ด่านผิงเสียงของกว่างซีใช้ “รังสี” กักกันโรคพืชในผลไม้นำเข้าเป็นที่แรกในจีน

24 May 2016

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : ด่านทางบกในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงได้นำ เทคโนโลยีการฉายรังสีลำอิเล็กตรอน สำหรับผลไม้นำเข้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านงานตรวจสอบโรค/แมลงศัตรูพืชและการถนอมอาหารเป็นแห่งแรกของประเทศจีน

ศูนย์รังสีเพื่อการตรวจสอบและกักกันโรคพืชสำหรับผลไม้จีน(ผิงเสียง)-อาเซียน หรือ China-ASEAN Pingxiang Fruit Irradiation Quarantine Processing Center (中国东盟凭祥水果辐照检疫处理中心) มีมูลค่าเงินลงทุน 70 ล้านหยวน เป็นโครงการความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างรัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วง สำนักงาน AQSIQ (国家质检总局) และบริษัท Nuctech (北京清华同方威视技术股份有限公司) ของมหาวิทยาลัยชิงหัวกรุงปักกิ่ง

ทำไมถึงต้องตั้งศูนย์รังสีที่อำเภอระดับเมืองผิงเสียง?? นั่นก็เพราะว่า เมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของด่านทางบกที่มีปริมาณการนำเข้าส่งออกผลไม้มากที่สุดในจีน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border, 友谊关口岸) ซึ่งเป็นด่านสากล และด่านผู่จ้าย (Puzhai Border, 浦寨口岸) ซึ่งเป็นด่านการค้ากับประเทศเวียดนาม ในแต่ละปีด่านเหล่านี้มีการนำเข้าส่งออกผลไม้เฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านตัน (ผลไม้นำเข้ามากกว่า 5 แสนตัน) ส่วนใหญ่เป็นผลไม้เมืองร้อนจากอาเซียน

ปีที่แล้ว (ปี 2558) เมืองผิงเสียงมีการนำเข้าส่งออกผลไม้กว่า 1.41 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของทั้งประเทศ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2559 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าส่งออกผลไม้ 3.56 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.97 คิดเป็นมูลค่า 1,350 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.45

เทคโนโลยีรังสีเพื่อการเกษตรมีจุดเด่นอย่างไร?? การฉายลำแสงอิเล็กตรอน (Electron Beam) ในผลไม้และสินค้าเกษตรนำเข้า เป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยที่จะช่วยกำจัดโรคและแมลงที่ติดมากับผลไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณสมบัติช่วยถนอมอาหาร ยืดอายุการเก็บรักษา อีกทั้งยังสามารถใช้เพื่อยับยั้งการงอกของพืชผักผลผลิต และสามารถใช้ฆ่าเชื้อโรคในอาหารหรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์

นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยยกระดับประสิทธิภาพด้านการตรวจสอบและกักกันโรค และการงานผ่านพิธีการทางศุลกากรให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยควบคุมป้องกันภัยคุกคามด้านระบบนิเวศจากโรคและแมลงที่ติดมากับผลไม้นำเข้า และลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรในผลไม้อันเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศ

ที่สำคัญ คือ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และช่วยแก้ไขปัญหาแมลงศัตรูพืชในผลไม้นำเข้าโดยไม่จำเป็นต้องส่งกลับประเทศต้นกำเนิดให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอีกต่อไป

ศูนย์รังสีฯ มีศักยภาพการทำงานอย่างไร?? ศูนย์แห่งนี้สามารถฉายรังสีผลไม้ได้ปีละ 1.2 แสนตัน (วันละกว่า 300 ตัน) หลักการทำงานทั่วไป คือ การนำกล่องผลไม้นำเข้าลำเลียงผ่านสายพานเพื่อเข้าสู่กระบวนการฉายรังสี ตลอดกระบวนการใช้เวลาเพียง 6 นาที นั่นหมายถึง ผลไม้นำเข้า 30 คันในหนึ่งคันรถบรรทุกจะใช้เวลาฉายรังสีเพียงชั่วโมงกว่าเท่านั้น

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด่านโหย่วอี้กวาน เป็นด่านนำเข้าเพียงแห่งเดียวในกว่างซีที่ระบุอยู่ใน พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยกับจีน บนเส้นทาง R9 (ลงนามไปเมื่อกลายปี 2552) ซึ่งเป็นเอกสารทางกฎหมายที่ช่วยให้การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน และสะดวกมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลให้ R9 ได้รับความนิยมในการขนส่งผลไม้ไปจีนมากกว่าเส้นทางอื่นๆ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีการพัฒนา ลู่ทางการส่งออกผลไม้ไทยผ่านด่านชั้นรองในกว่างซี โดยเฉพาะด่านการค้าชายแดน และจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เป็นระบบการค้าที่ขาดความยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องโรคและแมลง รวมถึงการใช้สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณที่เหมาะสมอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงาน CIQ และสำนักงานศุลกากร) และผู้บริโภคในจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

 

ผลไม้ผิงเสียงรังสีเทคโนโลยีการฉายรังสีลำอิเล็กตรอน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน