นึกถึงเทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน นึกถึงกว่างซี

18 Apr 2019

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกว่างซีวางหมากให้นครหนานหนิงเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศระดับภูมิภาคที่มุ่งสู่อาเซียน โดยมีเมืองชินโจวเป็นตัวเสริม ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้เร่งส่งเสริมการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ระหว่างจีนกับอาเซียนในอนาคต
  • ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH) เป็น Key Project ของแนวคิดการสร้าง เส้นทางสายไหมข้อมูลสารสนเทศที่รัฐบาลจีนตั้งใจพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านการสื่อสารและข้อมูลสารสนเทศระหว่างจีนกับอาเซียน
  • ปัจจุบัน จีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนมีความร่วมมือในการพัฒนาโครงการด้านสารสนเทศร่วมกันหลายโครงการ เช่น การเชื่อมโยงสายเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำ การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียมนำร่องเป๋ยโต่ว และการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับทวิภาคี และยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

กว่างซีเร่งพัฒนา “ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Information Harbor/中国—东盟信息港) หรือ CAIH โดยมีเป้าหมายให้กว่างซีเป็นศูนย์กลางระบบเครือข่ายการสื่อสารและข้อมูลสารสนเทศของอาเซียน

CAIH ตั้งอยู่บริเวณเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District/五象新区) ของนครหนานหนิง เป็นโครงการสำคัญที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในการสร้าง เส้นทางสายไหมข้อมูลสารสนเทศ เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนด้านข้อมูลสารสนเทศสมัยใหม่ระหว่างจีนกับอาเซียน

โครงการดังกล่าวตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 3 Positioning ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้วางให้กว่างซี คือ ให้กว่างซีเป็น (1) ช่องทางเชื่อมโยงสู่อาเซียน (2) จุดยุทธศาสตร์ใหม่ของการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางตอนล่าง และ (3) ประตูเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 กับแถบพื้นที่เศรษฐกิจเส้นทางสายไหม

กว่างซีกำลังกลายเป็น ชุมทางสารสนเทศของจีนกับอาเซียน ปัจจุบัน จีนกับอาเซียนมีการเชื่อมต่อสายเคเบิลใยแก้วมากกว่า 10 สาย ระบบเคเบิลใต้น้ำเอเชีย-แปซิฟิก (APG) ได้มีการเริ่มใช้งานแล้ว รวมถึงระบบเคเบิลข้ามแดนจีน-เวียดนาม และจีน-เมียนมา ที่ได้พัฒนาโครงข่ายเพิ่มเติมก็สามารถใช้งานแล้วเช่นกัน

จีนกับอาเซียนยังร่วมกันพัฒนาระบบเสริมสมรรถนะดาวเทียมภาคพื้นดินของดาวเทียมนำร่องเป๋ยโต่ว (BDS ground-based augmentation system) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเก็บ ประมวล และรับส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม และจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะดาวเทียมเป๋ยโต่วจีน-อาเซียน” และศูนย์ Big Data ขึ้นในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง

นอกจากนี้ จีนกับหลายประเทศในอาเซียนมีการจัดตั้ง “ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Bilateral Technology Transfer Centers – CATTC) ร่วมกัน รวมถึงกับ สวทช. ของไทยด้วย การพัฒนาแพลตฟอร์มมาตรฐานทางเทคโนโลยีจีน-อาเซียน ตัวช่วยแปลภาษาในอาเซียน และการพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมและความร่วมมือทางเทคโนโลยีร่วมกัน

แผนการพัฒนาในปี 2562 รัฐบาลกว่างซีจะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ผลักดันการพัฒนา CAIH สนับสนุนให้ธุรกิจชั้นนำด้าน Big Data ออกไปลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาความร่วมมือการสื่อสารและสารสนเทศ อาทิ ศูนย์ข้อมูล สถานีรับสัญญาณดาวเทียมอ้างอิงถาวร (CORS) การสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกว่างซีมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรม Big Data โดยเฉพาะการสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Big Data หย่วนหยาง (远洋大数据产业园) ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง ศูนย์หัวเหวยคลาวด์และ Big Data จีน(ชินโจว)-อาเซียน และหัวเหว่ยดิจิทัลวัลเล่ย์ในเมืองชินโจว

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2562
รูปประกอบ www. pixabay.com

Big Dataเส้นทางสายไหมข้อมูลสารสนเทศChina-ASEAN Information Harbor/中国—东盟信息港ชุมทางสารสนเทศศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียนเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน