กว่างซีเป็นพื้นที่น่าลงทุนแห่งใหม่ในจีน โดยเฉพาะเกษตรและการบริการ

10 Nov 2015

เว็บไซต์กรมส่งเสริมการลงทุนกว่างซี : กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากพื้นที่เลียงชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศเข้ามาในกว่างซีมีแนวโน้มชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรและภาคการบริการ

ช่วงไตรมาส 2/2558 สถานการณ์การลงทุน(จากภายนอก)ในกว่างซีมีข้อสังเกต ดังนี้

หนึ่ง การลงทุนจากต่างมณฑล พบว่า แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากมณฑลทางฝั่งตะวันออก คือ มณฑลกวางตุ้งมีการลงทุนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ มณฑลฝูเจี้ยน กรุงปักกิ่ง มณฑลหูหนาน มณฑลเจ้อเจียง และนครเซี่ยงไฮ้ ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.9 ของเงินทุนในประเทศ (ช่วงไตรมาส 3/2558 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77.5)

นอกจากนี้ มณฑลตอนกลางและตอนเหนือของประเทศมีแนวโน้มขยายการลงทุนในกว่างซีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อาทิ มณฑลหูเป่ย มณฑลเหลียวหนิง มณฑลเจียงซี และมณฑลซานซี เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

สอง การลงทุนจากพื้นที่นอกจีนแผ่นดินใหญ่ พบว่า ฮ่องกงยังคงเป็นแหล่งเงินทุนรายใหญ่ของกว่างซี รองลงมา ได้แก่ อาเซียน สวีเดน และไต้หวัน ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88 ของเงินทุนนอกจีนแผ่นดินใหญ่ (ฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 69 ส่วนในไตรมาส 3/2558 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73)

ประเทศที่มีแนวโน้มขยายการลงทุนมากที่สุด คือ เวียดนาม (13.1 เท่า) ฝรั่งเศส (1.65 เท่า) และอังกฤษ (1.23 เท่า) ส่วนในช่วงไตรมาส 3/2558 อินโดนีเซีย (ร้อยละ 84.5) และไต้หวัน (ร้อยละ 35.5)

สาม พื้นที่เป้าหมายการลงทุนสำคัญ คือ แนวพื้นที่เศรษฐกิจแม่น้ำเพิร์ล-แม่น้ำซีเจียง (นครหนานหนิง เมืองหลิ่วโจว เมืองอู๋โจว เมืองกุ้ยก่าง เมืองไป่เซ่อ เมืองหลายปิน และเมืองฉงจั่ว) มีสัดส่วนการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 50.3

เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (นครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองชินโจว) มีสัดส่วนการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 32.3 และพื้นที่ปฏิวัติจีนแดงแม่น้ำจั่วเจียง-โย่วเจียง (นครหนานหนิง เมืองไป่เซ่อ เมืองเหอฉือ เมืองฉงจั่ว) มีสัดส่วนการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 26.1

สี่ อุตสาหกรรม 3 ขั้น มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มซบเซาลง

อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ (ภาคการเกษตร) มีการขยายตัว 28.6 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.4 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะการลงทุนด้านเกษตรกรรมมีแนวโน้มการขยายตัวมากที่สุดที่ร้อยละ 35.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของอุตสาหกรรขั้นปฐมภูมิ

อุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิ (ภาคอุตสาหกรรม) สัดส่วนการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 37.3 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยธุรกิจการผลิต (ลดลงร้อยละ 9.3) ธุรกิจเหมืองแร่ (ลดลงร้อยล 56.2) ธุรกิจก่อสร้าง (ลดลงร้อยละ 27.3) ในธุรกิจการผลิต พบว่า การลงทุนในธุรกิจโลหะมีสี วัสดุก่อสร้าง และเซลล์แสงอาทิตย์  มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนโยบายลดกำลังการผลิตส่วนเกิน (Over Capacity)

อุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิ (ภาคการบริการ) มีการขยายตัวร้อยละ 4.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.3 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะธุรกิจบริการเชิงพาณิชย์ ค้าปลีกค้าส่ง การท่องเที่ยว วัฒนธรรม กีฬาและบันเทิงมีแนวโน้มการเติบโตได้อย่างเนื่องในอนาคต

ห้า อุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) มีการเติบโตร้อยละ 10.2 โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานทางเลือกและเกษตรชีวภาพมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว (มูลค่าเงินลงทุนจริงขยายตัว 3.5 และ 1.2 เท่า) เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่และพลังงานทางเลือก (ขยายตัวร้อยละ 66 และ 28.9)

 

 

ลิงค์ที่น่าสนใจ

ถอด รหัส(ไม่ลับ) “14+10” ยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของกว่างซี กว่างซีพร้อมแล้ว แล้วผู้ประกอบการไทยหล่ะ พร้อมหรือยัง? (ตอน 1/4)

ถอด รหัส(ไม่ลับ) “14+10” ยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของกว่างซี กว่างซีพร้อมแล้ว แล้วผู้ประกอบการไทยหล่ะ พร้อมหรือยัง? (ตอน 2/4)

ถอด รหัส(ไม่ลับ) “14+10” ยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของกว่างซี กว่างซีพร้อมแล้ว แล้วผู้ประกอบการไทยหล่ะ พร้อมหรือยัง? (ตอน 3/4)

ถอด รหัส(ไม่ลับ) “14+10” ยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของกว่างซี กว่างซีพร้อมแล้ว แล้วผู้ประกอบการไทยหล่ะ พร้อมหรือยัง? (ตอน 4/4)

ลงทุนกว่างซี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน