ยูนนานกำหนดบทบาทการเปิดกว้างสู่ภายนอกของเมืองชายแดน 8 แห่งในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14

27 Jan 2021

ปี 2564 นับเป็นก้าวแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) โดยในส่วนของมณฑลยูนนาน ได้กำหนดการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 และเป้าหมายระยะไกลปี 2578 โดยสนับสนุนให้ “เร่งความเร็วในการสร้างมณฑลยูนนานเป็นศูนย์กลางของจีนเพื่อเชื่อมโยงกับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

มณฑลยูนนานมีเนื้อที่ 394,100 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเมืองและเขตปกครองตนเอง 16 แห่ง โดยมีนครคุนหมิงเป็นเมืองเอก มีเมืองและเขตปกครองตนเอง 8 แห่งที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน รวม 4,060 กิโลเมตร แบ่งเป็นชายแดนกับเมียนมา 1,997 กิโลเมตร ชายแดนกับลาว 710 กิโลเมตร และชายแดนกับเวียดนาม 1,353 กิโลเมตร การบรรลุเป้าหมายในการสร้างมณฑลยูนนานเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องส่งเสริมบทบาทของเมืองและเขตปกครองตนเองชายแดนทั้ง 8 แห่ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

นครคุนหมิงในฐานะเมืองเอกของมณฑล ต้องมีส่วนร่วมในระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา (Bangladesh, China, India and Myanmar Economic Corridor: BCIM) กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macau Greater Bay Area: GBA) และเขตเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง เป็นต้น เพื่อผลักดันให้นครคุนหมิงเป็นข้อต่อสำคัญของการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในประเทศและเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศตามนโยบาย “เศรษฐกิจวงจรคู่” (Dual Circulation) พร้อมทั้งส่งเสริมเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) โดยเน้นการบ่มเพาะอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง โลจิสติกส์การบิน เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสำนักงานใหญ่ เป็นต้น

เขตฯ นู่เจียง (ชายแดนยูนนาน-เมียนมา) ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 เขตฯ นู่เจียงจะใช้ด่านเพี่ยนหม่าเป็นแพลตฟอร์มในการเปิดกว้าง เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนความร่วมมือข้ามแดนในหลากหลายสาขา โดยเข้าร่วมระเบียงเศรษฐกิจ BCIM ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน และกรอบความร่วมมือ MLC โดยเร่งผลักดันโครงการสำคัญ 10 สาขา ได้แก่ ความเชื่อมโยง แพลตฟอร์มเพื่อการเปิดกว้าง ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ความร่วมมือด้านการศึกษาและสาธารณสุข การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความร่วมมือด้านผลิตภาพข้ามแดน ความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ การสร้างความเจริญในพื้นที่ชายแดนและความมั่งคั่งให้ประชาชน และความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน

เมืองเป่าซาน (ชายแดนยูนนาน-เมียนมา) เร่งการพัฒนารูปแบบใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ โดยมีแนวคิด “เรียนจากเจ้อเจียง หาจุดต่าง เพิ่มแรงเสริม” เพื่อให้เมืองเป่าซานเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศคุณภาพสูงและเป็นเมืองศูนย์กลางในภาคตะวันตกของมณฑลยูนนานทั้งในด้านการคมนาคม พลังงาน และบริการสาธารณะ

เขตฯ เต๋อหง (ชายแดนยูนนาน-เมียนมา) เป็นประตูสำคัญของจีนในการเปิดกว้างสู่เมียนมา รวมทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมและเขตต้นแบบความร่วมมือระหว่างมณฑลยูนนานกับเมียนมา โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) พื้นที่ย่อยเต๋อหง ร่วมกับเขตนำร่องพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกเมืองรุ่ยลี่ (Ruili Key Development and Opening-up Pilot Zone) และเขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดนเมืองรุ่ยลี่

เมืองหลินชัง (ชายแดนยูนนาน-เมียนมา) เป็น 1 ใน 17 เขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดนทั่วจีน โดยเน้น “การพัฒนานำหน้า 4 ประการ” ได้แก่ วิสาหกิจ ประชาชน วัฒนธรรม และท้องถิ่น รวมทั้งยังเปิดกว้างสู่เมียนมาผ่านการเชื่อมโยงด้านนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน การค้า การเงิน และประชาชน  ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อตั้งเขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดนเมืองหลินชังเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2562 การนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านด่านชิงสุ่ยเหอในตำบลเหมิ้งติ้ง อำเภอเกิ๋งหม่า เมืองหลินชัง ซึ่งเป็นด่านที่ใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของมณฑลยูนนาน มีปริมาณเพิ่มขึ้น 11 เท่าตัว จาก 87,800 ตันเป็น 966,000 ตัน และการค้าชายแดนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 16 เท่าตัว จาก 150 ล้านหยวนเป็น 2,534 ล้านหยวน นับเป็นด่านชายแดนของมณฑลยูนนานที่มีมูลค่าการค้าชายแดนกับเมียนมามากที่สุด นอกจากนี้ยังมีมูลค่าการค้ารวมทุกประเภทกับเมียนมาสูงเป็นอันดับสองรองจากด่านรุ่ยลี่ในเขตฯ เต๋อหง

เขตฯ สิบสองปันนา (ชายแดนยูนนาน-เมียนมาและลาว) เร่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกลไกเขตความร่วมมือเศรษฐกิจจีน (โม่ฮาน)-ลาว (บ่อเต็น) และเขตนำร่องพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกอำเภอเหมิ่งล่า (โม่ฮาน) (Mengla (Mohan) Key Development and Opening-up Pilot Zone) เร่งกิจกรรมการนำเข้า-ส่งออกของสินค้าประเภทอาหารทะเลแช่แข็ง เนื้อสัตว์ โคเนื้อ ธัญพืช และพันธุ์พืช ควบคู่ไปกับการเร่งปรับปรุงและขยายกลไกความร่วมมือ 4 ประเทศ ระหว่างจีน ลาว เมียนมา และไทย ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การส่งเสริมการลงทุน

เมืองผูเอ่อร์ (ชายแดนยูนนาน-เมียนมา ลาว และเวียดนาม) เน้น “การเชื่อมโยง 5 ประการ” ได้แก่ นโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน การค้า การเงิน และประชาชน โดยใช้ประโยชน์จากทางด่วนชายแดน เส้นทางรถไฟจีน-ลาว และเส้นทางการบิน ในการเชื่อมโยงภายในมณฑลยูนนานกับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งขยายศักยภาพของด่านชายแดนและการค้าชายแดน เร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิด “ก้าวออกไป” และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

เขตฯ หงเหอ (ชายแดนยูนนาน-เวียดนาม) สร้างเมืองศูนย์กลางทางภาคใต้ของมณฑลยูนนาน โดยกำหนดให้เมืองเก้อจิ้ว เมืองไคเยวี่ยน และเมืองเหมิ่งจื้อเป็นใจกลาง เมืองหมีเล่อ อำเภอหลูซีและอำเภอเจี้ยนสุ่ย อำเภอสือผิงเป็นปีกด้านซ้าย-ขวา และอำเภอเหอโข่วเป็นแนวหน้าในการเชื่อมโยงกับเวียดนาม โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) พื้นที่ย่อยหงเหอ เขตปลอดอากรหงเหอ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเหมิ่งจื้อ

เขตฯ เหวินซาน (ชายแดนยูนนาน-เวียดนาม) ส่งเสริมความเชื่อมโยงในรูปแบบ “ชายแดน+ทะเล” โดยด้านตะวันออกเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน และเขตนำร่องพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกเมืองไป่เซ่อ เขตฯ กว่างซี (Guangxi Baise Key Development and Opening-up Pilot Zone) ด้านใต้เชื่อมโยงกับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และวงกลมเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ด้านตะวันตกเชื่อมโยงกับเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑล
ยูนนาน) และเขตเมืองใหม่เตียนจง ส่วนด้านเหนือเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง

ที่มา: http://yn.yunnan.cn/system/2020/12/31/031211277.shtml

ยูนนาน ชายแดน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน