พริกคั่วน้ำมัน “เหล่ากานมา” หญิงเหล็กสู้ชีวิต เจ้าของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกุ้ยโจวที่ช่วยลดความยากจน

19 Apr 2018

ในยุคโลกไร้พรมแดน การเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษา ทำธุรกิจ การทำงาน หรือการท่องเที่ยว ก็ล้วนสะดวกสบาย เพราะมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย รวมทั้ง ระบบโทรคมนาคมที่ทันสมัยก็ช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารข้ามโลกกับครอบครัวเพื่อนฝูงได้อย่างง่ายดาย

แต่เรื่องอาหารการกินซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนไทยที่ไปต่างประเทศ จึงนิยมพกน้ำพริกน้ำปลา ติดไม้ติดมือไปด้วยเสมอ คนจีนก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่คนจีนนิยมพกพามากที่สุดเวลาเดินทางไปต่างประเทศก็คือ พริกคั่วน้ำมัน “เหล่ากานมา”

“เหล่ากานมา” เป็นตราสินค้าพริกคั่วน้ำมันที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมมากที่สุดของจีน ก่อตั้งโดยนางเถา หัวปี้ เมื่อปี 2539 โดยระยะแรกมีสถานะเป็น “โรงงานผลิตอาหาร” มีพนักงานเพียง 40 คน และในปี 2540 ได้จดทะเบียนเป็น “บริษัท กุ้ยหยางหนานหมิงเหล่ากานมา การอาหาร จำกัด” โดยมีนางเถา หัวปี้ เป็นประธานบริษัท มีสำนักงานและโรงงานตั้งอยู่ที่เขตหนานหมิง นครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว

ปัจจุบัน ฐานการผลิต 3 แห่งของ “เหล่ากานมา” มีเนื้อที่รวมกัน 750 หมู่ (ประมาณ 310 ไร่) และมีพนักงาน 5,000 คน มีกำลังการผลิตกว่า 1.2 ล้านขวด/วัน มูลค่าการผลิตประมาณ 4,000 ล้านหยวน/ปี ชำระภาษีกว่า 500 ล้านหยวน/ปี ผลิตภัณฑ์ของ “เหล่ากานมา” มีมากกว่า 20 สูตร อาทิ พริกคั่วน้ำมัน พริกคั่วน้ำมันผสมเต้าซี่ พริกคั่วน้ำมันผสมเนื้อวัว พริกคั่วน้ำมันไก่ เต้าหู้ยี้ในน้ำมันแดง คาดว่าในแต่ละวันมีผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ “เหล่ากานมา” ทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน จนมีคำกล่าวว่า “ที่ไหนมีคนจีน ที่นั่นมีเหล่ากานมา”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2558 “เหล่ากานมา” ยังได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนพัฒนา “เขตอุตสาหกรรมพริกคั่วน้ำมันเหล่ากานมา” เกษตรแปรรูปแบบครบวงจร อาทิ ผลิต บรรจุ และโลจิสติกส์ งบลงทุน 1,100 ล้านหยวน เนื้อที่ 2,000 หมู่ (ประมาณ 833 ไร่) ที่หมู่บ้านถงตั้ง ตำบลชังหมิง อำเภอกุ้ยติ้ง เขตปกครองตนเองเฉียนหนาน โดยนายซุน จื้อกาง เลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลกุ้ยโจว ได้ไปเยี่ยมโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560 ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2561 โดยมีมูลค่าการผลิตไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านหยวน/ปี และชำระภาษีกว่า 50 ล้านหยวน/ปี

“เหล่ากานมา” มีส่วนช่วยลดความยากจน อาทิ การใช้ผลิตผลทางการเกษตรในท้องถิ่น การชำระภาษี การจ้างงานทางตรงและทางอ้อมในกิจการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการออกไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาสังคมอีกทางหนึ่งด้วย โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ได้กล่าวระหว่างการเยือนมณฑลกุ้ยโจวและเยี่ยมชม “เหล่ากานมา” ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ 11-13 ก.พ. 2554 ว่า “ขอให้ขยายกิจการ เพิ่มการจ้างงาน ช่วยให้เกษตรกรมีความสุข หลุดพ้นความยากจน”

สำหรับประวัติของนางเถา หัวปี้ เดิมมีชื่อว่า “นางสาวเถา ชุนเหมย” เกิดเมื่อเดือน ม.ค. 2490 ในเขตชนบทของอำเภอเหมยถาน เมืองจุนอี้ มณฑลกุ้ยโจว เนื่องจากครอบครับยากจนจึงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ โดยเมื่ออายุ 20 ปี ได้แต่งงานกับเจ้าหน้าที่นายหนึ่งในคณะธรณีวิทยา เขต 206 มีลูกชายด้วยกัน 2 คน หลังจากสามีเสียชีวิต นางเถา หัวปี้ ต้องทำงานรับจ้างและขายของแบกะดิน เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว

ต่อมาในปี 2532 นางเถา หัวปี้ นำเงินที่เก็บหอมรอมริบได้ ลงทุนเปิดร้านบะหมี่แห้งคลุกพริกคั่วน้ำมัน ซึ่งนางเถา หัวปี้ ได้ปรุงพริกคั่วน้ำมันรสหมาล่าขึ้นมาเองอย่างพิถีพิถัน ด้วยรสชาติที่กลมกล่อม ความหอมของพริกแห้งที่คั่วกับน้ำมัน และรสเผ็ดชาลิ้นแบบหมาล่า ทำให้กิจการร้านอาหารของนางเถา หัวปี้ ดีวันดีคืน

นางเถา หัวปี้ สังเกตเห็นว่า ลูกค้าชื่นชอบพริกคั่วน้ำมันรสหมาล่าที่ตนเองปรุงขึ้นมาเองอย่างมาก จึงเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยรวบรวมพนักงาน 40 คน ตั้งโรงงานผลิตอาหารพริกคั่วน้ำมันรสหมาล่าตรา “เหล่ากานมา” ในปี 2539 โดยได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากร้านค้าและผู้บริโภค จึงได้ยกระดับ “โรงงานผลิตอาหาร” ขึ้นเป็น “บริษัท กุ้ยหยางหนานหมิงเหล่ากานมา การอาหาร จำกัด” ในปี 2540 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและความหลากหลายของสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค จนสามารถขยายกิจการได้ดังปัจจุบัน

ในช่วงที่นางเถา หัวปี้ ยังเปิดร้านอาหารอยู่นั้น เมื่อมีนักเรียนที่มีฐานะยากจนมารับประทานอาหาร ด้วยความสงสาร นางเถา หัวปี้ จึงเพิ่มปริมาณอาหารให้เป็นพิเศษหรือให้รับประทานโดยไม่คิดค่าอาหารทำให้นักเรียนเหล่านั้นเรียกนางเถา หัวปี้ ว่า “เหล่ากานมา” ซึ่งแปลว่า “แม่อุปถัมป์” (Godmother) ด้วยสำนึกในพระคุณ จึงเป็นที่มาของชื่อพริกคั่วน้ำมันตรา “เหล่ากานมา”

เมื่อพริกคั่วน้ำมัน “เหล่ากานมา” มีชื่อเสียงแล้ว จึงมีสินค้าลอกเลียนแบบจำนวนมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ผู้ผลิตพริกคั่วน้ำมันในมณฑลหูหนานฉวยโอกาสจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “เหล่ากานมา”นางเถา หัวปี้ จึงได้ฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของ จนกระทั่งศาลสูงกรุงปักกิ่งได้พิพากษาตัดสินให้นางเถา หัวปี้ เป็นผู้ชนะคดีและเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “เหล่ากานมา” แต่เพียงผู้เดียว

ด้วยคุณูปการที่มีต่อชุมชน นางเถา หัวปี้ จึงเคยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ กรรมการประจำของสภาประชาชนมณฑลกุ้ยโจว กรรมการประจำของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองนครกุ้ยหยาง และรองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองเขตหนานหมิง นครกุ้ยหยาง นอกจากนี้ ยังเคยได้รับเกียรติเป็นคณะผู้แทนมณฑลกุ้ยโจวเข้าร่วมการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง

นางเถา หัวปี้ จึงเป็นหนึ่งตัวอย่างของหญิงแกร่งที่สร้างฐานะและสร้างธุรกิจโดยเริ่มต้นจากศูนย์จนประสบความสำเร็จ โดยยึดหลักการของความอดทน ความถูกต้อง และรักษามาตรฐานคุณภาพของสินค้า และที่สำคัญคือ การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ว่าจะเป็นการให้นักเรียนยากจนรับประทานอาหารฟรีในสมัยที่ยังเปิดร้านขายบะหมี่ หรือแม้กระทั่งในสมัยที่เป็นเจ้าของธุรกิจเหล่ากานมา โดยดูแลพนักงานดังลูกหลาน การช่วยเหลือชุมชนโดยการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร และการสร้างงานให้คนในชุมชนได้ทำงานใกล้บ้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการลดความยากจนที่ได้รับการชื่นชมจากผู้นำประเทศจีน ที่ตั้งเป้าหมายกำจัดความยากจนภายในปี 2563 และยังสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน อย่างจริงจัง เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืนร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้อย่างหลัง

จัดทำโดย

นายโกสินทร์ บุณยวัฒโนภาส

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง

เหล่ากานมา ลดความยากจน ขจัดความยากจน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน