area) หมายถึง พื้นที่ที่สามารถกักเก็บสินค้าได้เป็นระยะเวลานาน จัดตั้งควบคุมดูแล และจัดการโดยกรมศุลกากร หรือได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจากกรมศุลกากร ทั้งนี้ สินค้าที่นำเข้ามายังเขตสินค้าทัณฑ์บนสามารถดำเนินการกักเก็บ ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ แยกประเภท ผสมรวม จัดแสดง และนำไปแปรรูปได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการควบคุมดูแลของกรมศุลกากร

2 Frontier Opening, Second-tier Effective and Efficient Control กล่าวคือ Frontier Opening หมายถึงสินค้านอกประเทศสามารถเข้าออกเขต FTZ ได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกควบคุมจากกรมศุลกากรและไม่ต้องจ่ายภาษีศุลกากร  ส่วน Second-tier Effective and Efficient Control หมายถึง สินค้าจาก FTZ เข้าเขตพื้นที่อื่นในประเทศจีน จะเทียบเท่ากับการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ และจ่ายภาษีตามกฎระเบียบของกรมศุลกากร

3 Enter First, Declare Later หมายถึง บริษัทสามารถอาศัยข้อมูลในใบรายการสินค้าที่ทำการขนส่ง นำสินค้าเข้ามาในเขต FTZ ก่อนได้ หลังจากนั้นค่อยไปสำแดงสินค้าต่อกรมศุลกากร

4 Self-transportation หมายถึง จากเดิมที่กรมศุลกากรจะควบคุมยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง เปลี่ยนมาเป็นบริษัทสามารถเลือกยานพาหนะที่เหมาะสมกับความต้องการในการขนส่งสินค้าเองได้ เพื่อทำการขนส่งสินค้าในเขต FTZ

FTZ Free Trade Account มีจุดเด่น คือ (1) การตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของบริษัท จากเดิมที่คณะกรรมการบริหารเขตการค้าเสรีฯ (Management Committee of China (Shanghai) Pilot Free Trade Zone) จะควบคุมก่อนดำเนินการ เปลี่ยนมาเป็นควบคุมในระหว่างและหลังดำเนินการ และ (2) บริษัทสามารถเลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราซื้อขายเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรี กล่าวคือ ในอดีต หลังจากที่บริษัทได้รับเงินตราต่างประเทศแล้ว ไม่สามารถนำเงินไปฝากในบัญชีธนาคารในประเทศได้โดยตรง ต้องทำการแลกเงินเป็น RMB ก่อน แต่ปัจจุบันหลังจากมีการใช้ Free Trade Account ให้บริการเงินตราต่างประเทศ บริษัทสามารถนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากต่างประเทศฝากไว้ในบัญชี Free Trade Account ก่อน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะแลกเปลี่ยนเป็น RMB ในเวลาใด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทและสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราได้ดีขึ้น

จัดทำโดย นางสาวศิวิมล มโนภานนท์

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

ข้อมูลอ้างอิง


1.ข้อมูลจากเว็บไซต์ china-shftz.gov.cn เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 เรื่อง 什么是中国(上海)自由贸易试验区?และ

上海自贸试验区的发展定位是什么?

2.ข้อมูลจากเว็บไซต์ shangwupx.com เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 เรื่อง上海官方智库重磅报告全文:上海自贸区3周年总结、评估、研判!

3.ข้อมูลจากเว็บไซต์ news.xinhuanet.com เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 เรื่อง Xinhua Insight: FTZs lead the way in China’s economic transformation

4.ข้อมูลจากเว็บไซต์ pudong.gov.cn เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เรื่อง 上海自贸区建设总体达到三年预期目标

5.ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต









         

เขตการค้าเสรี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน