Xi’an High-Tech Industries Development Zone กับเป้าหมายการเป็นฐานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลก

9 Oct 2015

เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานหรือเขตไฮเทคนครซีอาน (Xi’an Hi-tech Industries Development zone) ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2534 ด้วยมติเห็นชอบจากสภาแห่งชาติภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (MOST) เขตไฮเทคฯ แห่งนี้จัดได้ว่าเป็นเขตพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยมีพัฒนาการที่น่าสนใจ ดังนี้

ปี

รายละเอียด

พ.ศ.2534

สภาแห่งชาติจีน อนุมัติการจัดตั้งเขตพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน

พ.ศ. 2535

ได้รับการยกระดับขึ้นเป็น เขตพื้นที่พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในโรงงานอุตสาหกรรม (国家先进高新技术产业开发区)

พ.ศ. 2540

ได้รับการอนุมัติจากสภาแห่งชาติให้เข้าร่วมศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเอเชียแปซิฟิก (APEC Science Park)

พ.ศ. 2544

ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่สาธิตทางด้านเทคโนโลยีระดับสูงระดับประเทศ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (คศ. 2544-2548) (พื้นที่สาธิตฯ อีกสี่แห่ง ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครเซินเจิ้น และนครอู่ฮั่น)

พ.ศ. 2546

ได้รับการคัดเลือกจากกรมสถิติแห่งชาติให้เป็น 1 ใน 50 เขตที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยิ่งแก่การลงทุนและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี

พ.ศ. 2547

ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงสิ่งเเวดล้อมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นพื้นที่การจัดการทางด้านสิ่งเเวดล้อมมาตรฐาน ISO14000

พ.ศ. 2548

ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลกลางให้เป็นเขตอุตสาหกรรมไฮเทค 1 ในพื้นที่พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลก (ร่วมกับเขตไฮเทคฯ ของปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และอู่ฮั่น)

ด้วยอัตราการเติบโตที่มากกว่าร้อยละ 30 ในตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน เขตไฮเทคฯ กลายมาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนครซีอานและมณฑลส่านซี (รายรับรวมในปี 2014 ของเขตฯ 1.1 ล้านล้านหยวนมากกว่า GDP ปี 2014 ของนครซีอาน 1 เท่า)

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้แนวคิดเส้นทางสายไหมทางบกตามดำริของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ส่งผลให้นครซีอานก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมโยงความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ร่วมกับกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้วยศักยภาพในการเป็นแหล่งการศึกษาชั้นนำที่เป็นสถานที่ตั้งของสถาบันวิจัยกว่า 3,000 แห่ง นครซีอานจึงได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ ส่งผลให้เขตไฮเทคฯ กลายมาเป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมการบิน ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจด้านการบินพลเรือน/ ทหาร เข้าลงทุนในเขตไฮเทคฯ แล้วกว่า 298 ราย สร้างรายได้ในปี 2014 มากกว่า 80,000 ล้านหยวน

นอกจากนี้รัฐบาลมณฑลส่านซียังได้สนับสนุนเงินทุนภายใต้โครงการ Xi’an overseas Chinese scholars pioneering park ตั้งแต่ปี 1998 ด้วยงบประมาณกว่า 365 ล้านหยวน ข้อมูลจาก Chinadaily.cn ระบุว่า ปัจจุบันมีนักวิจัยและคณาจารย์ที่ได้รับทุนฯ ดังกล่าวและสำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 1,000 คน เดินทางกลับสู่มณฑลส่านซี เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาและวิจัยในด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะในด้าน Electronics data, Biomedicines และ New materials1 ซึ่งตรงกับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมของเขตไฮเทคฯ ที่เน้นส่งเสริมกิจการด้านเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor industry), ด้านซอร์ฟแวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, กลุ่มอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Intelligent industrial cluster) ด้วยจำนวนวิสาหกิจที่มากเป็นลำดับสองของจำนวนเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงทั้งหมด 53 เขตของทั้งประเทศจีน (30,000 ราย) เขตไฮเทคฯ ของนครซีอานจึงได้รับการวางตัวจากรัฐบาลมณฑลส่านซีให้เป็นหนึ่งในกลไกกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่และการเป็นหนึ่งใน High-tech zone อันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยมาตรการปฏิรูปต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้การวิจัยและพัฒนาเขตไฮเทคฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้แก่

– สนับสนุนเงินทุนให้แก่วิสาหกิจในเขตไฮเทคฯ เข้าร่วมโครงการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ

– จัดให้มี/ เพิ่มสิทธิพิเศษทางด้านภาษีแก่วิสาหกิจในด้านการวิจัยนวัตกรรม (Innovative enterprises)

– บริการจัดทำแผนงานพัฒนาวิสาหกิจ

– เงินรางวัลสนับสนุนวิสาหกิจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับประเทศและระดับนานาชาติ

– การสนับสนุนเงินทุนแก่นักศึกษาเพื่อจัดทำโครงงานแผนเริ่มต้นธุรกิจ (Policy of University students’ start up business)

– การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Creative Industry) 2, อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และ Outsourcing และอุตสาหกรรมบริการด้านเทคโนโลยี (High-tech service industry)

รวมไปถึงการสนับสนุนเครื่องมือ ห้องวิจัย ห้องแลป ฐานปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์ส่วนกลาง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดเล็กที่มีเงินทุนไม่เพียงพอในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเป็นของตนเอง ตามแนวคิดการเป็น “Self-dependent Innovation” ของเขตไฮเทคฯ เพื่อต่อยอดงานวิจัยขนาดเล็กไปสู่การพัฒนาที่ก้าวกระโดด และด้วยนโยบายดังกล่าวส่งผลให้เขตไฮเทคฯ สามารถดึงดูดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีผลงานการวิจัยดีเด่นเข้าลงทุนในพื้นที่ได้มากถึง 5,954 รายในปี 2014 สอดคล้องกับข้อมูลของนายจ้าว หงจวน เลขาธิการพรรคฯ และประธานคณะบริหารเขตไฮเทคฯ ถึงเป้าหมายการสนับสนุนเครื่องมือทางการวิจัยให้แก่วิสาหกิจขนาดเล็กซึ่งถือเป็น “Giant R&D platform” และเป็นกำลังสำคัญในการต่อยอดเทคโนโลยี ในปี 2014 คณะกรรมการเขตไฮเทคฯ เห็นชอบในการก่อตั้งศูนย์วิจัยทางวิศวกรรมจำนวน 24 แห่งเพื่อรองรับการขยายตัวของวิสาหกิจขนาดเล็กที่ต้องการได้รับการสนับสนุนในด้านเครื่องมือและห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการเร่งส่งเสริม/ จัดโปรแกรมอบรมให้แก่วิสาหกิจขนาดเล็กไปแล้วกว่า 100 ราย ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดีด้วยรางวัลการันตีในระดับมณฑลและระดับประเทศแล้วกว่า 300 รายการในช่วงปีที่ผ่านมา

บทสรุป

ปัจจุบัน เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงของนครซีอานหรือเขตไฮเทคนครซีอานได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจนทำให้เขตไฮเทคฯ มีพัฒนาการและรายได้มากเป็นลำดับต้น ๆ ของมณฑล ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม การจะยกระดับเขตไฮเทคฯ ให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้นั้น ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาวิสาหกิจของเขตไฮเทคฯ ให้มีศักยภาพในการวิจัย/ผลิตเทคโนโลยีที่เข้มแข็งเพียงพอรวมไปถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคครบวงจร ซึ่งในปัจจุบันเขตไฮเทคฯ ได้ขานรับแนวทางการพัฒนา “Amenities and Environmental zone” ด้วยการสร้างเขตไฮเทคฯ ให้สามารถเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยได้จริง ด้วยการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร อาทิ โรงเรียน โรงแรม สนามกีฬา โรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ โดยเขตไฮเทคฯ ยังได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สาธิตการป้องกันสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จีนตะวันตกระดับชาติ (First National Environmental Protection Demonstration Zone in central and western China) สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและการเตรียมพร้อมการเป็นหนึ่งในพื้นที่ High-tech zone ระดับโลกต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

1. Talented returning Chinese look to startup companies

http://www.chinadaily.com.cn/china/2015-09/30/content_22018578.htm

2. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ แอนนิเมชั่น แอปพลิเคชั่น ธุรกิจดิจิทัล สื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ปัจจุบันในเขตฯมีวิสาหกิจในประเภทดังกล่าวมากกว่า 2,150 ราย สร้างรายได้ต่อปี 80,000 ล้านหยวนและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 40

ข้อมูลอ้างอิง

1. High-tech zone’s lofty goal

http://www.chinadaily.com.cn/cndy/2015-09/29/content_22006667.htm

2. Engineers in smaller cities top innovation drive

http://www.chinadaily.com.cn/bizchina/2015-09/30/content_22017141.htm

3. http://www.xdz.com/doing%20business/incentives/2014-07-15/262.html

 

High techIndustryShaanxiXi'anซีอานส่านซี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน