RATCH ควัก 7.5 พันล้านบาท ร่วมทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในกว่างซี

29 Dec 2015

โครงการระยะแรก เป็นเครื่องปฏิกรณ์รุ่น CPR-1000 ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 1 เริ่มงานก่อสร้างเมื่อ 30 ก.ค.2553 และติดตั้งถังปฏิกรณ์เมื่อ ส.ค.2556 และเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 2 ที่ติดตั้งถังปฏิกรณ์เมื่อ ก.ย.2557 มีกำลังการผลิตเครื่องละ 1.08 ล้านกิโลวัตต์ (2X1,080 เมกะวัตต์)

บริษัท Guangxi Fangchenggang Nuclear Power (广西防城港核电有限公司) เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท China General Nuclear Power Group หรือ CGN (中广核集团) ถือหุ้น ร้อยละ 61 กับบริษัท Guangxi Investment Group (广西投资集团) ถือหุ้นร้อยละ 39

เมื่อ 25 ต.ค.2558 เวลา 17.17 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) สถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างได้เชื่อมระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 เข้ากับระบบโครงข่ายส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าของกว่างซี และมีการทดลองเดินเครื่องปฏิกรณ์ในสภาวะโหลดเพื่อทดสอบสมรรถนะและค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

เมื่อ 4 ธ.ค.2558 ได้มีการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 แบบเต็มกำลัง 100% เป็นครั้งแรก นับเป็นการทดสอบขั้นสุดท้ายก่อนการผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ส่วนเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 2 คาดหมายว่าจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี 2559)

คาดหมายว่าหลังจากเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะสามารถขับเคลื่อนมูลค่าการผลิตในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ 77,800 ล้านหยวน สร้างอาชีพได้ 8.42 แสนตำแหน่ง และจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ได้ปีละ 15,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง

โครงการระยะที่ 2 เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ PWR รุ่นที่ 3 มีชื่อเรียกว่า "Hualong-1" (华龙一号) ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 3 และหมายเลข 4 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการประดิษฐ์คิดค้นของจีนเอง มีกำลังการผลิตเครื่องละ 1.18 ล้านกิโลวัตต์ (2X 1,180 เมกะวัตต์) และเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้นแบบของการยื่นเสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า Bradwell B ในสหราชอาณาจักร

เมื่อ 16 ธ.ค.2558 ในการประชุมสมัยสามัญ คณะรัฐมนตรีจีนมีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เฟสสอง



เมื่อ 23 ธ.ค.2558 มีการลงนาม "สัญญาร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฟสสองเมืองฝางเฉิงก่าง" (Equity Joint Venture Contract) ระหว่างบริษัท CGN, บริษัท Guangxi Investment และบริษัท RATCH China Power (บริษัทย่อยของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 51, 39 และ 10 ตามลำดับเพื่อจัดตั้งบริษัท Guangxi Fangchenggang Nuclear Power (II) (广西防城港核电二期项目公司) สำหรับการลงทุนในเฟสสอง และได้เริ่มงานก่อสร้างแล้วเมื่อ 24 ธ.ค.2558

บริษัท RATCH เข้าลงทุนโดยใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดของบริษัท ตามสัดส่วนร่วมทุน คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,330 ล้านหยวน หรือราว 7,500 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 RMB เท่ากับ 5.6331 บาท) ซึ่งคาดว่าโครงการจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท RATCH กล่าวว่า การร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างเฟสสองได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี และมีบทบาทสำคัญในการกระชับความร่วมมือเชิงลึกด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (Civilian Nuclear Energy) ระหว่างไทยกับจีน หวังว่าการร่วมทุนดังกล่าวจะช่วยบ่มเพาะบุคลากรและสั่งสมประสบการณ์เพื่อรองรับโครงการ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทย

บริษัท RATCH นับเป็นบริษัททุนต่างชาติรายที่ 3 ที่มีการลงทุนในโครงการด้านพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศจีน ต่อจากบริษัท CLP ของฮ่องกง (ถือหุ้น 25% ในโครงการ Daya Bay Nuclear Power Plant เมืองเซินเจิ้น) และบริษัท EDF จากฝรั่งเศส (ถือหุ้น 30% ในโครงการ Taishan Nuclear Power Plan เมืองถายซาน มณฑลกวางตุ้ง) และเป็นบริษัทรายแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่มีการลงทุนในโครงการด้านพลังงานนิวเคลียร์ในจีน

จุดเหมือนของการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ของบริษัทต่างชาติ 3 รายข้างต้นในประเทศจีน คือ การเป็นโครงการต้นแบบด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กล่าวคือ บริษัท CLP จากฮ่องกงใช้เทคโนโลยีฝรั่งเศส M310 เป็นครั้งแรกในจีน บริษัท EDF จากฝรั่งเศสใช้เทคโนโลยียุโรป EPR เป็นครั้งแรกในจีน และบริษัท RATCH ของไทยใช้เทคโนโลยีจีน Hualong-1 เป็นครั้งแรกในจีน

ความร่วมมือระหว่างบริษัท CGN กับประเทศไทย เมื่อ ส.ค.2551 นายเฮ่อ ยวี่ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่บริษัท CGN มีโอกาสได้พบกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และกะทรวงพลังงานของไทย เพื่อผลักดันโครงการด้านพลังงานนิวเคลียร์ของบริษัท CGN ในประเทศไทย และนับเป็นก้าวแรกของบริษัท CGN ในการขยายตลาดพลังงานนิวเคลียร์ในต่างประเทศ

ปี 2552 บริษัท CGN จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้มีการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีกับฝ่ายไทยมาโดยตลอด (เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมีจำนวนมากกว่า 4,000 คนครั้ง)

จุดเด่นของพลังงานนิวเคลียร์ คือ กระแสไฟฟ้าที่ได้เป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาประหยัด และมีความปลอดภัย เมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ช่วยลดปริมาณการใช้ถ่านหินได้ปีละ 4.82 ล้านตัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 11.86 ล้านตัน ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ราว 1.9 แสนตัน หรือเท่ากับการปลูกป่าเพิ่ม 32,500 เฮกตาร์ (325 ตร.กม.)

แหล่งที่มา:

1)
เว็บไซต์ http://toutiao.com/ สกู๊ปพิเศษ "泰国独立发电商入股华龙一号核电项目" และหัวข้อ "对华龙一号兴趣浓厚,泰国国家电力入股防城港核电示范项目" ประจำวันที่24 ธันวาคม 2558

2) เว็บไซต์
http://news.xinhuanet.com หัวข้อ "泰国国家电力公司入股华龙一号示范机组防城港二期" ประจำวันที่24 ธันวาคม 2558

กว่างซีRATCHนิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน