กว่างซีค้นพบสายพันธุ์ชาน้ำมันเหมาะกับสภาพอากาศร้อน(อย่างไทย)

14 Feb 2017

นักวิจัยกว่างซีประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยพันธุ์ต้นชาน้ำมันที่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนจัดสามารถปลูกในพื้นที่ภูมิอากาศเขตร้อนและมีอัตราการติดเมล็ดชาที่สูง

ต้นชาน้ำมัน หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า "โหยว ฉา" (油茶)ได้รับการขนานนามเป็นน้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่(สูงและมีอากาศเย็น)ทางจีนตอนใต้ โดยน้ำมันจากต้นชาน้ำมันนี้ได้มาจากผลชาที่มีขนาดเท่าลูกมะนาว ผลแก่มีสีน้ำตาล โดยเมล็ดชาจะอยู่ข้างในผล ชาวจีนจะนำเมล็ดชาที่ได้ไปผ่านกระบวนการสกัดให้ได้ชาน้ำมันออกมา

กว่างซีมีประวัติการเพาะปลูกต้นชาน้ำมันยาวนานกว่า 2,000 ปี หากแต่การเพาะปลูกในสมัยก่อนยังไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าที่ยังไม่พัฒนาเพื่อการเพาะปลูก สายพันธุ์ไม่ดี ส่งผลต่อผลิตภาพการผลิต

กระทั่งเมื่อปี 2552 รัฐบาลจีนเริ่มให้การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชาน้ำมันทั่วประเทศ ในปีนั้นทางการกว่างซีได้กำหนดให้อุตสาหกรรมชาน้ำมันเป็น 1 ใน 9 อุตสาหกรรมเกษตรและ 1ใน 5 อุตสาหกรรมป่าไม้สำคัญที่ต้องได้รับการส่งเสริมพัฒนาของมณฑล และในปีเดียวกันนี้ ชาน้ำมันของกว่างซีมีมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 900 ล้านหยวน

ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมชาน้ำมันจึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทางการกว่างซีให้การส่งเสริมแบบครบวงจรทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา การเพาะต้นกล้า การสร้างสวนชา การแปรรูป รวมถึงการบริการอื่นๆ เวลาสั้นเพียงไม่กี่ปี มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมชาน้ำมันในกว่างซีก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่ใน 3 อันดับแรกของประเทศจีน

ปัจจุบันกว่างซีมีพื้นที่เพาะปลูกชาน้ำมันมากกว่า 6.45 ล้านหมู่จีน(ประมาณ 2.68 ล้านไร่) คิดเป็น1/10 ของพื้นที่ปลูกทั่วทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 1ล้านหมู่จากปี 2552

จากข้อมูลยังพบว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 20% แต่มูลค่าการผลิตกลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า โดยในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ (ปี 2559) อุตสาหกรรมการผลิตชาน้ำมันของกว่างซีมีมูลค่ารวม 8,500 ล้านหยวน เทียบเท่ากับมูลค่าการผลิตของปีที่แล้วทั้งปี

ที่น่าสนใจ สถาบันวิจัยวนศาสตร์เขตฯ กว่างซีจ้วง(Guangxi Forest Research Institute,广西林科院) ได้ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยพันธุ์ต้นชาน้ำมันที่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนจัดสามารถปลูกในพื้นที่ภูมิอากาศเขตร้อน อัตราการติดเมล็ดสูง

ความสำเร็จดังกล่าวนับเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในการปลูกต้นชาน้ำมัน สถาบันฯ มีคัดเลือกสายพันธุ์ เพาะพันธุ์ และพัฒนาเทคนิคการปลูกจนได้สายพันธุ์ต้นชาน้ำมันที่ให้ผลผลิตน้ำมันดิบ(ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป)มากกว่า 50 กิโลกรัมทั้งหมด 11 สายพันธุ์ให้ผลผลิตต่อหน่วยสูงกว่าสายพันธุ์เดิมมากกว่า 10 เท่า (มากที่สุดในประเทศจีน)

ขณะนี้ กว่างซีมีพันธุ์ต้นชาน้ำมันที่ได้รับการรับรองระดับประเทศและระดับมณฑลแล้ว 29 สายพันธุ์ อัตราการรอดของต้นกล้าอ่อนมีสูงกว่า90%มีปริมาณการผลิตต้นกล้าปีละกว่า 70 ล้านต้นการปลูกป่าต้นชาน้ำมันสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปีที่ 3 และในปีที่ 5-6 เป็นปีที่ได้ผลผลิตสูงที่สุด ซึ่งเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 2-3 ปี คาดหมายว่าในปี 2563 พื้นที่ปลูกในกว่างซีจะเพิ่มขึ้นเป็น10ล้านหมู่จีน (ราว 4.16 ล้านไร่) และจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตพันล้านหยวน

ปัจจุบันกว่างซีมีธุรกิจแปรรูปชาน้ำมันมากกว่า 100 ราย มีกำลังการผลิตมากกว่า 1 แสนตัน ด้วยสรรพคุณล้นเหลือของชาน้ำมันจึงได้รับยอมรับจากผู้บริโภคว่าเป็นน้ำมันพืชคุณภาพสูงราคาจำหน่ายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตลาดผู้บริโภคมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และมีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

บีไอซี ข้อให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนสถาบันวนศาสตร์เขตฯ กว่างซีจ้วงเมื่อเดือนเมษายน 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสนพระทัยกับชาน้ำมันเป็นอย่างมาก

แม้จะมิใช่พรรณพืชท้องถิ่นของไทย แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ให้คนไทยได้บริโภคน้ำมันพืชที่มีคุณภาพดีและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ พระองค์ทรงค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับชาน้ำมันและได้ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกชาน้ำมันจากประเทศจีนในหลายจังหวัด และมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน(เว็บไซต์ technologychaoban.com)

ผลงานการวิจัยชาน้ำมันที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนนับเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถพัฒนาความร่วมมือกับเขตฯ กว่างซีจ้วง เพื่อนำสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมันที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้แพร่หลาย รวมทั้งการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่างธุรกิจบริการความงาม สปาและเครื่องสำอาง เป็นต้น

 

กว่างซีชาน้ำมันเพาะปลูก

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน