จับตาพญามังกร : “ยานยนต์ไร้คนขับ” นวัตกรรมเปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์จีน

14 Mar 2018

ณ วันนี้ แนวคิด self-drive carหรือยานยนต์ไร้คนขับไม่ได้เป็นเรื่องมโนอีกต่อไปเมื่อธุรกิจและเทคโนโลยีอัจฉริยะกำลังพาโลกก้าวเข้าสู่ยุค “ไร้คนขับ”ซึ่งได้สร้างกระแสการรับรู้และตื่นตัวในวงสังคมธุรกิจทั่วโลก รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างจีน

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธุรกิจยานยนต์ในจีน (และทั่วโลก) การก้าวเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ในยุคก่อนวัดกันที่ “เครื่องยนต์แรงม้า” ว่าใครมีสมรรถนะมากกว่ากัน จากนั้นการแข่งขันก็เฉือดเฉือนกันที่ดีไซน์การออกแบบ การตกแต่งภายใน และการใช้วัสดุ

ปัจจุบัน การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ชี้ขาดกันด้วยเรื่องการตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่ ค่ายรถยนต์ในจีนเร่งพัฒนายานยนต์ที่เข้ากับเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์รถยนต์กับโลกอินเทอร์เน็ตและพัฒนาระบบการทำงานอัจฉริยะของยานยนต์

อย่างในกรณีของนักขับมือใหม่ การถอยหรือการจอดรถในที่จอดแคบ ๆ คงทำให้หลายคนต้องปาดเหงื่อ แต่เทคโนโลยีจอดรถอัตโนมัติที่มากับยานยนต์อัจฉริยะทำให้ปัญหาการจอดรถไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ซึ่งนำอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ยุคไร้คนขับ” ในอนาคตอันใกล้

ระบบอัจฉริยะ (IntelligentSystem) เป็นเทรนด์หลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์” คำกล่าวของนาย Wang Xiaokui(นามสมมุติ) นักวิจัยระบบยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองของบริษัทNavInfo (北京四维图新公司) ในกรุงปักกิ่ง

อันที่จริง “ยานยนต์อัจฉริยะ” (smart car) ไม่ใช่เรื่องใหม่ การวิจัยและพัฒนายานยนต์อัจฉริยะได้เริ่มมาหลายปีแล้ว

สมาคมวิศวกรรมยานยนต์สหรัฐฯหรือ SAE แบ่งระบบยานยนต์อัจฉริยะไว้ 5 ระดับ[*] ตั้งแต่ระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Driver Assistance) ไปจนถึงยานยนต์ไร้คนขับเต็มระบบ (Full Automation) ซึ่งปัจจุบันยานยนต์ที่มีการทดสอบบนถนนส่วนมากจะเป็นยานยนต์ระดับ2 หรือ อัตโนมัติบางส่วน (Partial Automation) ถึงระดับ 3 หรือ อัตโนมัติในห้วงเวลา (Conditional Automation) ซึ่งเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่สามารถวิ่งบนทางด่วนได้

แต่!! เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ คือ การขับขี่อัตโนมัติระดับ 5 ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีผู้ขับขี่อีกต่อไปผู้โดยสารเพียง“ออกคำสั่ง”แล้วระบบจะสั่งการและนำผู้โดยสารไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย

จากนี้ไป รถยนต์จะไม่ใช่รถกระป๋องธรรมดา ๆ แต่จะเป็นผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มี มันสมองและทุกคนสามารถครอบครองได้” นาย WangXiaokui นักวิจัยฯ กล่าว

ที่สำคัญ “ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ”เป็นเพียงก้าวแรกของการพัฒนายานยนต์สู่ระบบอัจฉริยะ เพราะ…การพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะในโลกอนาคตจะประกอบด้วย “ชิป+ชุดคำสั่ง+ดาต้า+ซอฟแวร์” หากเปรียบกับร่างกายมนุษย์" ยานยนต์ในยุคอนาคตนอกจากจะต้องมีเลือดเนื้อแล้ว ยังต้องมีวิญญาณและมันสมอง (เทคโนโลยี AI) ด้

การปฏิวัติ“เทคโนโลยี”เป็นการสร้างโอกาสใหม่ทางการตลาด ในรายงานการวิจัยของ Ping’An Securities (平安证券) ชี้ว่า ในปี 2563 ตลาดยานยนต์อัจฉริยะในจีนจะมีมูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านหยวน หรือราวๆ สามแสนล้านบาท

ขณะที่หลายองค์กรเห็นว่า การสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐและการพลิกโฉมเทคโนโลยียานยนต์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งกระตุ้นให้ตลาดเทคโนโลยี IoV (Internet of Vehicle) ที่มีมูลค่าแฝงทางการตลาดอยู่ในระดับแสนล้านหยวนเติบโตตามไปด้วย อาทิ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ชุดอุปกรณ์เซ็นเซอร์ และการบริการ (Operation service)

โอกาสธุรกิจอันมหาศาลของตลาดยานยนต์อัจฉริยะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจอินเทอร์เน็ต และนักลงทุนต่างเข้ามาแย่งชิง“เค้ก” ก้อนโตในอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะธุรกิจหลายรายเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อสวมบท “ผู้เล่นตัวจริง” ในสนามธุรกิจที่หลายฝ่ายคาดว่าจะแข่งขันกันอย่างดุเดือดในอนาคตอันใกล้

      ศึกยักษ์ชนยักษ์ เป็นไฮไลท์ที่น่าจับตามองในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะของจีน โมเดลธุรกิจใหม่ที่จับคู่ “ข้ามสายพันธุ์” ระหว่างค่ายรถยนต์กับบริษัทไอทีในจีนเพื่อแย่งชิงพื้นที่ในอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ ความเคลื่อนไหวของคู่พันธมิตรยักษ์ใหญ่ที่น่าสนใจ อาทิ

  •   ค่ายรถยนต์ SAICMOTOR (上汽集团) จับมือกับเครือ Alibaba พัฒนายานยนต์เทคโนโลยี IoV โดยอาศัยจุดแข็งของระบบปฏิบัติการ Yun OS, Big Data พิกัดตำแหน่ง อาลีคลาวด์ และระบบสื่อสารของAlibaba
  •   ค่ายรถยนต์ GAGGroup (广汽集团) ร่วมมือกับ Tencent (腾讯集团) พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะหลายรายการ อาทิ บริการสำหรับ IoV เทคโนโลยีคลาวด์ Big Data ระบบขับขี่อัจฉริยะ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นน้ำ-ปลายน้ำ และอื่นๆ

  •   บริษัท Baidu (百度集团) ร่วมมือกับค่ายรถยนต์ Chery (奇瑞汽车) และ JAC (江淮汽车)พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ โดยใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยี Search Engine และระบบพิกัดแผนที่ของ Baidu
  •   ค่ายมือถือ Huawei จับมือกับค่ายรถยนต์ DongFeng Motor (东风汽车) พัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะและระบบ IT/ICT สำหรับยานยนต์ เช่น ระบบค้นหาพิกัด ระบบสั่งด้วยเสียง (voice recognition)

อย่างไรก็ดี เส้นทางธุรกิจของการจับคู่พันธมิตรธุรกิจข้างต้นดูเหมือนจะก้าวช้ากว่า NIO (蔚来汽车) ค่ายรถยนต์ IoV รายแรกของจีนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 เพื่อตอบโจทย์สำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่มีสมรรถนะสูงเป็นหลัก ปัจจุบัน ค่ายรถยนต์รายนี้มีศูนย์ออกแบบและวิจัยหลายแห่งทั่วโลก ทั้งในนครมิวนิก กรุงลอนดอน และซิลิคอนวัลเลย์

นาย Zheng Xiancong (郑显聪) ผู้ก่อตั้งและรองCEO ค่ายรถยนต์ NIO ชี้ว่า “จีนมีปัจจัยความพร้อมในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัจฉริยะ เพราะจีนมีตลาดขนาดใหญ่ มีรัฐบาลคอยสนับสนุนอย่างเต็มที่ การลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว และชาวจีนก็ยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์อัจฉริยะค่อนข้างมาก"

นาย Zheng ผู้ก่อตั้งและรองCEO ค่ายรถยนต์ NIO ให้คำจำกัดความของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะของจีนว่าต้องใช้หลัก “ยืมแรงเพราะยานยนต์อัจฉริยะเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือข้ามกลุ่มธุรกิจ (segment) ไม่สามารถทำเองคนเดียวได้ การร่วมมือข้ามกลุ่มธุรกิจจึงก่อให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งเป็น“อัตลักษณ์”สำคัญของการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะของจีน

ประเด็นสุดท้าย การสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หรือ NDRC ได้ประกาศ“(ร่าง)ยุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์อัจฉริยะ” สำหรับการประชาพิจารณ์ โดยระบุถึงแผนอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะของจีนที่น่าสนใจ ดังนี้

  •   ปี 2563 รถยนต์ที่ผลิตใหม่ของจีนจะมีสัดส่วนรถยนต์อัจฉริยะราว 50%โดยรถยนต์อัจฉริยะระดับกลางและสูงจะเริ่มเข้าสู่ระบบตลาด
  •   ปี 2568 จะมีการใช้รถยนต์อัจฉริยะระดับสูงในวงกว้าง เป็นการหลอมรวมของ “คน รถ ถนน และคลาวด์”
  •   ปี 2578 รถยนต์อัจฉริยะมาตรฐานจีนจะมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก ชาวจีนอาศัยอยู่ในสังคมยานยนต์อัจฉริยะที่มีความปลอดภัยมีประสิทธิภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีวัฒนธรรม

กระแสการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะเป็นโอกาสสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน เจ้าหน้าที่ NDRC ชี้ว่า ปัจจุบัน การปฏิวัติเทคโนโลยีและการพลิกโฉมอุตสาหกรรมรอบใหม่ซึ่งเน้น “ความเป็นอัจฉริยะ” กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งจีนมุ่งมั่นที่จะช่วงชิงตำแหน่ง“ผู้นำ”ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกใหม่ของโลก เร่งผลักดันการพัฒนาด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะและสร้างความแข็งแกร่งด้านการออกแบบระดับสูง (High Level design) ในแวดวงยานยนต์อัจฉริยะ

การสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐสร้างความมั่นใจให้ภาคอุตสาหกรรมของจีน นาย Liu Junfeng (刘俊峰) ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจยานยนต์ของริษัท iFLYTEK (科大讯飞股份有限公司) แสดงความเชื่อมั่นว่า เมื่อเทคโนโลยีอัจฉริยะของรถยนต์สุกงอม รวมถึงการมีกฎจราจรแผนงานและการก่อสร้างถนนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นแล้ว การเข้าสู่“ยุคแห่งรถยนต์อัจฉริยะ” คงอีกไม่นานเกินรอ

 

คำอธิบาย

         [*] ระบบยานยนต์อัจฉริยะ 5 ระดับ ได้แก่

         ระดับ 1 (Level 1) ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Driver Assistance)เมื่อผู้ขับขี่ควบคุมการเดินรถในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจับพวงมาลัยการเร่งคันเร่ง การลดความเร็ว หรือใช้ข้อมูลด้านสภาพการขับขี่ผู้ขับขี่ยังทำหน้าที่ตามปกติ โดยระบบนี้จะทำงานพื้นฐานด้วยเรดาร์ในการควบคุมระยะห่างระหว่างรถของตนและรถคันหน้าตามระบบควบคุมความเร็ว

         ระดับ 2 (Level 2) อัตโนมัติบางส่วน (Partial Automation) ทำหน้าที่ควบคุมพวงมาลัย การเร่งคันเร่ง และการลดความเร็วแต่ผู้ขับขี่ยังคงทำหน้าที่อื่นๆ ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเลนการเข้า-ออกจากทางด่วน การเลี้ยวกลับรถ

         ระดับ 3 (Level 3) อัตโนมัติในห้วงเวลา (Conditional Automation) ทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมสภาพการขับขี่ ควบคุมการเร่งความเร็ว การเบรกและการขับเคลื่อน แต่ยังต้องมีผู้ขับขี่นั่งอยู่ในตำแหน่งเพื่อตรวจสอบสภาพถนนเบื้องหน้าตามปกติ เพียงแต่การขับขี่จะดำเนินไปด้วยระบบโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องสนใจ จนกว่าจะระบบจะมีสัญญาณแจ้ง

         ระดับ 4 (Level 4) อัตโนมัติระดับสูง (High Automation)ทำหน้าที่ทุกสิ่งในการขับขี่รวมทั้งเมื่อระบบร้องขอแล้วผู้ขับขี่ไม่ทำตามระบบก็จะทำการเบรกอัตโนมัติ เมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งฟอร์ดและวอลโวต่างระบุว่า พร้อมจะติดตั้งระบบยานยนต์ไร้คนขับ ระดับ 4 ก่อนปี 2564 แต่ยังไม่มีหน่วยราชการใดออกมาอนุมัติให้ยานยนต์ระดับนี้ใช้งานได้บนท้องถนน

ระดับ 5 (Level 5) ยานยนต์ไร้คนขับเต็มระบบ (100 % Full Automation)ทำหน้าที่ตลอดเวลาด้วยระบบการขับขี่อัตโนมัติที่มาจากข้อมูลที่ได้รับจากส่วนต่างๆ บนรถ ทั้งเซนเซอร์ กล้องถ่ายภาพระบบนำทางผ่านดาวเทียม โดยมีหน่วยประมวลผลข้อมูลทั้งหมดและทำหน้าที่ควบคุมการขับขี่โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับขี่

 

 

จัดทำโดย นายชิว เจียเหว่ย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา
:เว็บไซต์ http://finance.people.com.cn(人民网) ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561

              เว็บไซต์
http://money.163.com(网易)

              เว็บไซต์
http://tech.qq.com(腾讯科技)

              เว็บไซต์ www.autoinfo.co.th

AIยานยนต์ไร้คนขับรถยนต์อัจฉริยะจีนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน