พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน = ราคาถูก + ของแท้ เป็นไปได้จริงหรือ ?

18 Jan 2016

มูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของจีน (Cross-Border E-Commerce) ในครึ่งปีแรกของปี 2558 มีมูลค่ามากถึง 14,500 ล้านหยวน ในขณะเดียวกันเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าอย่าง www.amazon.cn ยืนยันว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม ปี 2558 ชาวจีนได้ซื้อสินค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนผ่าน “ร้านค้าทั่วโลก (Global Store)” จากในเว็บไซต์ คิดเป็นมูลค่ามากกว่าการซื้อสินค้าต่างประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมารวมกัน  พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากอดีตเช่นนี้ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าจากประเทศแห่ง “การขายสินค้าไปทั่วโลก” เป็น “การซื้อสินค้าจากทั่วโลก” แทน

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของจีน (Cross-Border E-Commerce) ก่อนที่จะมาเป็นวิธีซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ได้รับความนิยม เนื่องจากความสะดวกและราคาที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคนั้น ชาวจีนได้รู้จักวิธีซื้อสินค้าต่างประเทศหลากหลายวิธีก่อนหน้านี้ ได้แก่

1.    การซื้อสินค้าผ่านการหิ้วสินค้าหนีภาษี ถือเป็นช่องทางที่ไม่ถูกต้อง ไร้ซึ่งการตรวจสอบซึ่งคุณภาพสินค้าและการจัดเก็บภาษีที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ โดยปกติแล้วผู้ที่รับหิ้วสินค้าหนีภาษีจะแจ้งยังศุลกากรว่าเป็นสินค้าเพื่อการใช้ส่วนบุคคลหรือแจ้งจำนวนไม่ตรงต่อความเป็นจริง หรือไม่แจ้งเลย อีกทั้งการซื้อสินค้าหนีภาษีนั้น ไม่มีใบกำกับภาษีทำให้ไม่สามารถตรวจสอบสินค้าได้ว่า เป็นสินค้าจริงหรือไม่

2.    การซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ต่างประเทศโดยตรง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมและสามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า เป็นสินค้าที่มีคุณภาพจริง แต่ทั้งนี้การซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศยังมีความยุ่งยากอยู่ เนื่องจากมีขั้นตอนที่มากมายและซับซ้อน เช่น การลงทะเบียนผู้ใช้งาน เลือกบริษัทขนส่งสินค้า และพิธีการศุลกากร ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าสินค้าจะถึงมือผู้บริโภค

ดังนั้นในปี 2557 เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยอดนิยมของจีนอย่าง Tmall.hk (Tmall International) , Jumei.com และ Mia.com ก็เปิดบริการขายสินค้าต่างประเทศโดยผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีความสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากวิธีนี้เป็นการนำเข้าสินค้าต่างประเทศจำนวนมาก และนำมาเก็บไว้ในเขตพื้นที่คลังสินค้าทัณฑ์บน เมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อ สินค้าก็จะถูกนำออกมาจากคลังฯ ภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อทำการจัดส่ง

ราคาสินค้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกการซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ยกตัวอย่างนมผงยี่ห้อ Aptamil ห้างสรรพสินค้าทั่วไปขายในราคา 300 หยวน แต่หากซื้อผ่านเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน สามารถซื้อได้ในราคา 200 หยวน เท่านั้น ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคานั้นมีอยู่ 2 ประเด็นคือ

1.    ต้นทุนการขนส่งสินค้าต่ำ เนื่องจากซื้อปริมาณมาก เปรียบเทียบการซื้อนมผงจากออสเตรเลียส่งไปยังเมืองหางโจว มีต้นทุนการขนส่งเพียงประมาณ 20 หยวน แต่หากซื้อสินค้าที่นำเข้าผ่านฮ่องกงส่งต่อมายังเซินเจิ้นอีกต่อหนึ่งนั้น มีต้นทุนการขนส่งอยู่ที่ประมาณ 35 หยวน

2.    เสียภาษีน้อยกว่า สินค้าที่นำเข้าโดยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีหลายรายการ อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีผู้บริโภค โดยเสียเฉพาะ ภาษีพัสดุไปรษณีย์ ซึ่งหากมีมูลค่าน้อยกว่า 50 หยวน จะได้รับการละเว้นเช่นกัน

นอกจากความได้เปรียบทางด้านราคาแล้ว พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนยังให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยสินค้าที่ผ่านการนำเข้าอย่างถูกต้องจะมีรหัส QR ที่ผู้บริโภค สามารถแสกนและแสดงข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคเห็น อาทิ ชื่อสินค้า แหล่งผลิต ผู้นำเข้า ท่าเรือที่นำเข้า รหัสสินค้า คลังเก็บสินค้าและผู้จัดส่งสินค้า อีกทั้งยังมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่เข้มงวด เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าที่ซื้อเป็นสินค้าที่มีราคาไม่แพงแต่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

สินค้าไทยเป็นหนึ่งในสินค้าจากหลากหลายประเทศที่ได้รับความนิยม เห็นได้จากที่เว็บไซต์ Tmall International ได้เปิดแผนกสินค้าไทยขึ้นโดยเฉพาะซึ่งมีทั้งสินค้าสำหรับอุปโภคบริโภค รวมถึงบริการด้านการท่องเที่ยว นับว่าเป็นโอกาสและสิ่งยืนยันที่ดียิ่งสำหรับสินค้าไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคจีน ซึ่งการรักษาไว้ซึ่งคุณภาพสินค้าก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สินค้าไทยเป็นที่นิยมของชาวจีนไปได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น 

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน