จินตนาการ+นวัตกรรม = การผลิตอัจฉริยะ สูตรการพลิกโฉมอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน

12 Jul 2018

เมืองหลิ่วโจวเชิญอาเซียนระดมสมองเพื่อร่วมกันหาแนวทางผลักดันการพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมจีน-อาเซียนสู่ “การผลิตอัจฉริยะ” (Smart Manufacturing) ในงาน China-ASEAN Industrial Design & Innovation International Forum (CAIDIF) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561

งานดังกล่าวเป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมจะได้ศึกษาแนวคิดการนำการออกแบบและนวัตกรรมมาใช้ในการสนับสนุนธุรกิจ Startup และ SMEs โดยบรรดานักวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมฯ ได้หารือในประเด็น “การขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรรมด้วยการออกแบบและการผลิตอัจฉริยะ

ปี 2561 เป็นปีครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน และเป็นปีแห่งนวัตกรรมของจีน-อาเซียน ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนภายใต้บริบท “นวัตกรรม” จึงกำลังอยู่ในกระแสนิยม

นายโหว กัง (Hou Gang/侯刚)  รองประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Industry and Information Technology Commission/广西工业和信息化委员会) กล่าวในพิธีเปิดว่า “นวัตกรรมการออกแบบ” เป็นแนวทางการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น

ปัจจุบัน กว่างซีกำลังเร่งฝีก้าวพัฒนาให้นครหนานหนิง  เมืองหลิ่วโจว และเมืองยวี่หลิน เป็นเมืองแห่งการผลิตอัจฉริยะ โดยวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมให้สมบูรณ์ขึ้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

เขตฯ กว่างซีจ้วงพร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยใช้การออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) เป็นแรงผลักดันในการยกระดับคุณภาพ เสริมสร้างประสิทธิภาพ และปรับปรุงโครงสร้างของอุตสาหกรรมดั้งเดิม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) การแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน และสร้างแรงขับเคลื่อนการพัฒนา

ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของไทย เป็นผู้แทนไทยที่ได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวปาฐกถาบนเวที CAIDIF โดยกล่าวว่า “นวัตกรรม” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และประทศไทยกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ดังกล่าว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไทยกับจีนจะมีการพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการผลิตอัจฉริยะในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น

ด้าน Mr. Boni Pudjianto ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศของ Indonesian Creative Economy Agency ผู้แทนจากอินโดนีเซีย กล่าวเชิญชวนวิสาหกิจด้านการออกแบบอุตสาหกรรมของจีนเข้ามาศึกษาสำรวจและแสวงหาโอกาสความร่วมมือในประเทศอินโดนีเซีย

ปัจจุบัน จีนและอินโดนีเซียมีความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง จำนวนมาก อาทิ โรงงานผลิตและจำหน่ายรถยนต์แบบครบวงจรที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐของค่ายรถ SGMW (上汽通用五菱 ) ในอินโดนีเซีย ซึ่งเน้นผลิตรถยนต์ MPV และมีกำลังการผลิตปีละ 1.2 แสนคัน

นอกจากนี้ ยังมีเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-จีน (กว่างซี) (印尼·中国经贸合作区) ในกรุงจาการ์ตา และเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง

Datuk Zainuddin Yahya เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศจีน กล่าวว่า มาเลเซียมีความต้องการอุตสาหกรรมเชิงนวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียวที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเพื่อเป็นหลักประกันว่ามาเลเซียจะก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงตามเป้าหมายในปี 2563 มาเลเซียกำลังยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง โดยการดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและองค์ความรู้อย่างเข้มข้น (Capital and Knowledge Intensive Industries)

ไฮไลท์สำคัญของงานครั้งนี้ คือ การปรากฎตัวของนายเจี่ย เหว่ย (Jia Wei贾伟) นักออกแบบที่มีชื่อเสียงของจีน (เคยได้รับรางวัลการออกแบบระดับนานาชาติหลายรางวัลทั้ง HONGDIAN, IF, IDEA) และเป็นผู้ก่อตั้ง LKK กลุ่มบริษัทออกแบบอุตสาหกรรมและสินค้าเชิงนวัตกรรมชั้นนำของจีน และเป็นผู้นำเสนอแนวคิด “การออกแบบเพื่อแบ่งปัน” ขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรมการออกแบบ และเป็นบริษัทต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมให้กับ Startup และ SMEs อีกด้วย

กลุ่มบริษัท LKK Innovation Design ได้สร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนด้านการออกแบบเพื่อแบ่งปัน และสร้างแหล่งเรียนรู้ของนักนวัตกรรม โดยนำสิ่งประดิษฐ์และแนวคิดการออกแบบอันล้ำสมัยซึ่งผสมผสานระหว่างจินตนาการกับเทคโนโลยีมาจัดแสดงภายในงานด้วย เช่น อุปกรณ์เดินทางอัจฉริยะ หุ่นยนต์ประเภทต่าง ๆ รถยนต์พลังงานทางเลือก อุปกรณ์เครื่องเสียงอัจฉริยะ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะประเภทต่างๆ

ภายในงานฯ ยังมีการร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยการร่วมพัฒนานวัตกรรมและการออกแบบอุตสาหกรรม “1 แถบ 1 เส้นทาง” (一带一路工业设计与创新发展联合备忘录) โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า จะร่วมกันพัฒนา “แพลตฟอร์มความร่วมมือด้านการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืนระหว่างจีนกับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน"  

นอกจากนี้ ผู้แทนทุกฝ่ายเห็นว่า การจัดฟอรัม CAIDIF เป็นประจำทุกปีจะเป็นกลไกการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการด้าน “การบริการสาธารณะและการวิจัยเพื่อการออกแบบอย่างยั่งยืน” และยังเป็นโครงการความร่วมมือเชิงพาณิชย์ระหว่างจีนกับอาเซียน รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีนกับอาเซียนมีส่วนร่วมในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมระหว่างกัน

 

ลิงก์ข่าว

3 บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ใช้ IoT ตอบโจทย์ธุรกิจยุคดิจิทัล (3 ก.ค. 2561)

หนานหนิงโปรโมท “จงกวนชุน” แพลตฟอร์มธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจีน-อาเซียน (8 มิ.ย. 2561)

สวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุนนครหนานหนิงจุดเริ่มต้นของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรม (9 พ.ค. 2561)

หนานหนิง เป๋ยไห่ กุ้ยหลิน เมืองยุทธศาสตร์การลงทุนในอุตสาหกรรมไอที (8 พ.ค. 2560)

 

จัดทำโดย นายชิว เจียเหว่ย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง 

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中国新闻网)  วันที่  30 มิถุนายน 2561 และวันที่ 2 กรกฎาคม 2561

ภาพประกอบ
www.pexel.com

นวัตกรรมการผลิตอัจฉริยะจินตนาการ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน