YUNNAN

มณฑลยูนนาน

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

มณฑลยูนนาน หรือที่คนจีนเรียกสั้น ๆ ว่า “เตียน” (Dian) ซึ่งเป็นชื่อของทะเสสาบในนครคุนหมิง ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นมณฑลเขตชั้นในที่ไม่มีทางออกทะเล มีอาณาเขตติดต่อกับ 2 มณฑล และ 2 เขตปกครองตนเอง (มีฐานะเทียบเท่ามณฑล) คือ ทิศเหนือติดกับมณฑลเสฉวน (Sichuan) ทิศตะวันออกติดกับมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou) และเขตปกครองตนเองกว่างซี (Guangxi) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับเขตปกครองตนเองทิเบต (Xizang) ยูนนานมีพรมแดนติดต่อกับ 3 ประเทศ คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกมีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ (1,997 กม.) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศใต้ติดกับเวียดนาม (1,353 กม.) และลาว (710 กม.) รวมระยะทางพรมแดนที่ติดต่อกับต่างประเทศ 4,060 กม. หรือเท่ากับ 1 ใน 6 ของพรมแดนทางบกทั้งประเทศ

ยูนนานมีพื้นที่ทั้งหมด 394,000 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของจีน) พื้นที่ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 90 เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงร้อยละ 7 พื้นที่ของมณฑลยูนนานจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกมีระยะทางทั้งหมด 864.9 กิโลเมตร และจากทิศเหนือไปยังทิศใต้มีระยะทางทั้งหมด 990 กิโลเมตร ภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบสูงและลาดต่ำลงมาทางภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ มณฑลยูนนานมีความแตกต่างในความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก กล่าวคือ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลสูงที่สุด 6,740 เมตร ที่อำเภอเต๋อชิน(Deqin) เขตตี๋ชิ่ง (Diqing) และต่ำสุด 76.4 เมตร ที่อำเภอเหอโข่ว (Hekou) เขตหงเหอ (Honghe) ส่วนนครคุนหมิงมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,891 เมตร

ข้อมูลประชากร

47.21 ล้านคน (ปี 2563) ประชากรส่วนใหญ่ของมณฑลเป็นชาวฮั่น และมีชนกลุ่มน้อยอีก 25 ชนชาติ เช่น จ้วง (Zhuang) ฮุย (Hui) แม้ว (Miao) ทิเบต (Zang) เย้า (Yao) ไป๋ (Bai) ว้า (Wa) น่าซี (Naxi) ตูหลง (Dulong) ลีซู (Lisu) ปูลาง (Bulang) จัดเป็นมณฑลที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุดของจีน

สภาพภูมิอากาศ

มณฑลยูนนานมีภูมิอากาศเย็นสบาย ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัดและฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 15-18 องศาเซลเซียส นครคุนหมิงได้รับสมญาว่าเป็น “เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ (Spring City) ของจีน”

ทรัพยากรสำคัญ

ยูนนานเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์ไม้และสัตว์นานาชนิด จนได้รับสมญานามว่า “อาณาจักรแห่งพันธุ์ไม้” และ “อาณาจักรแห่งสัตว์” และยังมีแหล่งพลังงานทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำและพลังความร้อนจากถ่านหิน รวมทั้งมีแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวมากมาย ทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญของยูนนาน ได้แก่ ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก เหล็กและเหล็กกล้า ฟอสฟอรัส ถ่านหิน ทองแดง ฯลฯ ผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ยาสูบ ดอกไม้ ชา กาแฟ วอลนัท ยางพารา และเห็ดป่า อุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ ยาสูบ ท่องเที่ยว พลังงาน สินแร่และโลหะ

ยูนนานมีแม่น้ำสายสำคัญ 6 สาย ได้แก่ แม่น้ำอิระวดี (ภาษาจีนเรียกว่า อีลั่วหว่าตี้เจียง (Yiluowadi Jiang)) แม่น้ำจินซาเจียง (Jinsha Jiang) (เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำแยงซีเกียงตอนบน) แม่น้ำนู่เจียง (Nu Jiang) (ไหลลงสู่ประเทศพม่า) แม่น้ำจูเจียง (Zhu Jiang) (ต้นน้ำของแม่น้ำจูเจียงในนครกวางโจว) แม่น้ำหลานชางเจียง (Lanchang Jiang) (หรือแม่น้ำโขงไหลลงสู่ประเทศพม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม) และแม่น้ำหงเหอ (Honghe) (ไหลลงสู่ประเทศเวียดนาม) โดยแม่น้ำ 2 สายหลังถือเป็นแม่น้ำนานาชาติ (คำว่า เจียง และ เหอ แปลว่าแม่น้ำ เช่นกัน) นอกจากนี้ ในการสำรวจเบื้องต้นของทางการมณฑลยูนนานมีศักยภาพที่จะสามารถผลิตไฟฟ้า-พลังน้ำได้ถึง 100 ล้านกิโลวัตต์ มากเป็นอันดับที่ 2 ของจีน

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

ยูนนานเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ และยังคงมีร่องรอยความเจริญทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในยุคแรกหลงเหลืออยู่ มีการขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์โบราณบริเวณทะเลสาบเตียนฉือ (Dianchi) (ชานเมืองคุนหมิง) และทะเลสาบเอ๋อไห่ (Erhai Lake) (เขตต้าหลี่) ซึ่งมีอายุนับย้อนหลังไปได้ 15 ล้านปี -1 ล้านปี เช่น โครงกระดูกมนุษย์ Kaiyuan dryopithecus โครงกระดูกมนุษย์ Lufeng ramapithecus และ Yuanmou man และมีการขุดพบหลุมฝังศพทางตอนใต้ของทะเลสาบเตียนฉือซึ่งคาดว่าจะมีอายุอยู่ในราวยุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age)

ราวปี 286 ก่อนคริสตศักราช นายพลจ้วง เฉียว (Zhuang Qiao) แห่งอาณาจักรฉู่ (Chu Kingdom) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของแม่น้ำแยงซีได้นำทหารเข้าบุกยึดยูนนาน และรวบรวมชนเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบเตียนฉือ ซึ่งได้แก่ เผ่าเตี้ยน (Dian) เย่อหลาง (Yelang) คุนหมิง (Kunming) และอ้ายลาว (Ailao) เข้าด้วยกัน รวมทั้งได้นำวัฒนธรรมจากบริเวณราบลุ่มแม่น้ำแยงซี ซึ่งมีความเจริญมากกว่า มาเผยแพร่ในยูนนาน

ราวปี 221 ก่อนคริสตศักราช ราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty) ได้รวบรวมจีนให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ โดยจักรพรรดิ์จิ๋นซีฮ่องเต้ ราชวงศ์ฉิน ได้ส่งข้าราชสำนักมาปกครองยูนนานและบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จึงถือได้ว่ายูนนานเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนนับแต่นั้นมา ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน จนถึงราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) ราชสำนักทั้งสองได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเขตเมืองชายแดน โดยเฉพาะยูนนานเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการจัดตั้งเขตอีโจว (Yizhou Prefecture)ขึ้นให้เป็นเขตการปกครองของโอรสแห่งยูนนาน (Prince of Yunnan) ในปี 109 ก่อนคริสตศักราช มีการตั้งเขตหยงชาง (Yongchang Prefecture) ปัจจุบันคือ เขตเป่าซาน (Baoshan) ซึ่งกินบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน

ปีค.ศ. 707 กองทัพราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty) มีชัยชนะเหนือกองทัพทิเบตในเขตทะเลสาบเอ๋อไห่ และได้ช่วยให้เจ้าหญิงแห่งน่านเจ้า (Nanzhao Princesses) ปกครองดินแดนแถบดังกล่าว อาณาจักรน่านเจ้าได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีกษัตริย์ พีล่อโก๊ะ (Piluoge) เป็นผู้ปกครอง ตลอดระยะเวลา 247 ปี

ปีค.ศ. 937 อาณาจักรน่านเจ้า ได้ล่มสลายลง และถูกแทนที่โดยอาณาจักรต้าหลี่ (Dali Kingdom) ซึ่งมีอายุถึง 300 ปี อย่างไรก็ดี การปกครองอาณาจักรต้าหลี่ยังคงขึ้นตรงต่อราชสำนัก ส่วนกลาง และยังคงเป็นเมืองหน้าด่านให้แก่ราชวงศ์เช่นเดียวกับอาณาจักรน่านเจ้า

ในปีค.ศ. 1253 อาณาจักรต้าหลี่ ถูกโจมตีโดยกองทัพกษัตรย์กุบไลข่าน (Kublai Khan) แห่งมองโกล นำทัพโดย Sayyid Ajall Sham Suddin และพ่ายแพ้แก่กองทัพดังกล่าว หลังจากนั้นจึงย้ายเมืองหลวงจากเมืองต้าหลี่ไปยังนครคุนหมิง

ระหว่างศตวรรษที่ 14 ราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty) ได้นำวิธีการปกครอง 2 ส่วน ใช้ปกครองยูนนาน โดยการให้ข้าราชสำนักจากส่วนกลางเดินทางมาปกครองดินแดนชั้นในที่ไม่ติดทะเล (hinterland) และให้ผู้ปกครองท้องถิ่น (chieftains) และผู้นำชาวฮั่น (Han leader) ปกครองดินแดนห่างไกล และเขตชายแดน

ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 กองทัพแมนจูเรียได้เข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคกลางของจีน ราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) ได้เข้าปกครองยูนนาน และยกเลิกระบบการปกครอง 2 ส่วน มาใช้ระบบการปกครองแบบรวมอำนาจที่ส่วนกลาง ซึ่งเพิ่มความเป็นปึกแผ่นให้ประเทศจีนมากขึ้น

ต้นศตวรรษที่ 20 ยูนนานมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง (overturned) ระบบการปกครองแบบศักดินาและจักรวรรดิ์ (feudalistic and imperial system) ของราชวงศ์ชิง โดยมีกลุ่มต่อต้านราชวงศ์เพื่อการก่อตั้งรัฐใหม่ขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม Hekou Uprisings ในปี ค.ศ. 1907 กลุ่ม September 9th Uprisings ในปี ค.ศ. 1911 และการรณรงค์ต่อสู้เพื่อตั้งรัฐให้ (Republic Defending) ในปี ค.ศ. 1916 เป็นต้น ในปีค.ศ. 1911 ราชวงศ์ชิงได้ล่มสลายลง จีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบสาธารณรัฐ ภายใต้การนำของ ดร. ซุน ยัดเซ็น เมื่อสิ้นทศวรรษที่ 1920 ได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าการมณฑลยูนนานขึ้น โดยนายหลง หยุน (Long Yun) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการมณฑลยูนนานเป็นคนแรก

ระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่น คุนหมิงถือเป็นเขตพื้นที่ยุทธศาสตร์ของจีนแห่งหนึ่ง และมีการเคลื่อนย้ายโรงงานและโรงเรียนจำนวนมากจากชายฝั่งทะเลตะวันออกและภาคกลางของจีน มายังนครคุนหมิง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1949 กองทัพประชาชนจีนนำโดยนายพล หลู ฮั่น (Lu Han) ได้เดินทางมายังนครคุนหมิง และได้รับชัยชนะในที่สุด จากนั้นประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบสังคมนิยม โดยสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1950 ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาชนมณฑลยูนนานขึ้น โดยมีนายพล หลู ฮั่น ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการมณฑลยูนนานต่อจากนายหลง หยู

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

มณฑลยูนนานแบ่งเขตการปกครองเป็น 16 เขต/เมือง ได้แก่

  • 1 เมืองเอก ได้แก่ นครคุนหมิง (Kunming)
  • 7 เมือง ได้แก่ จาวทง (Zhaotong) ฉวี่จิ้ง (Qujing) ยวี่ซี (Yuxi) ผูเอ่อ (Puer) เป่าซาน (Baoshan) ลี่เจียง (Lijiang) และหลินชาง (Lincang)
  • 8 เขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย (Autonomous Prefecture) ได้แก่ เหวินซาน (Wenshan) (ชนชาติจ้วงและแม้ว) หงเหอ (Honghe) (ชนชาติฮาหนีและอี๋) สิบสองปันนา (Xishuangbanna) (ชนชาติไต) ฉู่สง (Chuxiong) (ชนชาติอี๋) ต้าหลี่ (Dali) (ชนชาติไป๋และไต) เต๋อหง (Dehong) (ชนชาติไตและจิ่งพอ) นู่เจียง (Nujiang) (ชนชาติลีซอ) และตี๋ชิ่ง (Diqing) (ชนชาติทิเบต)

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมือง (เขต) สำคัญของมณฑลยูนนาน

1. นครคุนหมิง (Kunming)

เป็นเมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ทางตอนกลางของที่ราบยูนนาน ติดกับทะเลสาบเตียนฉือ (Dianchi) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่อันดับ 6 ของจีน นครคุนหมิงมีพื้นที่ 21,473 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 1 เมือง 6 เขต และ 7 อำเภอ ประชากรส่วนใหญ่ในคุนหมิงเป็นชาวจีนฮั่นถึงร้อยละ 86.16 และเป็นชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ 13.84 ส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่นซึ่งมีสำเนียงที่จัดอยู่ในกลุ่มแมนดารินใต้ แต่ภาษามาตรฐานกลางหรือภาษา Mandarin เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารและเข้าใจกันได้ทั่วไป นครคุนหมิงเป็นเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์โบราณอยู่โดยรอบทะเลสาบเตียนฉือ จนถึงราวศตวรรษที่ 13 นครคุนหมิงได้เริ่มพัฒนามาเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของมณฑลยูนนาน อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การผลิตเครื่องมือ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ สิ่งทอผลิตภัณฑ์อิเล็คโทรนิคส์ การแปรรูปอาหารและใบยาสูบ

2. เมืองยวี่ซี (Yuxi)

ตั้งอยู่ทางตอนกลางของมณฑลยูนนาน มีชื่อเสียงในด้านการปลูกข้าวและใบยาสูบ และเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมบ่มใบยาสูบ มีโรงงานผลิตบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือ โรงงาน Yuxi Cigarette Factory ตั้งอยู่ เมืองยู้วซีเป็นเมืองที่มีผลผลิตด้านอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองของมณฑล ซึ่งได้จากอุตสาหกรรมการผลิตบุหรี่

3. เมืองฉวี่จิ้ง (Qujjing)

ตั้งอยู่ทางตะวันออกของมณฑลยูนนาน เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำที่ยาวที่สุดอันดับ 4 ของจีน คือ แม่น้ำจูเจียง (Pearl River) เมืองฉวี่จิ้งเป็นเมืองหลักที่เชื่อมระหว่างที่ราบสูงยูนนานกับที่ราบภาคกลางของจีน อุตสาหกรรมหลักของเมืองฉวี่จิ้ง คือ การทำเหมืองถ่านหิน การผลิตกระแสไฟฟ้า โลหะและเหล็ก การผลิตรถยนต์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง การผลิตบุหรี่ อุตสาหกรรม เบา สิ่งทอ ยา และการแปรรูปอาหาร

4. เมืองเชียงรุ่ง/จิ่งหง (Jinghong)

เป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง (หรือที่จีนเรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง) มีภูมิประเทศและภูมิอากาศแบบเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ชนชาติไตและชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานเป็นชนกลุ่มหลักที่อาศัยอยู่ในเขตนี้ เมืองเชียงรุ่งเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาพฤกษศาสตร์และสัตว์ของมณฑลยูนนาน สถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงของมณฑลยูนนาน ได้แก่ Yunnan Tropical Crops Institute และ Yunnan National Laboratory Primate Center of China ที่ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงรุ่งนี้

5. เขตต้าหลี่ (Dali)

เป็นเขตปกครองตนเองชนชาติป๋าย (Bai) แห่งเดียวในประเทศจีน มีพื้นที่ประมาณ 29,459 ตารางกิโลเมตร และอยู่ห่างจากนครคุนหมิงประมาณ 338 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์และการผลิตหินอ่อน ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเอ๋อไห่ (Erhai Lake) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ถึง 13 เมืองต้าหลี่เป็นศูนย์กลางด้านการเมืองเศรษฐกิจและ วัฒนธรรมของมณฑลยูนนาน ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ปรากฎให้เห็นอยู่ภายในตัวเมืองต้าหลี่ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมของชนชาไป๋ (BaiPeople) ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติหลักของเมืองต้าหลี่ ซึ่งมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ความสวยงามของภูมิประเทศและสีสันของประเพณีของชนชาวไป๋ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เดินทางมาเที่ยวชมเมืองต้าหลี นอกจากนี้ เมืองต้าหลี่ยังเป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งการคมนาคมขนส่งที่สำคัญทางภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน

6. เมืองลี่เจียง (Lijiang Gucheng)

หรือที่เรียกกันว่า เมืองเก่าต้าเหยียน (Dayan) เป็นเมืองโบราณที่มีอายุกว่า 800 ปี สร้างขึ้นในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song) และราชวงศ์หมิง (Ming) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 14 ตารางกิโลเมตร มีประชาชนพักอาศัยอยู่ประมาณ 4,200 ครัวเรือน ลักษณะพิเศษของเมืองเก่านี้คือ บ้านชั้นเดียวที่สร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ทางเดินในเมืองที่ทำจากหินทั้งหมด สะพานเล็ก ๆ ที่สร้างจากหินและไม้กว่า 354 สะพาน และคลองเล็กใสที่ไหลผ่านทั่วเมืองจนได้รับการขนานนามว่า “Oriental Venice” ซึ่งคลองเหล่านี้ยังคงป็นแหล่งน้ำอุปโภคที่สำคัญ โดยมีต้นน้ำมาจากภูเขาหิมะมังกรหยก โดยน้ำเหล่านี้จะไหลไปรวมกันที่สวนเฮยหลงถาน นอกจากนี้ บริเวณใจกลางเมืองเก่าลี่เจียงมีลานวัฒนธรรมชื่อว่า Sifang Market ซึ่งในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2539 ทำให้เมืองเก่าลี่เจียงได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่โดยยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ ในปี 2540 เมืองลี่เจียงได้รับคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลกทางด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรม

7.อำเภอเถิงชง (Tengchong)

ตั้งอยู่ที่ชายแดนภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน อยู่ในเขตเป่าซาน เป็นสถานที่หยุดพักจุดสุดท้ายในประเทศจีนของเส้นทางสายไหมทางตอนใต้ (Southern Silk Road) ในอดีตเถิงชง มีชื่อเสียงในด้านหยก แหล่งน้ำพุ และภูเขาไฟที่มอดดับแล้ว

8. เมืองเป่าซาน (Baoshan)

ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน มีทรัพยากรธรรมชาติในเขตร้อนมาก เมืองเป่าซานเป็นแหล่งผลิตอ้อย และกาแฟอาราบีก้าที่สำคัญของจีน

9. เขตฉู่สง (Chuxiong)

ตั้งอยู่ระหว่างนครคุนหมิงกับเขตต้าลี่ เป็นเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋ฉู่สง (Chuxiong Yi Autonomous Prefecture) มีชื่อเสียงในการผลิตผ้าไหม และบุหรี่

10. เมืองจาวทง (Zhaotong)

ตั้งอยู่ติดกับมณฑลเสฉวน (Sichuan) และกุ้ยโจว (Guizhou) เป็นเมืองสำคัญในด้านการผลิตของมณฑลยูนนานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

11. เมืองผูเอ่อร์ (Pu’er)

ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน มีท่าเรือที่สำคัญริมฝั่งแม่น้ำโขง

12. อำเภอเหอโข่ว (Hekou)

ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน อยู่ในเขตเหวินซาน (Wenshan) มีชายแดนติดกับประเทศเวียดนามและเป็นเขตการค้าชายแดน

13. เขตเหวินซาน (Wenshan)

ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน มีชื่อเสียงในการผลิตสมุนไพรจีน เช่น ซานชี ซึ่งมีสรรพคุณคล้ายโสมจีน

14. เมืองหลินชาง (Lincang)

ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน เป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจเขตร้อน และเป็นที่ตั้งของเขื่อนม่านวาน (Manwan Hydro Power Station)

15. เขตเต๋อหง (Dehong)

ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน มีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่า เป็นเมืองการค้าชายแดนที่มีความสำคัญของมณฑล เมื่อปี 2535ได้มีการจัดตั้งเขตความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชายแดน และเปิดให้เป็นเมืองเปิดสำหรับชาวต่างชาติ

เมือง/แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของมณฑลยูนนาน

1. เมืองเจี้ยนสุ่ย (Jianshui)

ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำหงเหอ (Honghe) หรือแม่น้ำแดง ในเขตหงเหอ (Honghe) ย้อนหลังไปในศตวรรษที่ 3 ในสมัยราชวงศ์หยวน (Yuan Dynasty) เมืองเจี้ยนสุ่ยเคยเป็นศูนย์กลางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของมณฑลยูนนานทางตอนใต้ สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาตร์ที่สำคัญของเมืองเจี้ยนสุ่ย คือ วัดขงจื้อ (Grand Confucian Temple) ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1325 เมืองเจี้ยนสุ่ยมีชื่อเสียงในการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาสีดำ (black pottery) อีกด้วย

2. เมืองตงชวน (Dongchuan)

ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน เป็นเมืองที่มีแร่ทองแดงอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งผลิตทองแดงที่สำคัญของประเทศจีน เมืองตงชวนอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลมณฑลโดยตรง นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตทองแดงแล้ว เมืองตงชวนยังเป็นแหล่งผลิตปูนซิเมนต์ คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ผลิตพลังงานความร้อนจากแผ่นรับแสงอาทิตย์

3. เมืองไคหย่วน (Kaiyuan)

เป็นเมืองศูนย์กลางทางการคมนาคมขนส่งทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ในเขต-หงเหอ

เมืองหลูสุ่ยและเมืองจงเตี้ยน (Lushui and Zhongdian) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก

4. เมืองเก้อจิ้ว (Gejiu)

ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน เป็นเมืองหลักของเขตหงเหอ (Honghe) มีชื่อเสียงในการทำเหมืองแร่ดีบุกและการแยกแร่ธาตุ เมืองเก้อจิ้วได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งดีบุก” (Tin Capital) เนื่องจากมีปริมาณแร่ดีบุกถึงครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศจีน

5. ทะเลสาบหลูกูหู (Lugu Hu)

ห่างจากตัวเมืองลี่เจียงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 280 กิโลเมตร ทะเลสาบครอบคลุมพื้นที่ 58 ตารางกิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล 2,690 เมตร มีความลึกเฉลี่ย45 เมตร โดยมีจุดที่ลึกที่สุดถึง 90 เมตร จัดเป็นทะเลสาบที่ลึกเป็นอันดับสองของมณฑลยูนนาน ภายในทะเลสาบมีเกาะ 5 เกาะ 1 หมู่เกาะ และมีแหลมที่ยื่นไปในทะเลสาบ 3 แหลม น้ำในทะเลสาบใสมาก สามารถมองเห็นได้ชัด (Visibility) ภายในระยะ 11 เมตร

6. บ้านตระกูลมู่ (Mujiayuankezhan, Mu’s Mansion)

เมื่อ 470 ปีก่อน ตระกูลมู่เป็นตระกูลที่ปกครองเมืองลี่เจียงถึง 22 รุ่น (คือสมัยราชวงศ์หยวน หมิง และชิง) ในยุคดังกล่าว เมืองลี่เจียงมีเพียง 2 ตระกูล ซึ่งตระกูล (หรือแซ่) จะเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคม คือ แซ่มู่ เป็นชนชั้นปกครอง และแซ่เหอ เป็นชนชั้นแรงงาน

ในสมัยที่ตระกูลมู่ปกครองเมืองลี่เจียงนั้น ได้ห้ามการสร้างกำแพงล้อมรอบเมือง เนื่องจากผู้ปกครองเมืองแซ่มู่ ซึ่งแปลว่าต้นไม้ หรือไม้ หากสร้างกำแพงล้อมรอบเมือง ก็เปรียบเสมือนวาดกรอบล้อมรอบคำว่า มู่ ซึ่งจะทำให้อักษรมู่ในภาษาจีน กลายเป็นคำว่า คุน ซึ่งแปลว่า การกักขัง ซึ่งจะไม่เป็นมงคลต่อตระกูลมู่ ตระกูลมู่ยังสั่งให้ชาวบ้านสร้างธรณีประตูบ้านให้สูง เพื่อมิให้คนทั่วไปเหยียบธรณีประตู ซึ่งทำจากไม้ ซึ่งเปรียบเสมือนการเหยียบย่ำตระกูลมู่ นอกจากนี้ ยังให้ชาวบ้านสร้างคานบ้านให้ต่ำ เพื่อให้ทุกคนต้องก้มหัวให้กับคานบ้าน ซึ่งทำจากไม้ เพื่อให้ชาวบ้านระลึกตลอดเวลาว่าต้องให้ความเคารพแก่ตระกูลมู่

สถาปัตยกรรมในบ้านตระกูลมู่เป็นศิลปะสมัยราชวงศ์หมิง (Ming) ผสมผสานกับวัฒนธรรมชนเผ่าน่าซี มีการจัดสวนโดยนำพันธุ์ไม้หายากหลายชนิดมาจัดวางเข้าด้วยกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างที่จะรับสิ่งใหม่ ๆ จากภายนอก ตระกูลมู่เป็นตระกูลที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ภายในบริเวณบ้านมีหอสมุดขนาดใหญ่ชื่อว่า “หอสมุดหมื่นเล่ม” เพื่อเป็นแหล่งความรู้สำหรับลูกหลานภายในตระกูล มีห้องประชุมภายใน ซึ่งในอดีตใช้เป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในตระกูล และมีลานสำหรับจัดการแสดงดนตรี และงานรื่นเริงภายในตระกูลด้วย

7.ภูเขาหิมะมังกรหยก (Yulong Xueshan, Jade Snow Dragon Mountian)

ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเก่าลี่เจียง เป็นภูเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ย 4,000 เมตร เนื่องจากมียอดเขา 13 ยอดเรียงต่อกัน และปกคลุมด้วยหิมะ มีลักษณะคล้ายมังกร จึงถูกเรียกว่า ภูเขาหิมะมังกรหยก เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของเมืองลี่เจียง และยังเป็นแหล่งที่พบพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่หลากหลาย บริเวณยอดของภูเขาหิมะมังกรหยก สามารถนั่งกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปได้ ซึ่งถือเป็นจุดชมวิวเมืองลี่เจียงที่สวยงาม และเป็นยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี

8. สนามกอล์ฟภูเขาหิมะมังกรหยก (Jade Dragon Snow Mountain Golf Club)

ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของภูเขาหิมะมังกรหยก มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,100 เมตร เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 เป็นสนามกอล์ฟระดับมาตรฐาน 18 หลุม 72 พาร์ มีความยาวสนาม 8,548 หลา (ถือเป็นสนามกอล์ฟที่มีความยาวสนามมากที่สุดในโลก) มีทิวทัศน์แวดล้อมที่สวยงาม สามารถมองเห็นภูเขาหิมะมังกรหยกได้ ภายในสนามกอล์ฟมีสโมสรและบ้านพักซึ่งออกแบบตามวัฒนธรรมชนเผ่าน่าซี ทั้งนี้สนามกอล์ฟแห่งนี้เป็นผลงานการออกแบบของ Neil Harworth นักออกแบบสนามกอล์ฟที่มีชื่อเสียง

9. หุบเขาเสือกระโจน (Hutiaoxia)

ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกของเมืองลี่เจียงและเมืองจงเตี้ยน. เป็นหุบเขาในช่วงที่แม่น้ำแยงซีไหลลงมาจากจินซาเจียง (แม่น้ำทรายทอง) น้ำบริเวณนี้ไหลเชี่ยวมาก ช่วงที่แคบที่สุดมีความกว้างเพียง 30 เมตร ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตช่องแคบนี้มีเสือกระโดดข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามได้ เนื่องจากกลางแม่น้ำบริเวณนี้มีหินที่เรียกว่า “หินเสือกระโดด” ซึ่งก้อนหินมีความสูงกว่า 13 เมตร จึงเป็นที่มาของชื่อ “ช่องแคบเสือกระโดด”

10. ซานเหยียนจิ่ง (Sanyanjing / Three Wells)

เป็นบ่อน้ำธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในเมืองเก่าลี่เจียง บ่อน้ำแห่งนี้เป็นบ่อน้ำธรรมชาติ มีลักษณะเป็นบ่อน้ำ 3 บ่อเชื่อมต่อกัน โดยมีต้นน้ำมาจากตาน้ำใต้ดินซึ่งผุดออกมาจากบ่อแรก ถือเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวน่าซีในอดีต โดยชาวน่าซีได้มีการกำหนดการใช้น้ำในแต่ละบ่อไว้อย่างชัดเจน คือ บ่อแรก เป็นบ่อน้ำสำหรับบริโภค บ่อที่สอง เป็นบ่อน้ำสำหรับล้างผัก และบ่อน้ำที่สาม เป็นบ่อน้ำสำหรับซักผ้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรู้จักใช้น้ำอย่างประหยัดของชาวน่าซี แม้ว่าเมืองลี่เจียงจะเป็นเมืองที่มีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ก็ตาม

11. ทุ่งหญ้ายูนซานผิง (Yunshanping)

ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาทิศตะวันออกของยอดเขาหลักของภูเขาหิมะมังกรหยก เป็นทุ่งหญ้าที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,240 เมตร เป็นจุดชมวิวยอดเขาหิมะมังกรหยก ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่มแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่หลังป่าต้นยูนซาน (หรือต้นฉำฉา) และต้นสนที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของจามรี วัว แพะ และม้าที่ชาวบ้านชนเผ่าน่าซีเลี้ยงไว้ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีการจัดแสดงการเต้นรำและร้องเพลงของชนเผ่าน่าซี ทุ่งหญ้ายูนซานผิงสามารถขึ้นไปได้โดยนั่งกระเช้าไฟฟ้า

12. สระน้ำมังกรดำ (Heillongtan, Black Dragon Pool)

หรือที่รู้จักกันว่า สวนยู้วฉวน (Yuquan) ตั้งอยู่ในตัวเมืองลี่เจียง ห่างจากตัวเมืองเก่าลี่เจียงไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 11,390 ตารางเมตร สระน้ำมังกรดำมีจุดเด่นที่ความใสของน้ำที่ใสราวกับมรกต นอกจากนี้ ภายในสวนยังมีการสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชาวฮั่น ทิเบต และน่าซี ไว้ด้วยกัน อาทิ สะพาน Suocui ซึ่งเป็นสะพานหินอ่อนสีขาว ตั้งอยู่กลางสระน้ำมังกรดำ, Dayue Pavilion ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (Ming), วัด Longsheng พิพิธภัณฑ์ตงปา และสถาบันศึกษาวัฒนธรรมตงปา ภายในสระน้ำมังกรดำยังเป็นจุดชมวิวภูเขาหิมะมังกรหยกที่สวยงามอีกด้วย

13. โค้งแรกแม่น้ำแยงซี (Changjiangdiyiwan)

ห่างจากเมืองเก่าลี่เจียง 53 กิโลเมตร เกิดจากแม่น้ำแยงซี (หรือที่คนจีนเรียกว่า แม่น้ำฉางเจียง) ที่ไหลลงมาจากที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต มากระทบกับภูเขาไห่หลอ ทำให้ทิศทางของแม่น้ำหักโค้งไปทางทิตะวันออกเฉียงเหนือ จนเกิดเป็นโค้งน้ำที่สวยงาม

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

1. Kunming National Economic & Technological Development Zone (KETDZ) (昆明经济技术开发区)

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครคุนหมิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 1992 จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2000 ได้รับอนุญาตให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับประเทศ มีเนื้อที่ภายใต้การควบคุมทั้งสิ้น 66 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีบริษัททั้งจากยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน เข้ามาลงทุนกว่า 500 โครงการ

2. Kunming High Tech Industry Development Zone (昆明高新技术产业开发区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 โดยเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิเช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีด้านเวชภัณฑ์ เทคโนโลยีด้านเครื่องจักร เป็นต้น ครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมด 9 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ 4 ส่วนหลัก ๆ คือ เขตเมืองใหม่ “เหลียงเจียเหอ” เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจินติง เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่ใช่ของภาครัฐ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสตรีท

3. Ruili Border Trade Economic Cooperation Zone (瑞丽边境经济合作区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไต่และจิ่งพอ เต๋อหง (Dehong) โดยสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของเขตนี้คือ สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป

4. Wanding Border Trade Economic Cooperation Zone (畹町边境经济合作区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งโพ เต๋อหง (Dehong) มีแม่น้ำกั้นกลางระหว่างชายแดนจีน และพม่า

5. Hekou Border Trade Economic Cooperation Zone (河口边境经济合作区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเมืองเหอโข่ว เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงและแม้ว เหวินซาน (Wenshan) เป็นเขตการค้าชายแดนติดต่อกับประเทศเวียดนาม

6. Jiegao Border Trade Economic Zone (姐告边境贸易区)

ตั้งอยู่ในเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต่และจิ่งพอ เต๋อหง (Dehong) มีชายแดนติดกับเมือง Muse ของประเทศพม่า มีสัดส่วนมูลค่าการค้าชายแดนในเขตนี้เป็นสัดส่วนร้อยละ 50-60 ของการค้าชายแดนทั้งหมดของมณฑลยูนนาน

7. Xishuangbanna Mohan Border Trade Economic Zone (西双版纳磨憨边境贸易区)

ตั้งอยู่ในเมืองโมฮาน เขตปกครองตนเองชนชาติไต่ สิบสองปันนา มีชายแดนติดต่อกับประเทศลาว

8. Qujing Economic and Technological Development Zone (曲靖经济技术开发区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองชูจิ้ง โดยมีการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ ทั้งทางด้านภาษี และการใช้ที่ดิน

9. Mengzi Economic and Technological Development Zone (蒙自经济技术开发区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติฮาหนีและอี๋ หงเหอ

10. Yuxi Economic and Technological Development Zone (玉溪经济技术开发区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเมืองยู้วซี

11. Mangshi Economic and Technological Development Zone (芒市经济技术开发区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไต่และจิ่งพอ เต๋อหง

12. Dali Economic and Technological Development Zone (大理经济技术开发区)

ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติป๋าย ต้าหลี่ ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 1992 ทางรัฐบาลเมืองต้าหลี่ได้อนุมัติให้มีการก่อตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างไปแล้ว 3 เขต คือ เขตเทียนจิ่งซางเม่าหลู่โหย่วเพียน เขตเฟิ้งอี้ชางฉู่ และเขตอุตสาหกรรมส้างเติง รวมเป็นพื้นที่กว่า 7 ตารางกิโลเมตร ในอนาคตยังมีโครงการขยายพื้นที่ไปอีก 22.5 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันบริษัทที่เข้ามาลงทุนในเมืองต้าหลี่ดำเนินธุรกิจด้านการประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตอาหารแปรรูป ผลิตยา ผลิตผลิตภัณฑ์นม แปรรูปโลหะ ผลิตปูนซีเมนต์

13. Chuxiong Economic and Technological Development Zone (楚雄经济技术开发区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋ ฉู่สุง

14. Xuanwei Economic and Technological Development Zone (宣威经济技术开发区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเมืองชูจิ้ง

15. Shangrila Economic Development Zone of Diqing (迪庆香格里拉经济开发区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต ตี๋ชิ่ง ห่างจากตัวอำเภอ แชงกรีล่า 117 กิโลเมตร และห่างจากเมืองลี่เจียง 60 กิโลเมตร

16. Yanglin Industrial Development Zone (杨林工业开发区)

ตั้งอยู่ที่ตำบลหยางหลิน (Yanglin) อำเภอซงหมิง (Songming) ในนครคุนหมิง ห่างจากตัวเมืองคุนหมิง 34 กิโลเมตร

17. Kunming Dianchi National Tourism and Vacation Zone (昆明滇池国家旅游度假区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1992 เป็นเขตที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนทางด้านการท่องเที่ยว อาทิเช่น ศูนย์กีฬาครบวงจร สนามกอล์ฟสวนสาธารณะ ท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น

18. Lijiang Yulong Snow Mountain Tourism and Vocation Zone (丽江玉龙雪山旅游度假区)

ตั้งอยู่ในเมืองลี่เจียง โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ภูเขาหิมะยู้วหลง

19. Xishuangbanna Tourism and Vacation Zone (西双版纳旅游度假区)

ได้รับการอนุมัติก่อตั้งในปี 1993 ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติไต่ สิบสองปันนา โดยในเขตมีนักลงทุนหลักเป็นผู้ประกอบการโรงแรม และศูนย์กลางแหล่งบันเทิงต่าง ๆ

20. Dali Tourism and Vacation Zone (大理旅游度假区)

ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองชนชาติป๋าย ต้าหลี่

21. Yangzonghai Lake Tourism and Vacation Zone (阳宗海旅游度假区)

ตั้งอยู่ในนครคุนหมิง ห่างจากตัวเมือง 35 กิโลเมตร มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ทะเลสาบหยางจงไห่

22. Lugu Lake Tourism and Vacation Zone (泸沽湖省级旅游度假区)

ตั้งอยู่ในเมืองลี่เจียง ใกล้กับบริเวณเชื่อมต่อระหว่างมณฑลยูนนาน และมณฑลเสฉวน มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ทะเลสาบหลู่กูหู

23. Kaiyuan Private Economy Experimental Zone (开远个体松营经济实验区)

ตั้งอยู่ที่เมืองไคหยวน ในเขตปกครองตนเองชนชาติฮาหนีและอี๋ หงเหอ

24. Huaping Private Economy Experimental Zone (华坪个体松营经济实验区)

ตั้งอยู่ที่อำเภอหัวผิง เมืองลี่เจียง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ถ้ำเซียนเหรินต้ง

25. Tengchong Private Economy Experimental Zone (腾冲个体松营经济实验区)

ตั้งอยู่ที่อำเภอเถิงชง เมืองเป่าซาน

26. Yuxi Huixi Private Economy Experimental Zone (玉溪市汇西个体松营经济实验区)

ตั้งอยู่ในเมืองยวี่ซี

27. Jinghong Industrial Zone (景洪工业园区)

ตั้งอยู่ที่เมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองชนชาติไต่ สิบสองปันนา เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเมืองจิ่งหง และบริษัทเอกชนไทย คือ Globalization Economic and Promotion Network Co., Ltd. (GEPN) ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือกันตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2548 มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า และอุตสาหกรรมยาง เป็นหลัก โดยนิคม ฯ แห่งนี้มีข้อได้เปรียบด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ด้านต้นทุนที่ดินซึ่งต่ำกว่าที่อื่น และทำเลที่ตั้ง ซึ่งสะดวกต่อการกระจายสินค้าทั้งทางรถยนต์ และทางแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ถนนสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ สร้างเสร็จภายในปี 2550 จะสามารถขนส่งสินค้าจากนิคมฯ แห่งนี้มายังกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ได้อีกด้วย

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางทางบก

1) เส้นทางถนน

– มณฑลยูนนานก่อสร้างทางหลวงระหว่างมณฑล 7 เส้นทาง แบ่งเป็น ทางด่วน 6 เส้นทาง ได้แก่ (1) คุนหมิง-ปักกิ่ง (2) รุ่ยลี่ (ชายแดนเมียนมา)-หังโจว (มณฑลเจ้อเจียง) (3) คุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ (4) คุนหมิง-ซัวเถา (มณฑลกวางตุ้ง) (5) คุนหมิง-กว่างโจว (มณฑลกวางตุ้ง) (6) คุนหมิง-หยินชวน (เขตฯ หนิงเซี่ย) และทางหลวง 1 เส้นทาง ได้แก่ ยูนนาน-ทิเบต (มีทางด่วนคุนหมิง-ต้าหลี่-ลี่เจียง-แชงกรีล่า ใช้เวลาเดินทาง 6 ชม.) ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานทั้งหมดแล้ว ส่งผลให้มณฑลสามารถเชื่อมโยงกับมณฑลอื่นของจีนได้รอบทิศทางและการคมนาคมขนส่งจากพื้นที่ตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออกของจีนสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

– นับจนถึงสิ้นปี 2563 มณฑลยูนนานมีทางหลวงระยะทางกว่า 260,000 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ เป็นทางด่วน 9,000 กิโลเมตร สูงเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง และยังเชื่อมโยงครบ 129 อำเภอและอำเภอ (ระดับเมือง) ใน 16 เมืองของมณฑลตามนโยบาย “ทางด่วนเชื่อมทุกอำเภอ” ในระยะยาว มณฑลมีเป้าหมายก่อสร้างทางด่วนเพิ่มเติมให้มีระยะทาง 14,500 กิโลเมตร ภายในปี 2573

– มณฑลยูนนานก่อสร้างทางด่วนระหว่างประเทศเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 เส้นทาง ได้แก่

(1) คุนหมิง-โม่ฮาน (จีน-ลาว-ไทย) ซึ่งเป็นถนนสาย R3A ช่วงภายในประเทศจีน เปิดใช้งานตลอดสาย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 ระยะทาง 700 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากนครคุนหมิงถึงด่านโม่ฮาน อำเภอเหมิ่งล่า เขตฯ สิบสองปันนา 9 ชั่วโมง ก่อนข้ามไปยังด่านบ่อเต็นในแขวงหลวงน้ำทาของลาว แล้วเดินทางต่อด้วยถนนสาย R3A ช่วงภายในลาวอีก 247 กิโลเมตร ไปยังด่านห้วยทราย ซึ่งเชื่อมต่อกับด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย

(2) คุนหมิง-เหอโข่ว (จีน-เวียดนาม) เปิดใช้งานตลอดสายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 ระยะทาง 450 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากนครคุนหมิงถึงด่านเหอโข่ว อำเภอเหอโข่ว เขตฯ หงเหอ 5 ชั่วโมง ซึ่งเชื่อมโยงกับด่านหล่าวไกของเวียดนาม และมีทางด่วนตรงไปยังกรุงฮานอย

(3) คุนหมิง-รุ่ยลี่ (จีน-เมียนมา) เปิดใช้งานตลอดสายเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ระยะทาง 750 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากนครคุนหมิงถึงด่านรุ่ยลี่ เมืองรุ่ยลี่ เขตฯ เต๋อหง 10 ชั่วโมง ซึ่งเชื่อมโยงกับด่านมูเซในรัฐฉานของเมียนมา

(4) คุนหมิง-เหมิ้งติ้ง (จีน-เมียนมา) แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ช่วงคุนหมิง-หลินชาง ระยะทาง 500 กิโลเมตร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 ซึ่งจะย่นเวลาการเดินทางจากนครคุนหมิงไปยังเมืองหลินชางจาก 9 ชั่วโมง เหลือ 5 ชั่วโมง ส่วนช่วงหลินชาง-เหมิ้งติ้ง (ด่านชิงสุ่ยเหอ เมืองหลินชาง-รัฐฉาน เมียนมา) ยังไม่เริ่มการก่อสร้าง

(5) คุนหมิง-โหวเฉียว (จีน-เมียนมา-อินเดีย) แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงคุนหมิง-เถิงชง ระยะทาง 650 กิโลเมตร เปิดใช้งานตลอดสายเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ใช้เวลาเดินทาง 8 ชั่วโมง ส่วนช่วงเถิงชง-โหวเฉียว (ด่านโหวเฉียว เมืองเป่าซาน-รัฐคะฉิ่น เมียนมา) ระยะทาง 70 กิโลเมตร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ร่นเวลาเดินทางจาก 1 ชั่วโมง เหลือ 30 นาที

2) เส้นทางรถไฟ

– มณฑลยูนนานก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างมณฑล 8 สาย ได้แก่ (1) ยูนนาน-ทิเบต (2) คุนหมิง-เฉิงตู (มณฑลเสฉวน) (3) คุนหมิง-เนยเจียง (มณฑลเสฉวน) (4) คุนหมิง-ฉงชิ่ง (5) คุนหมิง-กุ้ยหยาง (มณฑลกุ้ยโจว) (6) คุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ (7) คุนหมิง-หนานหนิง (เขตฯ กว่างซี) และ (8) ยูนนาน-กว่างซี เพื่อเชื่อมโยงนครคุนหมิงกับเมืองปลายทางได้โดยตรง โดยมีสถานีรถไฟความเร็วสูงคุนหมิงใต้และสถานีรถไฟคุนหมิงเป็นสถานีต้นทาง ขณะนี้เส้นทางส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีเพียงเส้นทางคุนหมิง-กุ้ยหยาง คุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ และคุนหมิง-หนานหนิงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว อย่างไรก็ตาม รถไฟความเร็วสูงที่เดินทางออกจากนครคุนหมิงสามารถเดินทางอ้อมผ่านเครือข่ายเส้นทางที่เปิดใช้งานแล้วเพื่อไปยังเมืองปลายทางอื่นได้

– ในปี 2563 มณฑลยูนนานมีเส้นทางรถไฟที่เปิดใช้งานแล้ว 4,233 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 1,105 กิโลเมตร โดยปัจจุบัน การเดินทางจากนครคุนหมิงไปยังนครกุ้ยหยางใช้เวลา 2 ชั่วโมง ขณะที่การเดินทางจากนครคุนหมิงไปยังนครหนานหนิง นครฉางซา และนครกว่างโจว ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง และจากนครคุนหมิงไปยังกรุงปักกิ่งหรือนครเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาประมาณ 11-12 ชั่วโมง ส่วนการเดินทางจากนครคุนหมิงไปยังนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง ยังไม่มีเส้นทางโดยตรง เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่สามารถเดินทางอ้อมผ่านนครกุ้ยหยาง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง

– มณฑลยูนนานก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 เส้นทาง ได้แก่

(1) คุนหมิง-โม่ฮาน (จีน-ลาว-ไทย) แบ่งการก่อสร้างช่วงภายใน ปท. จีนเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ช่วงคุนหมิง-ยวี่ซี ระยะทาง 110 กิโลเมตร เปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที และช่วงยวี่ซี-โม่ฮาน ระยะทาง 508 กิโลเมตร มีสถานี 13 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง  ทั้งนี้ เส้นทางช่วงจากสถานียวี่ซีถึงสถานีสิบสองปันนาเป็นรถไฟรางคู่ ส่วนช่วงจากสถานีสิบสองปันนาถึงสถานีโม่ฮานเป็นรถไฟรางเดี่ยว ใช้เวลาเดินทางจากนครคุนหมิงถึงด่านโม่ฮานประมาณ 4 ชั่วโมง และสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟรางเดี่ยวช่วงบ่อเต็น-เวียงจันทน์ในลาว ระยะทาง 414 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการตลอดเส้นทางจากนครคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ในช่วงปลายปี 2564

(2) คุนหมิง-เหอโข่ว (จีน-เวียดนาม) มีรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมือง (ประเภท C) เปิดให้บริการ ใช้เวลาเดินทางจากนครคุนหมิงถึงด่านเหอโข่ว อำเภอเหอโข่ว เขตฯ หงเหอ 4 ชั่วโมง โดยระหว่างด่านเหอโข่วกับด่านหล่าวไกของเวียดนาม มีเส้นทางรถไฟประวัติศาสตร์จีน-เวียดนาม รางเดี่ยวขนาด 1 เมตร ที่ยังใช้วิ่งข้ามแดนสำหรับขนส่งสินค้า นอกจากนี้ มณฑลยูนนานอยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง (ประเภท D) คุนหมิง-เหอโข่วอีกหนึ่งเส้นทาง คาดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งจะช่วยย่นเวลาเดินทางเหลือเพียง 2 ชั่วโมง

(3) คุนหมิง-รุ่ยลี่ (จีน-เมียนมา) แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงคุนหมิง-ต้าหลี่ ระยะทาง 328 กิโลเมตร เปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ช่วงต้าหลี่-เป่าซาน ระยะทาง 134 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จปี 2564 และช่วงเป่าซาน-รุ่ยลี่ ระยะทาง 196 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จปี 2565 โดยเส้นทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อไปยังรถไฟเส้นทางมูเซ-มัณฑะเลย์-จ้าวก์ผิ่ว และมูเซ-มัณฑะเลย์-เนปยีดอ-ย่างกุ้งต่อไป

(4) คุนหมิง-เหมิ้งติ้ง (จีน-เมียนมา) เชื่อมต่อจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-ต้าหลี่ โดยการก่อสร้างช่วงต้าหลี่-หลินชาง ระยะทาง 202 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ใช้เวลาเดินทางจากคุนหมิง-หลินชาง 3 ชั่วโมงครึ่ง ขณะที่ช่วงหลินชาง-เหมิ้งติ้ง ยังไม่เริ่มการก่อสร้าง

(5) คุนหมิง-โหวเฉียว (จีน-เมียนมา-อินเดีย) เชื่อมต่อจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-ต้าหลี่-เป่าซาน โดยยังไม่เริ่มการก่อสร้างในช่วงเป่าซาน-เถิงชง-โหวเฉียว

เส้นทางน้ำ

มณฑลยูนนานมีท่าเรือสำคัญที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง 3 แห่งในเขตฯ สิบสองปันนา ได้แก่ (1) ท่าเรือจิ่งหง ใช้สำหรับการท่องเที่ยว (2) ท่าเรือก๋านหล่านป้า เป็นท่าเรือขนาดเล็ก และ (3) ท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นด่านระดับประเทศของจีน และเป็นท่าเรือหลักสำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างระหว่างจีน-ลาว-เมียนมา-ไทย รองรับเรือขนาดระวางบรรทุกสูงสุด 500 ตัน รองรับปริมาณสินค้าได้ปีละ 150,000 ตัน และผู้โดยสาร 100,000 คน และมีเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 15,000 TEU/ปี ได้รับอนุมัติให้เป็น “ด่านจำเพาะสำหรับนำเข้าเนื้อสัตว์” เพียงแห่งเดียวในมณฑลยูนนาน โดยมีการนำเข้าชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง สินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยผ่านท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

เส้นทางทางอากาศ

– มณฑลยูนนานมีท่าอากาศยานที่เปิดให้บริการแล้วรวม 17 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือเตรียมการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 7 แห่ง โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ย นครคุนหมิง (Kunming Changshui International Airport) เป็นท่าอากาศยานหลักของมณฑล ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ทั้งนี้ ในปี 2563 สนามบินทั้งหมดในมณฑลยูนนานมีจำนวนผู้โดยสารรวม 49.83 ล้านคน/ครั้ง มากเป็นอันดับ 6 ของจีน

– ในปี 2563 ท่าอากาศยานฉางสุ่ยมีผู้โดยสาร 32.99 ล้านคน มากเป็นอันดับ 6 ของจีน รองจากกว่างโจว เฉิงตู เซินเจิ้น ฉงชิ่ง และปักกิ่ง ตามลำดับ มีจำนวนเครื่องบินขึ้น-ลง 273,000 ลำ/ครั้ง และปริมาณการขนส่งสินค้า 325,000 ตัน ปัจจุบัน ท่าอากาศยานฉางสุ่ยมีพื้นที่ใช้สอย 548,000 ตารางเมตร ทางวิ่ง 2 เส้น และลานจอดเครื่องบิน 164 ลำ

– ขณะนี้ ท่าอากาศยานฉางสุ่ยอยู่ระหว่างดำเนินการขยายท่าอากาศยาน ประกอบด้วย อาคารเทียบอากาศยานหลังรองหลังที่ 1 (S1) อาคารพักรอผู้โดยสารหลังที่ 2 (T2) และอาคารเทียบอากาศยานหลังรองหลังที่ 2 (S2) เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเป็น 1,510,000 ตารางเมตร และเพิ่มทางวิ่งเป็น 5 เส้น เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 120 ล้านคน เที่ยวบินปีละ 762,000 เที่ยว และการขนส่งสินค้าปีละ 1,200,000 ตัน ภายในปี 2573

– ท่าอากาศยานฉางสุ่ยจะเปิดใช้งานอาคาร S1 ซึ่งสร้างเสร็จแล้วเมื่อสิ้นปี 2563 และคาดว่าจะเปิดใช้งานในวันที่ 30 เมษายน 2564 พร้อมกับรถรางไฟฟ้าใต้ดินระยะทาง 1.96 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงกับอาคารพักรอผู้โดยสารหลังที่ 1 (T1) โดยอาคาร S1 มีเนื้อที่สิ่งปลูกสร้าง 129,300 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 15 ล้านคน ใช้สำหรับให้บริการเฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศ และเมื่อรวมกับอาคาร T1 ซึ่งรองรับผู้โดยสาร ได้ปีละ 38 ล้านคน จะทำให้ท่าอากาศยานฉางสุ่ยรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 53 ล้านคน ช่วยลดความแออัดของอาคาร T1 ซึ่งเมื่อปี 2562 มีผู้โดยสารกว่า 48 ล้านคน

– มณฑลยูนนานมีท่าอากาศยานนานาชาติ 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานฉางสุ่ย นครคุนหมิง ท่าอากาศยานสิบสองปันนา ท่าอากาศยานลี่เจียง และท่าอากาศยานเต๋อหง โดยท่าอากาศยานฉางสุ่ยเป็นท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินเชื่อมโยงกับจุดหมายปลายทางประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุดในจีน  ทั้งนี้ ในช่วงปกติ มณฑลยูนนานมีเที่ยวบินจากนครคุนหมิง เมืองลี่เจียง และเมืองจิ่งหง เชื่อมโยงไปยังกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย และภูเก็ต

เศรษฐกิจ

1. ภาพรวม

     · เป็นมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ไม่มีทางออกทางทะเล
· มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนาม ความยาวชายแดนรวม 4,060 กิโลเมตร (1 ใน 5 ของชายแดนจีน) และเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงได้มีข้อสั่งการให้มณฑลยูนนานเป็น “ศูนย์กลางของจีนในการเปิดสู่เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
· ความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นอันดับ 1 ของจีน มี 26 ชนชาติ จาก 56 ชนชาติทั่วจีน (รวมชนชาติฮั่น)
· อุตสาหกรรมหลักของยูนนาน ได้แก่ ยาสูบ (พื้นที่ปลูกและผลิตเป็นอันดับ 1 ของจีน) ท่องเที่ยว ไฟฟ้า แร่และโลหะ และการเกษตร
· พืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดที่ครองสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดในจีน ได้แก่ ยาสูบ กาแฟ ดอกไม้ วอลนัท สบู่ดำ และยางพารา และสินค้าเกษตร 6 ชนิดที่มีผลผลิตมากที่สุดในจีน ได้แก่ ใบยาสูบ ดอกไม้ตัดสด กาแฟ วอลนัท ยางพารา และเห็ดป่า
· พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตใบชามากเป็นอันดับ 2 ของจีน
· แร่สังกะสีและแร่ตะกั่วมากเป็นอันดับ 1 ของจีน
· แร่ดีบุกและแร่ฟอสฟอรัสมากเป็นอันดับ 2 ของจีน
· เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยพัฒนาสมุนไพรจีน ที่ประสบความสำเร็จในการนำยาสมุนไพรจีนมารักษาโรคเอดส์ และอุตสาหกรรมยาสมุนไพรจีนของยูนนาน เป็นอันดับ 1 ของจีน
· มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนมากเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลเสฉวน
·เป้าหมายการดำเนินงานของมณฑลยูนนานในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) จะมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ นวัตกรรม ความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบนิเวศ และความปลอดภัย โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่
(1) พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูง
(2) ส่งเสริมความเป็นเอกภาพของประชาชนทุกชาติพันธุ์
(3) สร้างระบบนิเวศแบบอารยะ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ
(4) การเป็นศูนย์กลางของจีนเพื่อเปิดสู่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเร่งพัฒนาการเปิดกว้างสู่ภายนอกในทุกมิติ และส่งเสริมให้ยูนนานเป็น “จุดเชื่อม” ตลาดจีนกับตลาดเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามนโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation)
(5) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
(6) ส่งเสริมระบบรัฐกิจที่ทันสมัยและสร้างความมั่นคงในอาณาบริเวณชายแดน

2. เศรษฐกิจ

ในปี 2563 เศรษฐกิจมณฑลยูนนานมีแนวโน้มเติบโตในทางบวก โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในมณฑล (GDP) มีมูลค่า 2,452,190 ล้านหยวน (375,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อยู่ในอันดับที่ 18 ของจีน และมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 สูงเป็นอันดับ 3 ของจีน

3. การลงทุน

  • การส่งเสริมการลงทุน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมณฑลยูนนาน ฉบับที่ 13 (ปี 2559-2563) จัดลำดับความสำคัญด้านการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม 8 สาขา ได้แก่ ยาชีวภาพและสุขภาพ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ
    โลจิสติกส์สมัยใหม่ เกษตรที่ราบสูงสมัยใหม่ วัสดุใหม่ การผลิตอุปกรณ์ทันสมัย และการผลิตอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค
  • การลงทุนจากต่างประเทศ ในปี 2563 มณฑลยูนนานสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศรวม 759 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.97
  • การลงทุนในต่างประเทศของมณฑลยูนนาน ในปี 2563 มณฑลยูนนานออกไปลงทุนในต่างประเทศรวม 1,017 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.85 และจนถึงสิ้นปี 2563 ยูนนานมีบริษัทที่ไปลงทุนในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 888 บริษัท ใน 61 ประเทศทั่วโลก รวมมูลค่าการลงทุน 12,162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

4. การท่องเที่ยว

มณฑลยูนนานมีแหล่งท่องเที่ยวระดับสูงสุดของประเทศ (ระดับ 5A) 9 แห่ง

  • อุทยานป่าหิน (นครคุนหมิง)
  • ภูเขาหิมะมังกรหยก (เมืองลี่เจียง)
  • มรดกโลกเมืองโบราณ (เมืองลี่เจียง)
  • เจดีย์สามองค์ (เขตต้าหลี่)
  • สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา (เขตฯ สิบสองปันนา)
  • อุทยานแห่งชาติผู่ต๋าช่อ (อำเภอแชงกรีลา เขตฯ ตี๋ชิ่ง)
  • อุทยานพืชสวนโลกคุนหมิง (Kunming World Horticultural Expo Garden) (นครคุนหมิง)
  • อุทยานภูเขาไฟและน้ำพุร้อนอำเภอเถิงชง (เมืองเป่าซาน)
  • อุทยานผูเจ่อเฮย (เขตฯ เหวินซาน)

ในปี 2563 มณฑลยูนนานต้อนรับนักท่องเที่ยวรวม 529 ล้านคน/ครั้ง ลดลงร้อยละ 33.9 โดยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 576,500 คน/ครั้ง (รวมนักท่องเที่ยวข้ามแดนที่เข้ามาวันเดียว) ลดลงร้อยละ 92.2 รวมรายได้จากการท่องเที่ยว 647,703 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 41.3 โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 403 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 92.2 และเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 644,921 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 39.6

5. ความสัมพันธ์ระหว่างมณฑลยูนนานกับประเทศไทย

5.1 ภาพรวม

ยูนนานเป็นมณฑลจีนที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด มีระยะทางจากด่านเชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน สปป.ลาว ถึงด่านบ่อหาน เขตฯ สิบสองปันนา 247 กิโลเมตร ทั้งนี้ สามารถเชื่อมโยงกับประเทศไทยได้ทั้ง (1) ทางบก โดยเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ (R3A) ระยะทาง 1,887 กิโลเมตร (2) ทางน้ำ โดยเส้นทางแม่น้ำโขง จากท่าเรือ เชียงแสนแห่งที่ 2 จ. เชียงราย ถึงท่าเรือกวนเหล่ย เขตฯ สิบสองปันนา ระยะทางประมาณ 265 กิโลเมตร และ (3) ทางอากาศ โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-คุนหมิง ใช้เวลาบินประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ สนามบินนานาชาติฉางสุ่ย นครคุนหมิง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจากสนามบินปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ (ผู่ตง) และกว่างโจว (ไป๋หยุน)

5.2 การค้าไทย-ยูนนาน

5.3 การลงทุน

การลงทุนของไทยในยูนนาน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านธุรกิจโรงแรม สุรา เกษตรกรรม อาหารสำเร็จรูป พลังงานไฟฟ้า และเทรดดิ้ง บริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในยูนนาน เช่น บริษัทเครือ TCC Group และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์

5.4 การท่องเที่ยว
ในปี 2563 มีชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวมณฑลยูนนานจำนวน 22,600 คน/ครั้ง ลดลงร้อยละ 95.9

5.5 วัฒนธรรม และประชาชน

· คนไทยในมณฑลยูนนานมีจำนวนประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน
· ไทย-ยูนนานมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยกว่า 40 แห่ง
· ชาวไทลื้อในเขตฯ สิบสองปันนา มีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติกับชาวไทยทางภาคเหนือ เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดเดียวกันตามประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรล้านช้าง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีประเพณีฉลองปีใหม่สงกรานต์เหมือนกัน

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน