กว่างซีล้ำ!! คิดค้นเทคโนโลยีสกัดก๊าซฮีเลียมจากอากาศ ค่าบริสุทธิ์ 99.9999%

29 Mar 2024

เมื่อพูดถึง “ก๊าซฮีเลียม” (Helium Gas) เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า มันคือ ก๊าซอัดลูกโป่ง ทุกคนคง ถึงบางอ้อ อย่างแน่นอน แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า … อันที่จริง “ก๊าซฮีเลียม” เป็นอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด

รู้จัก… ก๊าซฮีเลียม เป็นก๊าซหายาก ไร้สี ไร้กลิ่น ไม่เป็นพิษ ไม่ติดไฟ เบากว่าอากาศ และมีจุดเดือดต่ำที่สุดในโลก (-268.9 องศาเซลเซียส) เป็นก๊าซฮีเลียมบริสุทธิ์ที่มีความสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์และการแพทย์ (ตัวหล่อเย็นขดลวดเหนี่ยวนำแม่เหล็กสำหรับการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก หรือ MRI เครื่องเร่งอนุภาค และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์) การบินและอวกาศ (อัดแรงดันเชื้อเพลิงของจรวด เติมลมยางเครื่องบินและถุงลมนิรภัย) การสำรวจทางทะเลน้ำลึก รวมถึงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

“จีน” เป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ก๊าซฮีเลียมเป็นอันดับ 2 ของโลก ข้อมูลจากบริษัท LM Intelligas ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนบริโภคก๊าซฮีเลียมราว 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของนายจาง สั่วเจียง (Zhang Suojiang/张锁江) นักวิชาการทรงคุณวุฒิ ประจำสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences) ที่ระบุว่า จีนสามารถผลิตก๊าซฮีเลียมได้เองเพียงร้อยละ 5 ของปริมาณการบริโภคเท่านั้น

ปัจจุบัน การผลิตก๊าซฮีเลียมด้วย “การสกัดจากก๊าซธรรมชาติ” ถือเป็นวิธีเดียวในการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาหลักของการพัฒนาก๊าซฮีเลียมบริสุทธิ์ในประเทศจีน เป็นเรื่องของเทคโนโลยีการสกัดก๊าซฮีเลียมที่มีอยู่เบาบางในแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศจีน รวมถึงความผันผวนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า.. ข้อกังวลจากนโยบายกีดกันทางเทคโนโลยีของชาติตะวันตกที่มีต่อจีน เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้จีนต้อง ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง พลิกบทบาทจาก “ผู้บริโภคเทคโนโลยี” ไปเป็น “ผู้พัฒนาเทคโนโลยี” รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดก๊าซฮีเลียมบริสุทธิ์ด้วย (ความบริสุทธิ์ของก๊าซฮีเลียมตามมาตรฐานสากล แบ่งได้ 3 ระดับ คือ ระดับ 4N ≥99.99% ระดับ 5N ≥99.999% ระดับ 6N ≥99.9999%) เพื่อลดการพึ่งพาทรัพยากรจากต่างประเทศ

“เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ประสบความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต “ก๊าซฮีเลียมจากอากาศ” ที่มีความบริสุทธิ์ของก๊าซสูงถึง 99.9999% (ระดับ 6N) ซึ่งนับเป็น ปฐมบทใหม่ ของการผลิตก๊าซฮีเลียมในประเทศจีน โดยผลงานชิ้นโบว์แดงดังกล่าวเป็นของบริษัท Guangxi Liuzhou Steel Gas Co., Ltd. (广西柳钢气体有限责任公司) ในเครือ Liuzhou Steel Group (广西柳州钢铁集团) ที่เพิ่งผ่านการรับรองคุณภาพจาก China National Accreditation Service for Conformity Assessment หรือ CNAS [*] ในเดือนมีนาคม 2567

นายเย่ หมิ่น (Ye Min/叶敏) กรรมการบริหารบริษัท Guangxi Liuzhou Steel Gas Co., Ltd. เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้คิดค้นเทคโนโลยีการสกัดก๊าซโดยอาศัยคุณสมบัติจุดเดือดที่แตกต่างกัน โดยการกำจัดสิ่งเจือปนออกจากอากาศ (ก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจน) ให้เหลือเพียงก๊าซผสมระหว่างก๊าซนีออนและก๊าซฮีเลียม ก่อนจะแยกก๊าซสองชนิดนี้ออกจากกันให้เหลือเพียงก๊าซฮีเลียมที่มีระดับความบริสุทธิ์ 99.9999%

นอกจากก๊าซฮีเลียมแล้ว บริษัทฯ ยังสามารถผลิตก๊าซหายากชนิดอื่น เช่น ก๊าซคริปทอน (Krypton การผลิตหลอดเรืองแสง การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการรักษาทางการแพทย์) ก๊าซซีนอน (Xenon การผลิตหลอดเรืองแสง และคุณสมบัติเป็นยาสลบ) และก๊าซนีออน คาดว่า ในอนาคต บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตก๊าซหายากได้ปีละ 180,000 ลูกบาศก์เมตร

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน การลงทุนด้านดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่จะเป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จ (Foundation to Success) ของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีคุณภาพสูง คงจะหนีไม่พ้นการส่งเสริมแลกเปลี่ยนความร่วมมือและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) กับต่างประเทศ

บีไอซี เห็นว่า นวัตกรรมการผลิต “ก๊าซฮีเลียมจากอากาศ” มีความน่าสนใจตรงที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถริเริ่มกลไกการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือต่อยอดไปสู่ความร่วมมือเชิงพาณิชย์ ร่วมกับบริษัท Guangxi Liuzhou Steel Gas Co., Ltd. (广西柳钢气体有限责任公司) ได้ โดยเฉพาะในสาขาการพัฒนาที่ไทยกับจีน (กว่างซี) มีศักยภาพและมีความสนใจร่วมกัน อาทิ เศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy ซึ่งเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่หลายประเทศกําลังจับตามองและเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศไทย


[*] China National Accreditation Service for Conformity Assessment (中国合格评定认可委员会) เป็นองค์กรรัฐที่ทำหน้าที่ประเมินและให้การรับรองแก่หน่วยรับรอง (Certification Bodies) หน่วยตรวจสอบและรับรอง (Validation and Verification Bodies) ห้องปฏิบัติการ (Laboratories) และหน่วยตรวจสอบ (Inspection Bodies) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายใต้ข้อตกลงการยอมรับร่วมกันขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรับรองระบบงาน เช่น องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (International Accreditation Forum: IAF) และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ(International Laboratory Accreditation Cooperation: ILAC)

จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (新华网-广西频道) วันที่ 20 มีนาคม 2567
เว็บไซต์ www.cinn.cn (中国工业新闻网) วันที่ 10 มีนาคม 2567
เว็บไซต์ www.igchina-expo.com (中国国际气体技术、设备与应用展览会) วันที่ 12 กรกฎาคม 2566
นิตยสาร Outlook Weekly (瞭望周刊) ฉบับที่ 14 ประจำปี 2566
ภาพประกอบ http://liuzhousteel.com

ก๊าซฮีเลียHelium Gas

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน