สนใจเปิดตลาดใหม่ “สัตว์น้ำ” ในจีน มองทางนี้

17 Jan 2018

      “นครหนานหนิง” เปิดประตูรับการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ(มีชีวิต)จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงกล่าวได้ว่า…นครแห่งนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงที่มองข้ามไม่ได้

      สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติ (AQSIQ) ของจีนเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านนโยบายในการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ(มีชีวิต) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์น้ำจากต่างประเทศและมีสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคท้องถิ่น (CIQ) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปฏิบัติงาน

      มาตรการสำคัญที่สำนักงาน AQSIQ ใช้ป้องกันโรคระบาด คือ การกำหนดสิทธิการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำของด่านต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน ซึ่ง “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง(Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场)เป็นด่านแห่งแรกและแห่งเดียวของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่ได้รับอนุญาตการนำเข้าสัตว์น้ำ(มีชีวิต)เมื่อเดือนมกราคม 2560

      หลังจากการประเมินความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว (สำนักงานศุลกากร สำนักงาน CIQ และหน่วยงานภาคพื้นดินของสนามบิน) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560กุ้งขาวแวนนาไม (Penaeusvannamei) จากประเทศไทยเป็นสัตว์น้ำมีชีวิตล็อตแรกที่เข้ามาชิมลางในสนามบินแห่งนี้ (ปี 2560 สนามบินนครหนานหนิงมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำซึ่งทั้งหมดเป็นกุ้งขาวแวนนาไม จำนวน 3 ล็อต รวมน้ำหนัก 1,500 กิโลกรัม)

      ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2561 ท่าอากาศยานนครหนานหนิงมีการนำเข้าปูดำ 416 กิโลกรัม และปลาไหลนา (Monopterusalbus) 8,625 กิโลกรัมจากกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ โดยเครื่องบินขนสินค้าB737-300 แบบเช่าเหมาลำของ SF Airlines (顺丰航空) นับเป็นการฟื้นฟูเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างนครหนานหนิง-บังกลาเทศอีกครั้ง หลังที่ยุติไปเมื่อปี 2558

      ด้านการตรวจสอบและกักกันโรค เมื่อเครื่องบินลงสู่สนามบิน เจ้าหน้าที่จะทำการฆ่าเชื้อก่อนขนย้ายสินค้าไปยังลานสินค้าของสนามบินนครหนานหนิงเพื่อตรวจสอบและกักกันโรคจากสินค้า โดยเจ้าหน้าที่ CIQ จะตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องของผู้รับสินค้า (โดยเฉพาะใบรับรองสุขอนามัยสัตว์จากประเทศผู้ส่งออก) รายละเอียดสินค้า (ชนิด/ประเภท จำนวน ข้อมูลยานพาหนะ สภาพบรรจุภัณฑ์) รวมถึงการตรวจสอบสุขอนามัยของสัตว์น้ำ (อัตราการรอด อัตราการตาย และลักษณะทางกายภาพของสัตว์น้ำ)

      สิ่งที่น่าสนใจ คือ การอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า เนื่องจากสัตว์น้ำมีชีวิตที่นำเข้าจากต่างประเทศจำเป็นต้องแข่งกับเวลา ดังนั้น สำนักงาน CIQ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบและกักกันโรค และการขึ้นทะเบียนผู้รับสินค้าไว้ล่วงหน้า รวมทั้งมีการปฏิรูปขั้นตอนการทำงานเพื่อย่นระยะเวลาการตรวจสอบและกักกันโรคให้มีความกระชับรัดกุม มีประสิทธิภาพชนิดที่ว่า “ตรวจปุ๊บ ปล่อยปั๊บ”ช่วยให้สัตว์น้ำมีอัตราการรอดสูง ผู้บริโภคมีโอกาสบริโภคสัตว์น้ำที่สดใหม่และปลอดภัย

      เจ้าหน้าที่บริษัท Janco International Freight (China) Ltd. (骏高国际货运(中国)有限公司) ซึ่งเป็นผู้เช่าเหมาลำ ให้ข้อมูลว่า สัตว์น้ำมีชีวิตล็อตนี้ผ่านพิธีการศุลกากรด้วยความราบรื่น สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนี้ไปจะเพิ่มปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำจากบังกลาเทศมายังนครหนานหนิง และอาศัยท่าอากาศยานหนานหนิงเป็น Hub กระจายสินค้าไปยังเมืองขนาดกลาง-ใหญ่ทั่วประเทศจีน

      ตามรายงาน สินค้าที่มีการนำเข้าส่งออกผ่านเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศ“นครหนานหนิง-ธากา” แบ่งเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากบังกลาเทศ และการส่งออกผ้าทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไปบังกลาเทศ

      BICขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มาตรการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของจีนอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการกำกับดูแลงานตรวจสอบกักกันสัตว์น้ำนำเข้า (Administrative Measures on Entry Inspection and Quarantine of Aquatic Animals/进境水生动物检验检疫监督管理办法) โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่ง กล่าวถึง ผู้ส่งออกสัตว์น้ำมายังจีนจะต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการดูแลตรวจสอบด้านโรคระบาด สารพิษ และสารอันตรายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้ส่งออก โดยมีผลการตรวจสอบที่สอดคล้องตามข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการตรวจสอบและกักกันโรค และสอดคล้องตามมาตรฐานข้อบังคับ/ข้อกำหนดของสำนักงาน AQSIQ (คลิกลิงก์)

      สุดท้ายนี้ BIC เห็นว่า ผู้ส่งออกสัตว์น้ำไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของนครหนานหนิงทั้งในด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (เวลาทำการบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก การอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำ(มีชีวิต)ของไทยในจีน

      เนื่องจากชาวหนานหนิง(รวมทั้งกว่างซี)นิยมารบริโภคสัตว์น้ำที่มีความสดใหม่คล้ายคลึงกับชาวกวางตุ้ง และความต้องการบริโภคและกำลังซื้อก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอีกทั้งเส้นทางขนส่งทางอากาศ(ทั้งเส้นทางบินในประเทศและระหว่างประเทศ)มีเครือข่ายครอบคลุมมากขึ้นผู้ส่งออกไทยจึงอาจใช้จุดแข็งดังกล่าวในการขยายตลาดส่งออกสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิตของไทย หรือใช้นครหนานหนิงเป็น Hub ในการกระจายสินค้าต่อไปยังมณฑลอื่นในจีนได้อีกด้วย

 

ลิงก์ข่าว

-“กุ้ง (มีชีวิต) ไทย” ชิมลางนำเข้าผ่านสนามบินนครหนานหนิง(25 .. 2560)

-โอกาสไทยมาถึงแล้ว
!! รัฐบาลกลางไฟเขียวกว่างซีเปิด “นำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิต”(3 .. 2560)

 

จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง

ที่มาหลัก
: เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社) วันที่14 มกราคม 2561

            
เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่11 มกราคม 2561

             เว็บไซต์
www.aqsiq.gov.cn

             เว็บไซต์
www.acfs.go.th

กุ้งกุ้งขาวแวนนาไมสัตว์น้ำหนานหนิงกว่างซีนำเข้า

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน