นักวิชาการจีนมะกันวิจัยพันธุ์อ้อยใหม่ต้านทานโรคให้ผลผลิตสูง

9 Feb 2017

ทีมนักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตฯ กว่างซีจ้วงร่วมกับศูนย์วิจัยอ้อย Canal Point รัฐฟลอริดากระทรวงการเกษตรสหรัฐอเมริกาใช้เวลากว่า 3 ปีจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาอ้อยพันธุ์ใหม่หลายสายพันธุ์

เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นฐานการผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของจีน ทั้งในแง่พื้นที่ปลูกอ้อยและปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาล(คิดเป็น2/3 ของทั้งประเทศ) ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลักที่มีความโดดเด่นของกว่างซี

ไม่กี่ปีมานี้ ธุรกิจน้ำตาลของกว่างซีประสบปัญหารุมเร้าหนักทั้งปัญหาจากสภาพภูมิอากาศ ขาดแคลนพันธุ์อ้อยที่หลากหลาย โรคแมลงศัตรูพืช ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการทะลักเข้าของน้ำตาลต้นทุนต่ำจากต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจต้องประสบภาวะซบเซาต่อเนื่องหลายปี

จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สถาบันทั้งสองแห่งข้างต้นได้ร่วมกันดำเนินโครงการ "ความร่วมมือในการวิจัยด้านเทคนิคการเพาะพันธุ์อ้อยที่มีความต้านทานโรค ให้ค่าความหวานสูง และให้ผลผลิตมาก" ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อแก้ไขปัญหาพันธุ์อ้อยที่ปลูกในปัจจุบัน

ผลสำเร็จของโครงการวิจัยดังกล่าว มีดังนี้

(1) นำทรัพยากรพันธุกรรมอ้อย (germplasm resource) ที่มีความต้านทานโรคจากสหรัฐอเมริกา 52 ชุด และดอกอ้อยพันธุ์ลูกผสม 26 ชุด

(2) คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ปลูกในกว่างซีได้ 3 สายพันธุ์

(3) จัดตั้งสวนทรัพยากรพันธุกรรมอ้อยระหว่างประเทศที่มณฑลไห่หนาน (เป็นศูนย์เพาะและขยายพันธุ์อ้อยของสถาบันวิจัยกว่างซีที่ตั้งอยู่ในมณฑลไห่หนาน)

(4) โคลนนิ่งหน่วยพันธุกรรม (Gene) อ้อยที่มีความต้านทานโรค มีค่าความหวานสูงและให้ผลผลิตมาก 12 ชนิด

ตามรายงาน ขณะนี้มีการส่งเสริมการปลูกอ้อยพันธุ์ใหม่ 4 สายพันธุ์ในพื้นที่ 45,000 หมู่จีน (ราว 18,750 ไร่)

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลว่า โครงการความร่วมมือดังกล่าวได้รับการตรวจรับจากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจีนแล้ว ลำดับต่อไป กว่างซีจะกระชับความร่วมมือกับสถาบันวิจัยอ้อยของสหรัฐอเมริกาเพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดลองร่วมด้านการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่มีความต้านทานโรคเพื่อยกระดับมาตรฐานเชิงเทคนิคในการเพาะเลี้ยงและคัดเลือกอ้อยสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ค่าความหวานสูงและให้ผลผลิตสูง

บีไอซี เห็นว่า อ้อยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศไทย ดังนั้น ต้นแบบความร่วมมือเพื่อพัฒนาสายพันธุ์อ้อยของกว่างซีกับสหรัฐอเมริกานับเป็นต้นแบบที่ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเกษตรของไทยได้เช่นกัน

โดยเฉพาะในบริบทที่กว่างซีกับประเทศไทยมีสภาพทางภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกัน มีอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมสำคัญคล้ายคลึงกัน ดังนั้น การแสวงหาแนวทางความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาพันธุ์อ้อยจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของสองฝ่าย

เมื่อกว่า 20 ปีก่อน บริษัทน้ำตาลมิตรผลของไทยได้อาศัยจุดแข็งจากการเป็นพื้นที่แหล่งปลูกอ้อยขนาดใหญ่ของกว่างซีเข้ามาลงทุนธุรกิจน้ำตาลในกว่างซีจนถึงปัจจุบัน มิตรผลมีการต่อยอดธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากอ้อยแบบครบวงจร ทั้งการผลิตเอทานอล การผลิตไฟฟ้า และการผลิตกระดาษจากชานอ้อย นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเขตฯ กว่างซีจ้วง

 

ลิงค์ข่าว

ฟ้าหลังฝนของธุรกิจน้ำตาลกว่างซี(จีน)ที่ธุรกิจต้องปรับตัว (11 ม.ค. 2560)

ใกล้ทางสว่าง…ธุรกิจน้ำตาลกว่างซีกำลังจะตื่นจากฝันร้าย (24 พ.ย. 2559)

สมาคมน้ำตาลกว่างซีร้องรัฐบาลกลางใช้มาตรการปกป้องน้ำตาลนำเข้า (25 ต.ค. 2559)

ปีนี้ น้ำตาลจีนวูบ ผลผลิตแค่ 9 ล้านตัน ไม่พอความต้องการ (15 มี.ค. 2559)

น้ำตาล(ไม่)หวาน น้ำตาลกว่างซีเจอศึกหนัก ร่วงหรือรอด? (07 มี.ค. 2559)

ฝ่าวิกฤตน้ำตาล!! กว่างซีเตรียมผลักธุรกิจน้ำตาล "ก้าวออกไป" (03 มี.ค. 2559)

การประกันดัชนีราคาน้ำตาลอ้อย (ในกว่างซี) คืออะไร? (13 ม.ค. 2559)

ธุรกิจน้ำตาลกว่างซีดึง "อีคอมเมิร์ซ+โลจิสติกส์" พลิกวิกฤตเป็นโอกาสทำเงิน (26 มิ.ย. 2558)

กว่างซีรุก "ผลิตภัณฑ์การเงิน" นวัตกรรมปลดทุกข์ชาวไร่อ้อยและธุรกิจน้ำตาลจีน (26 มี.ค. 2558)

กว่างซีปรับลดราคารับซื้ออ้อย หวังกู้วิกฤตธุรกิจน้ำตาลจีน (16 ธ.ค. 2557)

ธุรกิจอ้อยและน้ำตาลกว่างซี สู้ศึกหนักต้นทุนสูง ราคาตก สินค้าค้างสต็อก (10 ต.ค. 2557)

 

กว่างซีวิจัยอ้อย

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน