โอกาสสินค้าไทย “กว่างโจว” เป็นเมืองสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบบูรณาการ

12 Jan 2016

สำนักข่าวประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จีน จัดงานแถลงข่าวโครงการเขตสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce)แบบบูรณาการ ของจีน โดยมี 12 เมืองของจีนได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้แก่ กว่างโจว เซินเจิ้น เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง เหอเฝย เจิ้งโจว เฉิงตู ต้าเหลียน หลิงปอ ชิงต่าวและซูโจว ซึ่งโครงการนี้ เป็นช่วงที่ 2 หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งเขตสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ที่เมืองหางโจว ในปี 2558 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

โดยคณะกรรมการประจำสำนักงานพาณิชย์กว่างโจวได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการเขตสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce)แบบบูรณาการ ช่วงที่ 2 นี้จะเป็นโครงการที่เร่งพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระดับสูงของจีน มีจุดประสงค์ที่จะมีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกับกลุ่มประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก

โครงการเขตสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce)แบบบูรณาการนี้ เป็นโครงการที่ดำเนินอย่างมีคุณภาพ อาศัยนวัตกรรมทางสถาบัน การจัดการและการบริการ ส่งเสริมเสรีภาพทางการค้า อำนวยความสะดวกและมีการพัฒนาอย่างมีบรรทัดฐาน ซึ่งแน่นอนว่ามีความแตกต่างกับเมืองสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอื่น ๆ โดยประการแรกโครงการฯ แบบบูรณาการนี้ มีขอบเขตครอบคลุมกว้างไกล นอกเหนือจากสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่าง ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็กแล้ว ยังสนับสนุนสินค้าบริโภคสดใหม่ สินค้าเพื่อสุขภาพ ยาและเครื่องสำอาง ผ่านการจัดการควบคุมดูแลที่สะดวก มีระบบการตรวจและกักกัน รวมถึงพิธีศุลกากรที่มีประสิทธิภาพและมีคลังสินค้าทัณฑ์บนอย่างเพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของนครกว่างโจว เพื่ออำนวยความสะดวกและมุ่งไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างพิธีศุลกากรของสินค้าอาหารสด จะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

คณะกรรมการประจำสำนักงานพาณิชย์กว่างโจวยังได้กล่าวถึงภารกิจ 7 ประการที่จะต้องดำเนินการเพื่อบรรลุไปสู่เป้าหมายของโครงการนี้ ได้แก่

1.    สร้างนวัตกรรมการจัดการที่มีคุณภาพ โดยใช้อินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง ลดขั้นตอนการทำพิธีศุลกากรและยกระดับขีดความสามารถของท่าเรือต่าง ๆ

2.    ก่อตั้งเขตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เร่งดำเนินโครงการท่าเรือปลอดภาษีหนานซา เขตปลอดภาษีบูรณาการสนามบินไป๋หยุน เขตปลอดภาษีกว่างโจวและเขตแปรรูปสินค้าเพื่อส่งออกและนำเข้า

3.    ยกระดับพื้นที่การให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนสาธารณะ ดำเนินโครงการ “ยื่นครั้งเดียว” “ตรวจครั้งเดียว” และ “ปล่อยครั้งเดียว” รวมถึง “โครงการหน้าต่างเดียว” ของศุลกากร  

4.    สร้างระบบส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน มุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการค้าแบบ B2B (Business to Business)

5.    พัฒนาระบบการเงินออนไลน์และออฟไลน์ เสริมสร้างความแข็งแกร่งและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค

6.    ส่งเสริมระบบการปฏิรูปการค้า

7.    หาแนวทางการลดต้นทุนทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการตลาดต่างประเทศ

ผลประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของนครกว่างโจวมีแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็วและมีคุณภาพ ในปี 2557 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมีมูลค่ากว่า 1,310 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของจีน สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของจีน ในปี 2558 ผลประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน มีมูลค่ากว่า 6,230 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 9 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยหวังว่ายอดรวมปี 2558 จะมากถึง 7,000 ล้านหยวน

โอกาสของภาคธุรกิจไทยภายใต้โครงการนี้ยังมีเสมอ โครงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบบูรณาการของกว่างโจว ได้มีการกำหนดขอบเขตการค้าที่กวางขวางและชัดเจน ที่มุ่งเน้นการค้ากับกลุ่มประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่มีสินค้าหลากหลายประเภทได้รับความนิยมในมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภค จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการนำสินค้าไทยในการเข้ามาสู่ตลาดของมณฑลกวางตุ้งง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น  

ศุลกากรเมืองสาธิตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนกว่างโจว

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน