กุ้ยโจวตั้งเป้าหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

29 Jan 2019

เมื่อไม่นานมานี้ นครกุ้ยหยางได้ประกาศ “แผนปฏิบัติงานพื้นที่ทดลองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (นครกุ้ยหยาง) จีน” เพื่อเดินหน้าการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของนครกุ้ยหยาง หลังจากเป็นสมาชิกใหม่ในบัญชีรายชื่อเมืองที่รัฐบาลกลางอนุมัติให้จัดตั้งเป็นพื้นที่ทดลองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce: CBEC) จาก 35 เมืองของจีน เมื่อเดือน ก.ค. 2561

แผนฯ ดังกล่าวระบุว่า จะอาศัยข้อได้เปรียบจากการที่กุ้ยหยางเป็นเขตนำร่อง Big Data ระดับประเทศแห่งแรกของจีน (National Big Data Pilot Zone) และระบบ “single window” เพื่อสร้างระบบบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่อำนวยความสะดวกให้กับการค้าข้ามพรมแดน โดยจะใช้เวลา 3-5 ปีในการทดลองและปฏิรูป เพื่อสร้างศูนย์บริการด้านต่าง ๆ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของนครกุ้ยหยาง ดังนี้ 1) เขตสินค้าทัณฑ์บนนครกุ้ยหยาง จะสร้างศูนย์บริการ Big Data พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนและศูนย์ประยุกต์ใช้ Big Data สำหรับศุลกากร และ ศูนย์นวัตกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนและศูนย์กระจายโลจิสติกส์พาณิชย์อิเล็กทรอนิสก์ข้ามพรมแดน 2) เขตกวนซานหู (เขตเมืองใหม่ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของตัวเมืองกุ้ยหยาง) จะสร้างตำบลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนและเขตบริการบุคลากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน 3) เขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานซวงหลง จะสร้างเขตเศรษฐกิจท่าเรือพาณิชย์ เพื่อให้เป็นศูนย์พัสดุและไปรษณีย์ระหว่างประเทศ 4) เขตสินค้าทัณฑ์บนกุ้ยอาน จะสร้างศูนย์แปรรูปและกระจายสินค้าข้ามพรมแดน และเขตฝึกอบรมบุคลากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ทั้งนี้ “แผนปฏิบัติงานพื้นที่ทดลองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (นครกุ้ยหยาง) จีน” มีเป้าหมาย 2 ระยะ คือ

1) ภายในปี 2563 จะบ่มเพาะและดึงดูดบริษัทชั้นนำด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนเข้ามาในกุ้ยหยางจำนวน 10 บริษัท การซื้อขายด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นิคมอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนกลายเป็นแหล่งรวมของบริษัทการค้าระหว่างประเทศกว่า 200 บริษัท และบริษัทส่งออกประยุกต์ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30

2) ภายในปี 2565 การซื้อขายด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมีมูลค่ามากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นิคมอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมีบริษัทการค้าระหว่างประเทศเข้าไปลงทุนกว่า 300 บริษัท และบริษัทส่งออกประยุกต์ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40

นอกจากนี้ การคลังนครกุ้ยหยางจะสนับสนุนงบประมาณปีละ 50 ล้านหยวน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเขตทดลองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนนครกุ้ยหยางเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

http://www.gz.xinhuanet.com/2019-01/14/c_1123984923.htm

อีคอมเมิร์ซ กุ้ยหยาง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน