การติดตั้งฝาโดมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์(ที่ไทยมีหุ้น)ในเมืองฝางเฉิงก่าง

9 Jul 2018

      เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ได้มีการติดตั้งฝาโดมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 เมตรที่ใช้ครอบอาคารปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฟสสองในเมืองฝางเฉิงก่างของกว่างซี

      ข้อมูลทั่วไปของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เฟสสอง เมืองฝางเฉิงก่าง มีดังนี้

  •   โครงการตั้งอยู่ในอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) เมืองฝางเฉิงก่าง เขตฯ กว่างซีจ้วง
  •   ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 และ 4
  •   เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 24  ธันวาคม 2558
  •   ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ HuaLong No.1’ (华龙一号) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รุ่นที่ 3 ที่จีนคิดค้นขึ้นเอง และเป็นต้นแบบของโครงการสถานีผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Bradwell B ซึ่งจีนได้สัมปทานก่อสร้างในสหราชอาณาจักรฯ
  •   เป็นสัญญาร่วมลงทุน (Equity Joint Venture Contract) เพื่อจัดตั้งบริษัท Guangxi Fangchenggang Nuclear Power (II) (广西防城港核电二期项目公司) โดยมีบริษัท CGN บริษัท Guangxi Investment และบริษัท RATCH China Power (บริษัทย่อยของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 51 ร้อยละ 39 และร้อยละ 10 ตามลำดับ)

 

      ตามรายงาน การติดตั้งฝาโดมครอบอาคารปฏิกรณ์หมายเลข 3 มีความยากและมาตรฐานการทำงานสูง นายหลิว จวิน (Liu Jun/刘军) หัวหน้าวิศวกรโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างบริษัท China Construction Second Engineering Bureau (中建二局) ให้ข้อมูลว่า

  •   ฝาโดมประกอบขึ้นจากแผ่นเหล็ก 70 ชิ้น เชื่อมติดกัน โดมมีความสูงเกิน 13 เมตร  เส้นผ่าศูนย์กลาง 45 เมตร (เท่ากับสนามบาสเกตบอล 3.5 สนาม) น้ำหนัก 220 ตัน (น้ำหนักเท่ากับรถยนต์ 200 คัน)
  •   การติดตั้งต้องใช้เครนยกขึ้นที่ความสูง 60 กว่าเมตรเหนือตัวอาคารปฏิกรณ์
  •   การติดตั้งฝาโดมกับตัวอาคารสามารถคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 2 มิลลิเมตรเท่านั้น (หรือเท่ากับการเอาคมมีดสองด้ามประกบกัน)
  •   ปัจจัยแวดล้อมจากสภาพอากาศและแรงลมบริเวณรอบอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการยกฝาโดมของเครน



     
ขั้นตอนการสร้างฝาโดมมีมากกว่า 10 ขั้นตอน
นายหวัง หงซิง (Wang Hongxing/王红星) คนงานที่มีประสบการณ์ในงานตอกหมุดสิบกว่าปี กล่าวว่า ฝาโดมประกอบขึ้นจากแผ่นเหล็ก 70 แผ่นเชื่อมติดกันโดยไม่มีช่องว่าง การที่โครงสร้างฝาโดมเป็นทรงโค้ง ขณะที่เครื่องตัดแผ่นเหล็กมีข้อจำกัดที่ตัดเป็นเส้นตรงได้เท่านั้น จึงจำเป็นต้องวาด (drawing) ด้วยมือก่อนลงมือตัดแผ่นเหล็ก แต่เครื่องมือ(วงเวียน) ที่มีอยู่ไม่สามารถวาดแผ่นเหล็กฝาโดมที่มีขนาดใหญ่นี้ได้

      นายหวังฯ คนงานตอกหมุด เปรียบเทียบการทำงานว่า เหมือนให้คุณเอาวงเวียนที่สามารถวาดวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่สุดเพียง 2 เซนติเมตร มาใช้เพื่อวาดวงกลมที่มีขนาด 10 เซนติเมตร บนกระดาษนั่นเอง ดังนั้น ทีมของนายหวังฯ ต้องสร้างวงเวียนขนาดพิเศษขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

      สำหรับตัวอาคารปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้รับการออกแบบ 2 ชั้นเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสี นอกจากตัวครอบชั้นใน โครงสร้างด้านนอกเป็นคอนกรีตเสริมแรงอีกชั้น ตัวถังอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ใช้แผ่นเหล็กที่มีความหนา 6 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นแผ่นเดียวพื้นที่มากกว่า 1 หมื่นตารางเมตร (เท่ากับสนามฟุตบอลมาตรฐาน 1.5 สนาม)

      ทั้งนี้ แผ่นเหล็กต้องเชื่อมติดกันอย่างมิดชิด ห้ามมีรูอากาศ (แม้กระทั่งรูเท่าหัวเข็มก็ตาม) ดังนั้น คนงานเชื่อมจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบรับรองจากสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งชาติจีน (National Nuclear Safety Administration) เท่านั้น โดยประเทศจีนได้ก่อตั้งวิทยาลัยฝึกอบรมงานเชื่อมโลหะสำหรับนิวเคลียร์โดยเฉพาะ โดยช่างเชื่อมโลหะจะต้องเข้ารับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นเป็นเวลาเกือบครึ่งปีและผ่านการทดสอบแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นช่างเชื่อมสำหรับนิวเคลียร์ได้ ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี วิทยาลัยแห่งนี้ผลิตบุคลากรช่างเชื่อมโลหะสำหรับนิวเคลียร์ 317 คน เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโลหะของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Hualong No.1

      การทดสอบมาตรฐานงานเชื่อมตัวถังอาคารไม่เพียงแค่การตรวจสอบลักษณะภายนอกเท่านั้น วิศวกรเฉพาะด้านได้ใช้การเอ็กซ์เรย์ในกระบวนการทดสอบแบบไม่ทำลาย (NonDestructive Testing: NDT) ด้วยวิธีภาพถ่ายรังสี (Radiographic Testing) เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องของโครงสร้างอย่างเข้มงวด

      ขั้นตอนการติดตั้งฝาโดม ทีมก่อสร้างได้นำระบบเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) มาใช้จำลองขั้นตอนการติดตั้งฝาโดม ทำให้เห็นภาพกระบวนการยกฝาโดมเครื่องปฏิกรณ์ทั้งหมด สามารถนำมาวิเคราะห์สภาพความเสี่ยงจากปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม เพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้น และมีการฝึกซ้อมขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งฝาโดมมากกว่า 60 ครั้ง อาทิ การซ้อมยกแบบไม่มีฝาโดมและมีฝาโดม การซ้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน งานตอกหมุนและงานเชื่อมโลหะ

      BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองฝางเฉิงก่าง (เฟสแรก) ซึ่งประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 และ 2 สามารถทํางานด้วยความปลอดภัยแล้ว 1,000 วัน ตั้งแต่การติดตั้งบรรจุแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ การทดสอบ และการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยไม่มีเหตุการณ์ให้ต้องหยุดการทำงานของแท่งเชื้อเพลิงหรือหยุดเดินเครื่องอัตโนมัติแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีมาตรฐานชั้นนำระดับโลก

      ปัจจุบัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เฟสแรก) สามารถผลิตพลังงานสะอาดป้อนเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ได้ปีละ 1.5 หมื่นล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง และหากโครงการเฟสสองแล้วเสร็จ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1.65 หมื่นล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเปรียบได้กับการปลูกป่าเพิ่ม 4 หมื่นเฮกตาร์ ซึ่งมีส่วนช่วยประเทศในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของประเทศอีกด้วย

 

ลิงก์ข่าว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของกว่างซี (27 ก.พ. 2561)

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เฟสแรก) ของกว่างซีสร้างเสร็จสมบูรณ์ (22 ก.ค. 2559)

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองฝางเฉิงก่าง เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว (14 ม.ค. 2559)

RATCH ควัก 7.5 พันล้านบาท ร่วมทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในกว่างซี (29 ธ.ค. 2558)

 

จัดทำโดย นายชิว เจียเหว่ย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新华网) ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2561

             เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中国新华网) ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2561

ภาพประกอบ
http://images.haiwainet.cn/20180525/1527229987425241.jpg

RATCHโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองฝางเฉิงก่าง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน