Third Party E-commerce ทางเลือกใหม่ ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรของมณฑลส่านซี

16 Nov 2016

จากสถิติของศูนย์วิจัยข้อมูล E-commerce ประเทศจีน พบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2016 การซื้อขายผ่าน E-commerce ในประเทศจีนมีมากถึง 10.5 ล้านล้านหยวน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 37.6[1] ในส่วนของมณฑลส่านซีการซื้อขายผ่าน E-commerce มีมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20.14 จำนวนร้านค้าออนไลน์ในมณฑลส่านซีเพิ่มขึ้นมากถึง 150,000 ร้าน เป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าเกษตรถึง 12,900 ร้าน มูลค่าการซื้อขายกว่า 621 ล้านหยวน[2]

รูปแบบการจำหน่ายสินค้าเกษตรของจีนบนแพลตฟอร์ม E-commerce ในปัจจุบัน

ในปัจจุบันรูปแบบการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรทั้งแบบ B2B และ B2C ผ่านช่องทาง E-commerce ที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศจีนมีด้วยกัน 3 รูปแบบคือ[3]

รูปแบบแรกคือผู้ผลิตจัดตั้งหน้าร้านออนไลน์เอง ส่วนมากเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ทำการเพาะปลูกและแปรรูปเอง เป็นการจำหน่ายสินค้าโดยตรงสู่ผู้บริโภค และเป็นการสร้างแบรนด์สินค้าและประชาสัมพันธ์บริษัทไปในตัว ด้วย แต่เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการโฆษณาสูง จึงทำให้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

รูปแบบที่สองคือผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าผ่าน E-commerce Outsourcing รูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ โดยใช้วิธีว่าจ้างบริษัทออกแบบหน้าร้าน จำหน่ายสินค้า โฆษณา และการให้บริการหลังการขาย  ซึ่งรูปแบบนี้มีข้อดีคือจะทำให้สินค้าเข้าถึงตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ลดความเสี่ยง แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง

รูปแบบที่สามซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด โดยผู้ผลิตเปิดร้านค้าออนไลน์เองผ่าน The Third Party Online Shopping Platform มีทั้งการซื้อขายผ่าน B2B และ B2C ผ่านเว็ปไซต์ยอดนิยมอย่างอาลีบาบา อเมซอน  เถาเปา ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีการลงทุนน้อย ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าโดยตรงกับลูกค้า และเป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุดเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านออนไลน์ต้นทุนค่อนข้างต่ำ และมีระบบการจ่ายเงินค่อนข้างสะดวก

The Third Party Online อีกหนึ่งช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรฮิตของมณฑลส่านซี

ปัจจุบันภายใต้แนวคิด Internet + Agricultural ของภาครัฐที่สนับสนุนการนำเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในการจำหน่ายสินค้าเกษตร[4] ส่งผลให้การจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์ ผ่าน The Third Party Online Shopping Platform มีปริมาณสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจเช่น การจำหน่ายแอปเปิลจากเมืองลั่วชวน ปัจจุบันร้านออนไลน์ในมณฑลส่านซีจำหน่ายแอปเปิลส่งตรงถึงผู้บริโภคมากถึง 1,200 ราย สร้างรายได้มากถึง 9 ล้านหยวนต่อปี การจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์ของส่านซีส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า (Pre Sale) โดยลูกค้าชำระเงินล่วงหน้า เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะจัดส่งให้แก่ผู้บริโภค ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูล ผู้บริโภคในประเทศจีนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจสินค้าสินค้าเกษตรแบบออแกนิกส์และมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น  การจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ทำให้สินค้าเข้าถึงตรงกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

“GUOZIWEI”  ร้านสินค้าเกษตรออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จในเมืองซีอานมณฑลส่านซี

GUOZIWEI ร้านสินค้าเกษตรออนไลน์ที่ครอบคลุมส่วนแบ่งการตลาดร้านสินค้าเกษตรออนไลน์ในซีอานถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งแบบจัดตั้งหน้าร้านออนไลน์เอง และจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่าน The Third Party Online Shopping Platform บนเว็บไซต์เถาเป่า จำหน่ายสินค้าเกษตรประเภท ผลไม้ ผัก อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ทั้งแบบนำเข้าและสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศ[5] กลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีทั้งแบบบุคคล ครอบครัว ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าและชำระค่าสินค้าผ่านหน้าร้านออนไลน์ได้ทันทีหรือสามารถจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้าแล้ว ทางร้านมีการรับประกันการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคภายใน 30 ชั่วโมง และมีการรับประกันหากสินค้ามีปัญหาสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 10 ชั่วโมง รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอาทิ การสั่งจองสินค้าล่วงหน้าและจัดส่งตามเวลาที่กำหนด มีทั้งแบบจัดส่งทุกวันหรือทุกสัปดาห์  ซึ่งได้รับการตอบรับดีเกินคาด จากลูกค้าทั้งแบบครอบครัวและบริษัท

E-commerce ในพื้นที่ส่านซีมาแรงอีกหนึ่งโอกาสสำหรับสินค้าเกษตรไทย

ในปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศจีน นิยมซื้อสินค้าเกษตรผ่านร้านค้าออนไลน์มากขึ้น และร้านค้าออนไลน์ที่ผู้ขายจดทะเบียนในพื้นที่ส่านซีเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์ส่วนมากยังต้องการความหลากหลายของสินค้าในหน้าร้าน อาทิ เช่นสินค้าเกษตรที่นำเข้าและสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผลไม้สดจากไทยอย่างทุเรียน มังคุค และสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น เนื้อทุเรียนอบกรอบ ผลไม้อบแห้ง ท้อฟฟี่ทุเรียน ซึ่งเป็นขายดีเป็นอันดับต้นๆ ของร้านค้าออนไลน์ในประเทศจีน

ทั้งนี้คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า การจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านช่องทาง E-commerce ในพื้นที่มณฑลส่านซีมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น มาจากปัจจัยหนุนสำคัญได้แก่ นโยบายของรัฐบาลจีนที่ผลักดันให้มีการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านช่องทาง E-commerce  การพัฒนาขายเครือข่ายโทรคมนาคม ระบบโลจิสติกส์ การเข้ามาดูแลการซื้อขายออนไลน์ของรัฐบาลจีน นับว่าเป็นนโยบายที่ดีเนื่องจากการซื้อขายวิธีนี้สามารถลดต้นทุน ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา และสถานที่ในการซื้อขาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ใหม่และสด ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรในอนาคต

อ้างอิง

1. http://sxdofcom.gov.cn/newstyle/pub_newsshow.asp?id=29033425&chid=100259

2. http://news.163.com/15/1107/00/B7PE1GV100014AEE.html

3. http://www.cnki.com.cn/Article/CJFDTotal-AHNY201123225.htm

4. http://www.weste.net/2015/04-09/102608.html

5. http://xian.qq.com/a/20141125/038993.htm

 

 

 

 

ส่านซีE-commerceThird Partyสินค้าเกษตร

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน