กุ้ยโจวแง้มแผนปฏิบัติการสามด้าน ขานรับนโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่ของจีน

29 May 2020

นายเฉิน เส่าปอ ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลกุ้ยโจว ให้สัมภาษณ์ความเห็นเกี่ยวกับ “นโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่” ซึ่งคณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ว่า แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับจุดเน้นการพัฒนามณฑลในปัจจุบันที่รัฐบาลจีนกำหนดให้กุ้ยโจวเป็น “พื้นที่นำร่องระดับชาติ” (National Pilot Zone) ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านบิ๊กดาต้า (National Big Data Pilot Zone) ด้านการเปิดกว้างสู่ภายนอก (National Inland Open Economy Pilot Zone) และด้านนิเวศวิทยา (National Ecological Civilization Pilot Zone)

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนหลักของนโยบายพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่นำร่องทั้งสามด้านข้างต้นของมณฑลกุ้ยโจว ได้แก่ (1) การยกระดับการพัฒนาให้มีคุณภาพสูง เช่น การนำนวัตกรรมมายกระดับการผลิตให้เป็นอัจฉริยะ การขจัดความยากจนและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (2) การเพิ่มระดับการเปิดกว้างสู่ภายนอก โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยง รวมถึงความร่วมมือระหว่างมณฑลและความร่วมมือระหว่างประเทศ และ (3) การพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ระบบนิเวศ

ทั้งนี้ กุ้ยโจวได้กำหนดแผนงานตามแนวทางข้างต้นเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเพิ่มขึ้นในการยกระดับการพัฒนาพื้นที่นำร่องระดับชาติทั้งสามด้านของมณฑล ดังนี้

  • การยกระดับการพัฒนาให้มีคุณภาพสูง โดยมณฑลจะส่งเสริมการปฏิวัติอุตสาหกรรมในชนบทและการปฏิวัติคุณภาพการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเกษตรที่ราบสูง เร่งการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่และศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e–Government) แห่งชาติ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานชนบทโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
  • การเปิดกว้างสู่ภายนอก โดยมณฑลจะยื่นขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องในมณฑล ร่วมพัฒนาเส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ด้วยการสร้างเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์สองชั้นระหว่างนครฉงชิ่ง-นครกุ้ยหยาง-อ่าวเป่ยปู้ในเขตฯ กว่างซี ตลอดจนเร่งวางแผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นใหม่จากนครกุ้ยหยางไปยังนครฉงชิ่งที่มีความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสารโดยเฉพาะ จากปัจจุบันที่รถไฟความเร็วสูงระหว่างสองเมืองมีความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและใช้สำหรับขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า โดยรถไฟความเร็วสูงเส้นใหม่นี้จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างทั้งสองเมืองจาก 2 ชั่วโมงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง
  • ระบบนิเวศ โดยมณฑลจะมุ่งเน้นการปลูกป่าในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่ซึ่งกำลังแปรเปลี่ยนเป็นทะเลทรายหิน (Rocky Desertification) เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกินให้กับประชาชน ปรับปรุงอุตสาหกรรมเคมีฟอสฟอรัสและควบคุมกำลังการผลิตปุ๋ยฟอสเฟตและฟอสโฟยิปซัมเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษต่อดิน พืชและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอนุรักษ์และเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณแม่น้ำอูเจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของมณฑลกุ้ยโจวที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำแยงซี

ที่มา: http://www.ddcpc.cn/news/202005/t20200526_980499.shtml

จีน ตะวันตกยุคใหม่

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน