กว่างซีมีแนวโน้มนำเข้า “ถั่วเหลือง”พุ่งสูงขึ้น

26 Feb 2018

      แนวโน้มความต้องการนำเข้าถั่วเหลือง (พิกัดศุลกากร 1201) ของท่าเรือฝางเฉิงก่างเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2560 ท่าเรือแห่งนี้สร้างสถิติใหม่ด้วยตัวเลขการนำเข้าทะลุ 5 ล้านตันเป็นครั้งแรก และคาดว่าปริมาณนำเข้าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

      สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคเขตฯ กว่างซีจ้วง (CIQ) เปิดเผยว่า ปีที่แล้ว ท่าเรือฝางเฉิงก่างมีการนำเข้าถั่วเหลืองรวม 101 ล็อต (+36.5%) คิดเป็นน้ำหนัก 5.262 ตัน (+42.3%) รวมมูลค่าสินค้า 2,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+45.5%)

      สาเหตุที่มีการนำเข้า“พุ่ง” สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลมากจาก (1) การบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มการใช้กากถั่วเหลืองทดแทนวัตถุดิบประเภทอื่นในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก กอปรกับผลผลิตถั่วเหลืองทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งราคาถั่วเหลืองนำเข้าค่อนข้างถูก และ (2) ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมแปรรูปถั่วเหลืองนำเข้าในท่าเรือฝางเฉิงก่างมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น มีกำลังการผลิตน้ำมันพืชวันละ 28,500 ตัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ถั่วเหลืองขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

      ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาการระบาดของศัตรูพืชและสัตว์ (pest) จากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เจ้าหน้าที่ CIQ กว่างซี ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 สำนักงานฯ ตรวจพบศัตรูพืชและสัตว์ในถั่วเหลืองที่นำเข้าผ่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง 220 ชนิด จำนวน 3,213 ครั้ง

      ในจำนวนข้างต้น เป็นศัตรูพืชกักกันที่เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศในประเทศขั้นรุนแรง 25 ชนิด จำนวน 472 ครั้ง (อาทิ Amaranthuspalmeri / Ragweed / Ambrosia trifida /Avenaludoviciana) และเป็นศัตรูพืชที่ไม่ใช่ศัตรูกักกันที่ต้องมีการควบคุม หรือ non-quarantine pest ทั้งหมด 195 ชนิด รวม 2,741 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการตรวจกักกัน “หญ้าไมยราบบราซิล” (Mimosa invisaMart)เป็นครั้งแรกของประเทศจีน

      มาตรการบริหารความเสี่ยงที่สำนักงาน CIQ นำมาใช้เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชที่ปะปนมากับการนำเข้าถั่วเหลือง ได้แก่

  •   เพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการควบคุมตรวจสอบและกักกันโรคในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เรือสินค้าเข้าเทียบท่า การขนถ่ายสินค้า การขนส่ง การแปรรูป การเก็บรวบรวมหางถั่วเหลือง (สิ่งที่คัดหรือกลั่นเอาส่วนที่เป็นหัวออกแล้ว) และการกำจัด
  •   ติดตามควบคุม และตรวจสอบถั่วเหลืองนำเข้าผ่านระบบบริหารงานตรวจสอบและกักกันโรคในเมล็ดพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ทั้งหมด เพื่อสร้างหลักประกันด้านคุณภาพความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงอย่างเต็มประสิทธิภาพ
  •   เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจทดสอบโลหะหนักและสารเคมีตกค้างในห้องปฏิบัติการ
  •   เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสถานการณ์โรคระบาด โดยการเฝ้าสังเกตการณ์และตรวจสอบพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับงานขนส่งเมล็ดพืชนำเข้าจากต่างประเทศ (ท่าเทียบเรือ โกดังสินค้า โรงงานแปรรูป ไปจนถึงพื้นที่รอบข้าง) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของศัตรูพืชและสัตว์

      ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคและการอำนวยความสะดวกด้านพิธีศุลกากรเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดให้ผู้นำเข้าในประเทศจีนหันมาใช้ประโยชน์จาก “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” หรืออ่าวตังเกี๋ย เพื่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือชินโจว และท่าเรือเป๋ยไห่

      ความเคลื่อนไหวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า “ท่าเรือฝางเฉิงก่าง” ทวีความสำคัญในการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) จากต่างประเทศมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะสินค้าจำพวกแร่และสินแร่ โลหะใช้ในอุตสาหกรรม พลังงาน และสินค้าเกษตร ซึ่งศูนย์ BIC ได้ติดตามนำเสนอให้กับท่านผู้อ่านมาโดยตลอด

      BIC ขอย้ำว่า ประเทศจีนมีการดำเนินมาตรการตรวจสอบและกักกันโรคต่อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้มงวด และการกำหนดสิทธิการนำเข้าสินค้าเพียงบางชนิดให้กับด่านในประเทศ (เสมือนอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี) โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรสด (พืชผัก ผลไม้ และเมล็ดพืช) ซึ่งมีความอ่อนไหวสูงในประเด็นโรคระบาด รวมถึงศัตรูพืชและสัตว์

      ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องติดตามศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

ลิงก์ข่าว

ผู้ส่งออกควรรู้ กว่างซีคุมเข้มนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์(05 .. 2561)

ท่าเรือชินโจว:ท่าเรือขนถ่ายน้ำมันดิบกลางทะเลชั้นนำระดับโลก(24 .. 2561)

อานิสงส์ตลาดเหล็กฟื้นตัว กว่างซีนำเข้า แร่แมงกานีสอันดับ 2 ของจีน(08 .. 2561)

จัดทำโดย: นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา:
www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561

กว่างซีนำเข้าถั่วเหลือง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน