“สัตว์น้ำสดแช่เย็น” ในนครหนานหนิงกับโอกาสผู้ส่งออกไทย

3 Apr 2018

      นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งไทย เมื่อรัฐบาลกลางไฟเขียวให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงเปิดนำเข้า “สัตว์น้ำสดแช่เย็น” (Chilled(Fresh) Aquatic Products) เป็นสนามบินแห่งแรกของเขตฯ กว่างซีจ้วง

      จีนมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่า 1/5 ของโลก หรือเกือบ 1,400 ล้านคน ทำให้จีนเป็นตลาดที่น่าดึงดูดสำหรับผู้ส่งออกสินค้าอาหารจากทั่วโลก ซึ่งบทความ BIC ฉบับนี้ จะขอเล่าถึงสินค้า “สัตว์น้ำสดแช่เย็น” กับโอกาสทางการตลาดของนครหนานหนิง

      ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ของชาวจีนและระบบการค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไป ชีวิตที่เร่งรีบจากการพัฒนาสู่สังคมเมือง (urbanization) กับความต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตและฐานะทางสังคม และช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีความหลากหลาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวจีนนิยมบริโภคอาหาร (นำเข้า) ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

      “สัตว์น้ำ (แช่แข็งแช่เย็น)” เป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีน หลายปีมานี้ พฤติกรรมการบริโภคสัตว์น้ำแช่เย็นที่นำเข้าจากต่างประเทศของชาวจีนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับในเขตฯ กว่างซีจ้วงที่แนวโน้มความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น

      เพียงแต่สถานการณ์การบริโภคที่ผ่านมา ผู้บริโภคในกว่างซี (ประชากรราว 48 ล้านคน) ต้องบริโภคสัตว์น้ำแช่เย็นนำเข้าจากด่านในมณฑลข้างเคียงเท่านั้น ซึ่งมีราคาแพง เนื่องด้วยตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลจีนกำหนดให้การนำเข้าสินค้า “สัตว์น้ำสดแช่เย็น” จะต้องดำเนินการผ่านด่านที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทำให้สินค้าต้องผ่านมือผู้ค้าหลายรายและต้องใช้เวลา ทำให้สินค้าขาดความสดใหม่

      ด้วยความพยายามของภาครัฐในกว่างซี เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน (AQSIQ) ได้อนุมัติให้ “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) เป็นด่านนำเข้า “สัตว์น้ำสดแช่เย็น” (ชุดที่ 4) ของประเทศจีน และวางแผนจะขยายเส้นทางการบินสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าเพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้นในอนาคต

      โดยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยของการนำเข้าสัตว์น้ำแช่เย็นเข้ามาในประเทศจีน ระบุว่า สัตว์น้ำแช่เย็นที่มาจากแหล่งเพาะเลี้ยงและมีแหล่งกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นจะต้องยื่นขอ "Quarantine Permit" (进境动植物检疫许可证) ซึ่งสำนักงาน AQSIQ มอบอำนาจให้ Guangxi CIQ ซึ่งเป็นสำนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการตรวจสอบและออกใบอนุญาตฉบับนี้ได้ด้วยตนเอง (ยกเว้น ปลาแซลมอน) ภายใน 10 วันทำการ

      ทั้งนี้ ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอใบอนุญาตผ่านระบบ paperless และได้รับสิทธิพิเศษ (priority) ในการตรวจกักกันโรค ช่วยให้ผู้นำเข้าไร้กังวลกับปัญหาสินค้าค้างท่าจากการรอสุ่มเก็บตัวอย่าง ทำให้สินค้ายังคงคุณภาพสดใหม่ และประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้จากเดิมอย่างน้อย 20%

      หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การเป็นด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตของสนามบินหนานหนิงจะช่วยพัฒนาความหลากหลายให้กับ “ตลาดสัตว์น้ำนำเข้าเพื่อการบริโภค” และยกระดับมาตรฐานคุณภาพของตลาดสัตว์น้ำนำเข้าในกว่างซี ทำให้ชาวกว่างซีที่นิยมบริโภคสัตว์น้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีโอกาสและตัวเลือกในการบริโภคสัตว์น้ำนำเข้าที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยา

      นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน มกราคม 2560 สำนัก AQSIQ เพิ่งประกาศให้สนามบินหนานหนิงเป็น “ด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิต(เพื่อการบริโภค)” (ชุดที่ 2) ของประเทศ โดยมีกุ้งขาวแวนนาไม (Penaeus vannamei) มีชีวิตของไทยเป็นสินค้าชิมลางล็อตแรกผ่านเที่ยวบินที่ CZ6100 ของสายการบิน China Southern Airline จากสนามบินสุวรรณภูมิ

      อีกทั้ง ยังสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลกลางที่ต้องการสนับสนุนให้เขตฯ กว่างซีจ้วงพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) ที่มุ่งสร้างความเชื่อมโยงกับชาติสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการเป็น “ข้อต่อ” ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่มี “นครหนานหนิง” เป็นศูนย์กลาง

      ทั้งนี้ มาตรการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของจีนอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการกำกับดูแลงานตรวจสอบกักกันสัตว์น้ำนำเข้า (Administrative Measures on Entry Inspection and Quarantine of Aquatic Animals/进境水生动物检验检疫监督管理办法) โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่ง กล่าวถึง ผู้ส่งออกสัตว์น้ำมายังจีนจะต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการดูแลตรวจสอบด้านโรคระบาด สารพิษ และสารอันตรายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้ส่งออก โดยมีผลการตรวจสอบที่สอดคล้องตามข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการตรวจสอบและกักกันโรค และสอดคล้องตามมาตรฐานข้อบังคับ/ข้อกำหนดของสำนักงาน AQSIQ (คลิกลิงก์)

      จึงกล่าวได้ว่า….สนามบินนครหนานหนิงน่าจะเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือกใหม่” ของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นและสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อเจาะตลาดจีน โดยมี “นครหนานหนิง” เป็นช่องทางการจำหน่ายทั้งในตัวมณฑลเองและกระจายไปยังหัวเมืองสำคัญอื่นในประเทศจีน เนื่องจากชาวกว่างซีนิยมารบริโภคสัตว์น้ำที่มีความสดใหม่ (คล้ายคลึงกับชาวกวางตุ้ง) และความต้องการบริโภคและกำลังซื้อก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอีกทั้งเส้นทางขนส่งทางอากาศ(ทั้งเส้นทางบินในประเทศและระหว่างประเทศ)มีเครือข่ายครอบคลุมมากขึ้น

      ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้จุดแข็งของนครหนานหนิงทั้งในด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (เวลาทำการบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก การอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำ(มีชีวิต/สดแช่เย็น)ของไทยในจีน ใช้นครหนานหนิงเป็น Hub ในการกระจายสินค้าต่อไปยังมณฑลอื่นในจีนได้อีกด้วย



**********************

 

จัดทำโดย…

นายกฤษณะ สุกันตพงศ์

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง

ด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิต(เพื่อการบริโภคท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงสนามบินหนานหนิงสัตว์น้ำสดแช่เย็นส่งออกสัตว์น้ำมีชีวิตส่งออกสัตว์น้ำแช่เย็น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน