เยี่ยมชมการทำฟาร์มประมงทางทะเลสมัยใหม่ของมณฑลซานตง

13 Jun 2024

มณฑลซานตง เป็นมณฑลชายฝั่งที่สำคัญของจีนและเปรียบเสมือน “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของจีน ที่ผ่านมา มณฑลซานตงมุ่งเน้นการพัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหารที่มาจากทั้งทางบกและมหาสมุทร และได้ทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาฟาร์มประมงทางทะเลและยุ้งฉางสีน้ำเงินของมณฑลซานตง จนกระทั่ง เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการจัดตั้ง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลยุ้งฉางสีน้ำเงิน ซานตงฉางต่าว” ซึ่งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลแห่งแรกของจีนอย่างเป็นทางการแล้ว

จุดเริ่มต้นของการพัฒนายุ้งฉางสีน้ำเงินที่สำคัญ คือ การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งนับเป็นขั้นตอนที่ต้องการเทคโนโลยีมากที่สุดในด้านการประมงทางทะเล เรียกได้ว่าเป็น “ชิป” หลักของการทำประมงก็ว่าได้ โดยเริ่มจากขั้นตอนการแสวงหาพันธุ์ปลาดี ๆ จากทะเล การเพาะพันธุ์ปลาที่ดี ตลอดจน การพัฒนาเทคโนโลยีการทำฟาร์มประมงทางทะเลขั้นสูง ซึ่งล้วนเป็นแนวคิดพื้นฐานที่ในการกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินของมณฑลซานตงทั้งสิ้น

ทั้งนี้ นวัตกรรมมการทำฟาร์มประมงทางทะเลสมัยใหม่ของมณฑลซานตงที่น่าสนใจ ได้แก่

1) นวัตกรรมการทำฟาร์มประมงแบบระบบโรงงานน้ำหมุนเวียนแบบครบวงจรแห่งแรกของจีน ของบริษัท Laizhou Mingbo Aquatic Co.,Ltd. ของมณฑลซานตง ซึ่งแตกต่างจากแบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยวิธีการแบบไหลน้ำในบ่อ และระบายน้ำออกโดยตรงหลังการใช้งาน ซึ่งต้องใช้น้ำในปริมาณมาก โดยบริษัทฯ ได้วางผังและสร้างรั้วนิเวศขนาดใหญ่ เช่น โครงการ Blue Diamond No. 1 และโครงการ Blue Diamond No. 2 ปัจจุบัน การก่อสร้างอุปกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบระบบหมุนเวียนของบริษัทฯ นั้น มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 30% และประหยัดต้นทุนการดำเนินงานได้มากกว่า 10% นอกจากนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัทฯ ได้ให้ข้อมูลว่า การใช้ระบบน้ำหมุนเวียนเพื่อการเพาะเลี้ยงสามารถประหยัดน้ำได้ 95% และประหยัดพลังงาน 69%

ระบบหมุนเวียนน้ำช่วยทำให้น้ำสะอาดและมีสุขภาพดีขึ้นได้ ทั้งยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโต เช่น อุณหภูมิของน้ำสามารถปรับได้ตามชนิดของปลา เพื่อให้ปลาสามารถเติบโตได้เร็วขึ้นและปรับคุณภาพของเนื้อปลา การใช้ระบบน้ำหมุนเวียนในการเพาะเลี้ยงยังช่วยเพิ่มผลผลิตการเพาะเลี้ยงต่อหน่วยของแหล่งน้ำได้อีกด้วย โดยน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถให้ผลิตปลาได้มากถึง 60-80 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่ารูปแบบการเพาะเลี้ยงแบบดั้งเดิมถึง 2-3 เท่า รูปแบบการเพราะพันธุ์ปลาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเลี้ยงทางบกสลับการเลี้ยงทางทะเล มาพร้อมกับชุดอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น ระบบข้อมูลที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราเชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ระบบสังเกตสภาพแวดล้อมทางทะเล เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ใต้น้ำ เพื่อให้บรรลุการจัดการระบบนิเวศทางการประมง

2) โครงการผสมผสานพลังงานลมกับการประมงแบบลอยน้ำ ของบริษัท China National Energy Co., Ltd ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบโครงการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ และนับเป็นหนึ่งในจุดเน้นทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมหลักสิบประการของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน ในการนี้ บริษัท Yantai Utex Fishery Equipment Co., Ltd. ซึ่งตั้งอยู่ในเขตฝูซาน เมืองเยียนไถ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกระชังเลี้ยงปลาในทะเลลึกและไกลจากชายฝั่งสำหรับโครงการนี้ โดยเฉพาะในส่วนของระบบการให้อาหารอัจฉริยะ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ ครองสัดส่วนตลาดประมาณ 90% ของอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาอัจฉริยะใต้ทะเลลึกจีน

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการทดสอบอุปกรณ์เพาะพันธุ์อัจฉริยะสำหรับโครงการดังกล่าวซึ่งนับเป็นแห่งแรกของโลกที่มีการผสมผสานพลังงานลมกับการประมงแบบลอยน้ำ โดยต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและอุปกรณ์ เพื่อส่งเสริมการเพาะพันธุ์อัจฉริยะแบบไร้คนเฝ้าในพื้นที่ทะเลที่ห่างไกล รวมทั้ง โซลูชั่นสำหรับการแสวงหาอาหารจากทะเลที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการเพาะเลี้ยง โดยระบบขนย้ายปลาอัจฉริยะซึ่งพัฒนาโดยบริษัทฯ สามารถช่วยให้การขนย้ายปลาจากทะเลน้ำลึกขึ้นฝั่งได้โดยไม่ต้องขึ้นจากน้ำ เพื่อได้ปลาที่คุณภาพสูงและให้ผลกำไรสูง ซึ่งเป็นการควบคุมโดยปั๊มสุญญากาศและวาล์วพิเศษสำหรับการสลับอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดอัตราการตายและการบาดเจ็บของปลาให้น้อยกว่า 1% ในระหว่างการขนส่งปลาที่มีชีวิต จึงช่วยสร้าง ความมั่นใจในการเก็บเกี่ยวปลาที่มีคุณภาพสูง และนับเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดของการทำประมงน้ำลึกในรูปเดิมที่ต้องใช้แรงงานคน มีอัตราการตายและการบาดเจ็บของปลาที่สูงถึง 5%

ด้วยการพัฒนาของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเลี้ยงปลาโดยการทำฟาร์มแบบยั่งยืนของมณฑลซานตงกำลังยกระดับไปสู่ยุคใหม่ ปัจจุบัน มณฑลซานตงได้สร้างเขตสาธิตฟาร์มปลาทะเลระดับชาติแล้ว 67 แห่ง และได้ยกระดับจากการทำฟาร์มใกล้ชายฝั่งเป็นการทำฟาร์มแบบธรรมชาติและดั้งเดิมโดยอาศัยอุปกรณ์อัจฉริยะในทะเลลึก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนผ่านในด้านการประมงของมณฑลซานตงไปสู่ยุคเทคโนโลยีนวัตกรรมสมฐานะชายฝั่งที่สำคัญของจีน ทั้งนี้ BIC เห็นว่า เป็นโอกาสดีที่หน่วยงานหรือผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาและเปลี่ยนความรู้ในด้านการพัฒนาฟาร์มประมงทางทะเลสมัยใหม่ รวมถึงในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

ที่มา: https://news.cau.edu.cn/mtndnew/d52ba044c27d4f4188671b01424f9350.htm

BICQingdao_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน