จับจองโอกาส…เมื่อท่าเรือชินโจวเป็น ‘ด่านนำเข้ารังนก’ที่แรกในจีน

5 Dec 2016

ชาวจีนนิยมการบริโภครังนกมานานหลายพันปี ด้วยสรรพคุณทางยาชนิดที่เรียกว่า ครอบจักรวาลในความเชื่อตามศาสตร์แพทย์แผนจีน ทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยชนิดนี้มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วในตลาดผู้บริโภคชาวจีน

ปัจจุบัน การนำเข้ารังนกบริสุทธิ์อย่างถูกกฎหมาย ทางการจีนอนุญาตให้มีการนำเข้ารังนกจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย และต้องเป็นการนำเข้าจากผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานจีน[*]ซึ่งมีเพียงน้อยรายเท่านั้น

ในส่วนของรังนกดิบ (raw bird’s nest) หรือบ้างก็เรียก รังนกขน ทางการจีนยังไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าแต่อย่างใด เนื่องจากรังนกดิบมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกและการเจือปนของสารที่เป็นพิษต่อร่างกายประเด็นอ่อนไหวนี้เองทำให้ทางการจีนดำเนินมาตรการควบคุมการนำเข้ารังนกดิบที่เข้มงวด

รัฐบาลมาเลเซียพยายามเจรจากับฝ่ายจีนหลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุดสองฝ่ายได้ร่วมลงนามพิธีสารรังนกดิบ ที่กรุงปักกิ่งซึ่งนับเป็น ใบเบิกทางให้รังนกดิบจากมาเลเซียบุกเข้าตลาดจีนแผ่นดินใหญ่อย่างถูกกฎหมายได้เป็นครั้งแรก แต่กระบวนการนำเข้าต้องอยู่ในบริบทที่ต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงอย่างเข้มข้นจากฝ่ายจีนเสียก่อน

อุปสงค์รังนกในตลาดจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กับการเปิดทางให้ รังนกดิบของมาเลเซียเข้าจีน นั่นหมายถึง เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลกับโอกาสทางธุรกิจที่ใครๆ ก็อยากไขว่คว้า โดยเฉพาะการลงทุนของธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำ

ณ จุดนี้ต้องยอมรับในความแยบยลของรัฐบาลกว่างซีที่คว้าโอกาสและกระโดดเข้าเป็นผู้เดินหมากบนกระดานนี้แต่เพียงผู้เดียว กล่าวคือ

รัฐบาลกว่างซีกำหนดให้เมืองท่าชินโจว (Qinzhou City) เป็น ฐานการนำเข้ารังนก โดยผูกโยงความเกี่ยวพันจากการที่เมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมระดับชาติจีน-มาเลเซียเข้ากับการเปิดทางให้รังนกดิบที่มีแหล่งผลิตจากมาเลเซียเข้าสู่จีน ซึ่งช่วยเสริมน้ำหนักต่อการเป็นฐานการนำเข้ารังนกของเมืองชินโจวซึ่งฟังดูจะเหมาะสมเหนือเมืองแห่งอื่นในจีน

รัฐบาลกว่างซีเดินเกมส์รุกด้วยการทุ่มเงินลงทุน 690 ล้านหยวนเพื่อรังสรรค์สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกแบบครบวงจรเป็นที่แรกในประเทศบนเนื้อที่ 33.3 ไร่ แถมจัดให้โครงการนี้เป็น key project ของนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย

ครบวงจรยังไง??? สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้มีฟังก์ชั่นด้านการนำเข้า การตรวจสอบและกักกันโรค การแปรรูป การวิจัยและพัฒนา การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า การท่องเที่ยวและการซื้อขายรังนก รวมทั้งการเปิด Labทดสอบรังนกที่เขาเคลมว่ามีมาตรฐานความพร้อมในการทดสอบเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อโรค รวมถึงสารพิษตกค้าง

คาดหมายว่า…สวนอุตสาหกรรมฯ เฟสแรกจะเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2560 หลังเปิดดำเนินธุรกิจจะมีการนำเข้ารังนกปีละ 120 ตัน ผลิตภัณฑ์รังนกแห้งปีละ 115 ตัน มูลค่าการผลิตปีละ 6 พันล้านหยวน

ล่าสุดได้ยินมาว่ารัฐบาลกว่างซีกำลังเดินเกมส์ยื่นขออนุมัติจากรัฐบาลกลางให้ท่าเรือชินโจวเป็น ด่านนำเข้ารังนกดิบ (designated port of raw bird’s nest) ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากพอสมควรซึ่งคาดว่าส่วนกลางจะเซย์เยสในเวลาอันใกล้นี้

ชัยชนะของหมากกระดานนี้ก็คือ การกุม ตลาดรังนก(ดิบ)เอาไว้ที่เมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงนั่นเอง

 

บทสรุป

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูจะลงตัวเป๊ะ…ความพร้อมด้านซอฟแวร์จากสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนสารพัดแล้วและการเปิดไฟเขียวให้รังนกดิบมาเลย์เข้าประเทศของรัฐบาลกลางกับความพร้อมด้านฮาร์แวร์จากที่รัฐบาลกว่างซีได้รังสรรค์สวนอุตสาหกรรมและห้องแล็บขึ้นมาเพื่อรองรับการลงทุน

แม้ว่า สวนอุตสาหกรรมรังนกจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย แต่ก็เปิดกว้างรับนักลงทุนทุกสารทิศ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงนักลงทุนจีนกับมาเลเซียเท่านั้น

สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นอีกหนึ่ง ช้อยส์ของนักธุรกิจรังนก(ไทย) ที่มีความพร้อมและมองเห็นโอกาส(ทอง)เข้าจับจองนิคมแปรรูปรังนกเมืองชินโจว เป็นฐานการตลาดผลิตภัณฑ์รังนกจีน ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็กำลังอยู่ระหว่างหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานส่วนกลางจีนในเรื่องนี้เช่นกัน

 

 

 

———————————————————

[*]ก่อนการลงนามพิธีสารฯ ประเทศจีนอนุญาตให้บริษัทส่งออกรังนกของมาเลเซียและอินโดนีเซียบางส่วนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการกำกับการรับรองและอนุญาตเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์แห่งชาติจีน (CNCA- Certification and Accreditation Administration of the People’s Republic of China) สามารถส่งออกมายังจีนได้ ซึ่งไม่รวมถึง "รังนกดิบ" ที่ทางการจีนยังไม่เปิดให้มีการนำเข้ามาในประเทศแต่อย่างใด

รังนก

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน