กว่างซีส่งเสริมการควบรวมกิจการ ปฏิรูปธุรกิจเหมืองแร่ถ่านหิน

7 Jan 2013

สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมและสารสนเทศเขตฯ กว่างซีจ้วงประกาศ ข้อคิดเห็นว่าด้วยการเร่งผลักดันการควบรวมกิจการเหมืองแร่ถ่านหิน เพื่อปรับโฉมการดำเนินธุรกิจการทำเหมืองของกว่างซี

ข้อคิดเห็นดังกล่าว ระบุว่า ภายในสิ้นปีนี้ (ปี 56) กว่างซีจะปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจเหมืองแร่ถ่านหินให้เฉพาะวิสาหกิจที่มีคุณสมบัติพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือการขุดเจาะเท่านั้น

นอกจากนี้ นครหนานหนิง เมืองชินโจว (Qinzhou City, 钦州市) และเมืองฉงจั่ว (Chongzuo City, 崇左市) เป็น 3 เมืองที่จะไม่ได้รับการอนุญาตให้มีการดำเนินธุรกิจขุดเจาะเหมืองแร่ถ่านหินอีกต่อไป

ข้อมูล ณ สิ้นปีก่อน (ปี 55) กว่างซีมีเหมืองแร่ถ่านหินทั้งสิ้น 123 แห่ง และมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเหมืองถ่านหินขนาดล้านตันอยู่ที่ร้อยละ 5.5

ตามรายงาน กว่างซีวางแผนจะควบคุมจำนวนเหมืองแร่ถ่านหินให้อยู่ภายใน 100 แห่งภายในสิ้นแผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 12 หรือปี 58 และควบคุมอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเหมืองถ่านหินขนาดล้านตันไม่เกินร้อยละ 2.03

ปัจจุบัน กว่างซีกำลังประสบปัญหาเรื่องการควบคุมจำนวนเหมือง รวมถึงมาตรฐานเทคโนโลยีการบุกเบิกพัฒนาเหมืองแร่ถ่านหิน เนื่องจากพบว่ามีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินการขุดเหมืองขนาดเล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน

ดังนั้น ทางการกว่างซีจะได้ออกประกาศข้อคิดเห็นดังกล่าว เพื่อส่งเสริมกระตุ้นให้วิสาหกิจเหมืองแร่ขนาดเล็กควบรวมกิจการกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของกว่างซีได้รับการพัฒนาอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

เป้าหมายการสนับสนุนการควบรวมกิจการอยู่ในเมืองที่เป็นฐานการผลิตถ่านหินขนาดใหญ่ของกว่างซีตั้งอยู่ใน 3 แห่ง ได้แก่ เมืองไป่เซ่อ (Baise City, 百色市) เมืองเหอฉือ (Hechi City, 河池市) และเมืองหลายปิน (Laibin City, 来宾市)

ทั้งนี้ คาดหมายว่า สิ้นปี 58 จะมีวิสาหกิจถ่านหินที่มีกำลังผลิตมากกว่า 5 ล้านตัน จำนวน 1-2 ราย วิสาหกิจที่มีกำลังผลิตมากกว่า 2 ล้านตัน 2-3 ราย และอุตสาหกรรมถ่านหินกว่างซีจะมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 15 ล้านตัน

รูปแบบการควบรวมกิจการ ทำได้โดยการควบซื้อกิจการ การโอนกรรมสิทธิสัญญา การจัดตั้งวิสาหกิจใหม่ร่วมกัน และการเข้าถือหุ้น

โดยเฉพาะรูปแบบการเข้าถือหุ้น พร้อมสนับสนุนให้วิสาหกิจใหญ่ด้านไฟฟ้าพลังน้ำ วิสาหกิจการถลุงแร่โลหะ วิสาหกิจโลหะนอกกลุ่มเหล็ก และวิสาหกิจด้านเคมีเข้ามามีส่วนร่วมหลัก

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน