กว่างซีเร่งพัฒนาพื้นที่รองรับธุรกิจภาคบริการ เน้นการค้าและโลจิสติกส์

7 Mar 2018

       ปัจจุบัน ประเทศจีนให้น้ำหนักกับการส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจบริการเป็นอย่างมาก มณฑลต่าง ๆ ในจีนมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้ล้อกับนโยบายส่วนกลางที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการ รวมถึงเขตฯ กว่างซีจ้วงที่รัฐบาลมณฑลเลือกให้“ธุรกิจเชิงการค้าและโลจิสติกส์”เป็นสาขาหลักของการลงทุน

      การสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐเป็นกุญแจสำคัญของการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจบริการในพื้นที่ โดยได้กำหนดและพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความพร้อมเพื่อรองรับและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามารวมตัวกันในพื้นที่นั้น ๆ ทั้งการกำหนดพื้นที่แบบหลวม ๆ และการกำหนดพื้นที่ที่มีฟังก์ชันชัดเจน เช่น นิคม/สวนอุตสาหกรรม และเขตสินค้าทัณฑ์บน

      นายถง อ้ายปิน (Tang Aibin/唐爱斌) รองผู้อำนวยการคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi DRC/广西发改委) ได้ให้ข้อมูลว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา การลงทุนสะสมในพื้นที่ศูนย์ธุรกิจบริการ (service industry cluster area) ชุดแรกที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล 38 แห่งทั่วกว่างซีมีมูลค่ารวม 225,100 ล้านหยวนและมีนักธุรกิจเข้ามาลงทุนมากกว่า 7,000 ราย



      การที่“เขตฯ กว่างซีจ้วง” เป็นมณฑลเดียวของจีนที่ตั้งอยู่ติดกับอาเซียนทั้งทางทะเลและทางบก ทำให้กว่างซีทุ่มเทความพยายามในการบุกเบิกพัฒนาช่องทางเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับอาเซียน (
Gateway to ASEAN) อาทิ ศูนย์กลางการเดินเรือระหว่างประเทศ ศูนย์โลจิสติกส์และการค้า ศูนย์กลางการบริการทางการเงิน และศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ

    นายถางฯรองผู้อำนวยการ Guangxi DRC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบัน กว่างซีมีพื้นที่ศูนย์โลจิสติกส์สมัยใหม่ (modern logistics cluster area) 14 แห่ง มีบริษัทเข้าไปลงทุนแล้ว 2,278 ราย พื้นที่ศูนย์โลจิสติกส์เหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเล เลียบแนวชายแดน และฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะท่าเรือและด่านชายแดน

      ในจำนวนข้างต้น เป็นพื้นที่สาธิตนิคมโลจิสติกส์ระดับชาติ 2 แห่ง คือ สวนโลจิสติกส์ตงวานเมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Dongwan Logistics Park/防城港东湾物流园) และเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรผิงเสียง (Pingxiang Integrated Free Trade Zone/凭祥综合保税区)

      ทั้งนี้ กว่างซีตั้งเป้าหมายว่าในปี 2563 จะก่อตั้งพื้นที่รวมศูนย์ธุรกิจบริการสมัยใหม่ที่มีความหลากหลายและมีความโดดเด่นเฉพาะด้าน จำนวน 122 แห่ง

      สำหรับ “เขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรผิงเสียง” ตั้งขึ้นบริเวณด่านทางบก “โหย่วอี้กวาน”ซึ่งเป็นด่านที่มีปริมาณการค้ามากที่สุดของจีนกับเวียดนามปัจจุบัน เขตสินค้าทัณฑ์บนแห่งนี้เป็นตลาดสำคัญที่เวียดนามซื้อวัสดุทางการเกษตร(ปุ๋ยเคมี) และอุปกรณ์เครื่องจักรกลจากจีน และเป็นฐานกระจายสินค้าเกษตรที่มาจากเวียดนามและประเทศอาเซียนอื่นอาทิ ข้าว ผลไม้ ยางพารากล้าไม้ที่ใช้เพื่อการตกแต่งภูมิทัศน์ และไม้แดง



      ตามรายงาน “นครหนานหนิง”
มีพื้นที่ศูนย์ธุรกิจบริการ 9 แห่ง ซึ่งมากที่สุดในมณฑล (1/4 ของทั้งมณฑล) เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นให้การสนับสนุนเชิงนโยบายในหลายด้าน อาทิ ที่ดิน นโยบายพิเศษ เงินทุน และการตรวจสอบอนุมัติโครงการ

      หนึ่งในโครงการที่น่าจับตามอง คือ สวนโลจิสติกส์แบบครบวงจรระหว่างประเทศนครหนานหนิง (Nanning International Integrated Logistics Park/南宁国际综合物流园) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wu xiang New District/五象新区)บนเนื้อที่ประมาณ3.3 ตารางกิโลเมตรโดยถูกกำหนดให้เป็น “ท่าเรือบก” (Inland Port) และข้อต่อสำคัญของระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่อ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย)

      โครงการดังกล่าวมีบริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group (广西北部湾国际港务集团有限公司) เป็นผู้ลงทุน และตั้งบริษัทลูก Nanning International Integrated Logistics Park (南宁国际综合物流园有限公司)ในการดำเนินธุรกิจ

      ตัวโครงการประกอบด้วย
ศูนย์โลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บนนครหนานหนิง ศูนย์ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ต่อเนื่องหลายรูปแบบพื้นที่โกดังเฉพาะสำหรับธัญพืชและน้ำตาล ตลาดซื้อขายผลไม้ สินค้าเกษตรและป่าไม้ และอาหารทะเลสดระหว่างจีน-อาเซียน รวมทั้งในอนาคตจะก่อสร้างศูนย์การค้าวัสดุก่อสร้างและศูนย์การค้ายานยนต์คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2,500 ล้านหยวน

      ความเคลื่อนไหวสำคัญของปีนี้ โดยรัฐบาลกว่างซีเปิดเผยว่า ปี 2561 กว่างซีจะเร่งรัดการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการสมัยใหม่ 41โครงการ โดยเฉพาะศูนย์ตู้คอนเทนเนอร์ในสถานีรถไฟตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรือชินโจว (钦州港东站集装箱中心站) และสวนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจีน(นครหนานหนิง)-สิงคโปร์ (新南宁国际物流园) เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางรถไฟกับทางทะเล และเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งทางบกข้ามพรมแดนในพื้นที่คาบสมุทรอินโดจีน

 

จัดทำโดย: นางสาวพรทิพย์ ปราบไกรสีห์ นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

เรียบเรียงโดย: นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา: เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 4 มีนาคม 2561

             หนังสือพิมพ์
Nanning Daily (南宁日报)ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2560

โลจิสติกส์service industry cluster areaธุรกิจบริการกว่างซีพื้นที่ศูนย์ธุรกิจบริการอุตสาหกรรมบริการกว่างซี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน